ชำแหละ!! ‘ครูหื่น’ ข่มขืนใต้วงจร ‘อำนาจนิยม’ ตรรกะวิบัติ ‘เด็กเนรคุณ’ วัฒนธรรมโทษเหยื่อ

ชำแหละ!! ‘ครูหื่น’ ข่มขืนใต้วงจร ‘อำนาจนิยม’ ตรรกะวิบัติ ‘เด็กเนรคุณ’ วัฒนธรรมโทษเหยื่อ

ครูหื่น – เขย่าวงการการศึกษาไทยสะเทือนไปทั้งประเทศ กับกรณี “5 ครูหื่น 2 รุ่นพี่” ร่วมกันกระทำอนาจาร รุมโทรมนักเรียนหญิงชั้น ม.2 และ ม.4 มานานกว่า 1 ปี พร้อมถ่ายคลิปเก็บไว้ข่มขู่จนเด็กไม่กล้าบอกใคร กระทั่งยายของเด็กหญิงชั้น ม.2 รู้ความจริงจึงพาเด็กเข้าแจ้งความ

เป็นความ “อัปยศ” ครั้งใหญ่อีกครั้งของวงการแม่พิมพ์ไทย

และยิ่ง “ตรรกะวิบัติ” เข้าไปใหญ่ เมื่อมี “เพื่อนครู” ออกมาให้ “กำลังใจ” ครูหื่นที่กระทำย่ำยีนักเรียนอย่างไร้จิตสำนึก

เท่านั้นยังไม่พอบรรดา “ครูกองเชียร์” ยังออกมาโพสต์ที่ทำเอาสังคมต้อง “อึ้ง” กันไปตามๆ กันว่า

Advertisement

 “เด็กสมยอมหรือเปล่า ถ้าใครไม่อยากให้ลูกหลานโดนครูข่มขืนก็สอนลูกตัวเองอยู่ที่บ้าน อย่าส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน เพราะครูก็มีชีวิตจิตใจ เงี่ยนเป็น ไม่ใช่พระอิฐพระปูน ที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไร เลิกด่าเขาได้แล้ว ครูก็มีครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเหมือนกัน ถ้าเขาติดคุกจริงๆ แล้วใครจะดูแลครอบครัวเขาละ อย่าด่าครูเขาแค่ความสะใจ ส่วนเด็กเนรคุณที่ออกมาแฉครูขอบอกเลยว่าพวกคุณไม่มีวันเจริญ”

เป็นทัศนคติที่สังคมออกมาตั้งคำถาม “คิดแบบนี้ ควรเป็นครูต่อไปหรือไม่”

โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ “ไม่ปลอดภัย” สำหรับเด็กอีกต่อไป และครูที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่ 2 ของเด็ก ก็กลายเป็นผู้ที่ทำร้ายเด็กได้อย่างเลือดเย็น

Advertisement

 

โรงเรียนไม่ใช่ซ่อง

“โรงเรียนไม่ใช่ซ่อง คุณคือครู เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมาย หากคุณรู้ว่าเด็กเดินหลงทาง ต้องช่วยเขาออกมาจากเส้นทางสายมืดนั้น เด็กยิ่งมืด ครูยิ่งต้องสว่าง ครูจะเล่นกับด้านมืดของเด็กไม่ได้โดยเด็ดขาด ต่อให้เด็กหลงทางสู่การขายบริการทางเพศ หน้าที่ครูคือ ต้องดึงเด็กออกจากมุมมืดไม่ใช่ทำร้ายเด็ก หรืออาศัยอำนาจที่เหนือกว่าหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ครูต้องมีสำนึกมากกว่าคนสอนหนังสือ” เสียงของ ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน ที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว 

“การละเมิดสิทธิเด็กในสถานศึกษา มีตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า มันบอกว่า เด็กๆ ไม่ปลอดภัยในโรงเรียนแห่งนั้น มันไม่ใช่แค่การปฏิรูปการเรียนการสอน แต่ต้องปฏิรูปจิตวิญญาณของคนเป็นครูด้วย กระทรวงศึกษาธิการต้องสังคายนาครั้งใหญ่ เราเชื่อว่าครูดีมีเยอะในโรงเรียน แต่ทำอย่างไรให้ครูดีเหล่านั้นกล้าหาญที่จะกระโดดออกมาปกป้องเด็กๆ ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกคนคิดไปหมดเลยว่า ในเมื่อเด็กขายบริการ ก็ไม่แปลกที่ครูจะซื้อบริการ ซึ่งจริงๆ มันแปลก ไม่แปลกได้อย่างไร วิธีคิดนี้ต้องแก้ที่ผู้ใหญ่ เพราะต่อให้เด็กขายบริการทางเพศ หน้าที่ของเราคือ ต้องดึงเด็กออกจากมุมมืดนั้นให้ได้ ไม่ใช่ทำร้ายเด็ก”

“ในฐานะครูไม่ใช่พ่อเล้า ไม่ใช่คนใช้บริการ เราต้องดึงเด็กออกมา มีกองทุน แหล่งทุนจำนวนมากที่จะช่วยเด็กลำบากยากจน ถ้าครูเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่ใช้เงินซื้อบริการทางเพศเด็ก อย่างนั้นคือ คุณแค่เป็นคนสอนหนังสือ ไม่ใช่เป็นครู”

ไม่เพียงส่งเสียงสู่สังคม ป้ามล พร้อมเจ้าหน้าที่ มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และองค์กรสตรี ยังยื่นมือเข้าช่วยเหลือนักเรียนทั้งสองคน โดยเข้าพบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้กระทรวงนำผู้เสียหายและครอบครัวเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ เสริมพลังเพื่อให้ผู้เสียหายมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และได้เข้าถึงการเยียวยาจากกองทุนยุติธรรม

ป้ามล-ทิชา ณ นคร
ป้ามล-ทิชา ณ นคร

ปัญหาเชิงโครงสร้าง’อำนาจนิยม’

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในรอบ 4 ปี (พ.ศ.2556-2560) พบว่า มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 ราย ในจำนวนนี้เป็นครูบุคลากรทางการศึกษา 53 ราย นอกจากนี้มูลนิธิยังได้เก็บข้อมูลปี 2560 จากข่าวหนังสือพิมพ์ พบว่ามีข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี กว่า 42 ข่าว อายุ 11-20 ปี 145 ข่าว ในจำนวนนี้มี 17 ข่าว ที่ก่อเหตุในโรงเรียน ส่วนอาชีพครูที่เป็นผู้กระทำมี 13 ข่าว

“เรื่องนี้อยู่ในที่มืด ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีอะไรดีขึ้น ที่เป็นอย่างนี้เพราะ ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง 1.เกิดจากระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษา เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจเหนือ กำหนด ออกคำสั่ง ใช้อำนาจบังคับหรือหลอกล่อ 2.ระบบอุปถัมภ์ ต่างตอบแทน ครูมักจะช่วยเหลือกัน อีกทั้งครูเป็นผู้ที่เคารพนับถือจากคนในชุมชน มีความสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นักการเมือง ตำรวจ”

ซึ่งอำนาจนิยมนี้ ยังซ้อนด้วยระบบคิด “ชายเป็นใหญ่”

จะเด็จขยายความว่า 3.ระบบคิดชายเป็นใหญ่ ถูกปลูกฝังจนขาดความยับยั้งชั่งใจ อีกทั้งมาพร้อมกับค่านิยม “กินเหล้า เคล้านารี” 4.มายาคติ กล่าวโทษผู้ถูกกระทำ ตีตรา เช่น เป็นเด็กเกเร แต่งตัวโป๊ ทำตัวไม่เหมาะสม ต้องการเงิน และ 5.กระบวนการยุติธรรม เมื่อเกิดเหตุ มักจะถูกไกล่เกลี่ยยอมความ อีกทั้งทัศนคติผู้ปฏิบัติงาน ยังขาดความเข้าใจประเด็นทางเพศ และขาดความละเอียดอ่อน ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าถูกกระทำซ้ำผ่านกระบวนการทางกฎหมาย” จะเด็จอธิบาย

 

หรือสังคมไทยต้องการเด็กเชื่อง?

ฟาก ป้ามลกล่าวอีกว่า เมื่อมีระบบอำนาจนิยม ครูใช้อำนาจแบบนี้ ก็จะเกิด “เด็กที่เชื่องมาก” เพราะกลัวครู

“แต่ถ้าเด็กถูกเอ็มพาวเวอร์ว่า สิทธิบางอย่างเป็นของเขา เมื่อเด็กคิดเก่ง จะไม่มีใครคนไหนมาบังคับเด็กได้ แต่ตอนนี้ แค่ครูขู่อะไรนิดๆ หน่อยๆ เด็กก็กลัวแล้ว”

จะเด็จ เชาวน์วิไล
จะเด็จ เชาวน์วิไล

มาถึงตรงนี้ ป้ามลยกตัวอย่างที่บ้านกาญจนาภิเษกว่า ได้นำเรื่องนี้ไปวิเคราะห์กับเด็กๆ ที่ก้าวพลาดในบ้าน ซึ่งเด็กๆ ต่างแสดงความเห็นตรงกันว่า โครงสร้างระบบการศึกษาไทยเป็นโครงสร้างที่ผู้ใหญ่มีอำนาจมากเกินไป และครูไม่ควรจะทำแบบนี้ต่อเด็ก ทั้งครูที่ข่มขืนและครูกองเชียร์

“ที่บ้านกาญจนาภิเษกเราสอนให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนความคิดอย่างอิสระ  ซึ่งเมื่อเราสอนให้เด็กได้คิดบ่อยๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง คิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง เด็กก็จะมีความคิดเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งนี่คือหัวใจของการศึกษา แต่กับการเรียนการสอนในประเทศไทย ก็ไม่รู้ว่า ลึกๆ แล้ว อยากเห็นเด็กเชื่อง หรือประเทศนี้ต้องการให้ประชาชนเชื่อง”

 

วัฒนธรรมทางเพศ’ผู้ชาย’อิสระกว่า’หญิง’

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะเพื่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเด็กเจอครูเลวๆ แต่กรณีของความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในโรงเรียน จริงๆ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเป็นปัญหาที่เกิดเหตุขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างการเก็บบันทึกสถิติการละเมิดและความรุนแรงทางเพศในเด็กที่ปรากฏตามข่าว ก็เป็นเพียงช่วง 6-7 ปี มานี้ในความเป็นจริงการที่นักเรียน หรือนักศึกษา ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยบุคลากรทางการศึกษาภายในสถาบันการศึกษานั้นมีมานานแล้ว ภายใต้การรับรู้ของสังคมไทย ส่วนในภาพเชิงสถิติทั้งหมดก็ไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีจำนวนมากแค่ไหน จะรู้เฉพาะเมื่อมีการนำเสนอข่าว ซึ่งก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวเพราะมีการไกล่เกลี่ย เช่น ข่มขืนแล้วก็จ่ายเงินเพื่อจบคดี ฉะนั้นตัวเลขสถิติที่เก็บได้จึงน้อยกว่าความเป็นจริง

ทั้งนี้ ในปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว ยังเชื่อมโยงไปถึง “วัฒนธรรมเรื่องเพศในสังคมไทย” ที่ผู้ชายจะมีอิสระทางเพศมากกว่าผู้หญิง

“มีชุดความคิดที่ว่าผู้ชายต้องมีประสบการณ์ทางเพศที่จะได้มาด้วยวิธีใดก็ได้ ทั้งเป็นคู่รักกัน ใช้ความรุนแรงก็ได้ หรือซื้อเอาก็ได้ รวมไปถึงการไปมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกการสมรส มีกิ๊กมีน้อยก็ได้ กับเรื่องนี้สังคมก็ค่อนข้างที่จะอะลุ่มอล่วยให้ แต่ในขณะเดียวสังคมไทยกลับควบคุมเสรีภาพทางเพศของผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กหญิง ที่ได้รับการสอนให้รักนวลสงวนตัว หากมีพฤติกรรมที่มองว่าออกนอกลู่นอกทางก็จะมีคำเรียกว่า เด็กแรด เด็กใจแตก ซึ่งคำเหล่านี้ใช้สำหรับเด็กผู้หญิง ไม่เคยถูกใช้กับเด็กผู้ชาย”

นอกจากนี้ยังมี “วัฒนธรรมการโทษเหยื่อ” ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

“เมื่อมีเหตุความรุนแรงทางเพศ เช่นว่า เด็กหาเรื่องเอง เด็กใจแตก อยากจะได้เงินหรือเปล่า รวมไปถึงโทษเด็กว่า สร้างความเสื่อมเสียให้ชุมชน และโรงเรียน แม้จะมีข้อมูลชัดเจนว่าคือการข่มขืน ก็ยังจะเกิดการตั้งคำถามว่า ออกบ้านทำไมในยามค่ำคืน เป็นต้น”

“ซึ่งนับว่าเป็น ตรรกะวิบัติ ที่สังคมจะมาลงโทษเหยื่อ ทั้งที่มีข้อมูลชัดเจนว่า เป็นการข่มขืน ก็จะมีการตั้งคำถามอีกว่า ออกไปทำไมมือๆ ค่ำๆ ไปบ้านพักครูทำไม หรือเด็กเนรคุณครู”

“ซึ่งนี่คือ อำนาจในทางวัฒนธรรม เพราะครูคือผู้มีพระคุณ สังคมไทยมีวันครู มีวันไหว้ครู และต้องกราบครู สังคมไม่นับถือครูจากความรู้ความสามารถในการสอน และการประพฤติปฏิบัติของครู สังคมไม่ให้ความสำคัญตรงนั้น เมื่อไหร่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครูแล้ว ครูคือผู้มีพระคุณ ซึ่งไม่เพียงแต่กับนักเรียน แต่กับผู้ปกครองและคนในชุมชนด้วย โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ หรือในต่างจังหวัดที่คนในชุมชนมีอำนาจน้อยกว่า ก็จะให้ความเคารพนับถือครูมาก”

ฉะนั้นในหลายกรณีที่เด็กออกมาเปิดเผยความจริง อย่างในกรณีที่มุกดาหาร จึงมีหลายส่วนที่กล่าวโทษว่า “เด็กเนรคุณ”

จุดนี้คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่ ทำให้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเด็กใช้เวลาร่วมกับครูมาก เวลา 1 ใน 3 ของแต่ละวัน เด็กใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียน ประกอบกับอำนาจทางวัฒนธรรมนี้ รวมถึงคำว่า “ต้องเชื่อฟังครู” ทำให้เด็กมีโอกาสเยอะมากที่จะถูกครูใช้อำนาจในทางที่ผิด

วราภรณ์ แช่มสนิท
วราภรณ์ แช่มสนิท

 

ใจแตก แรด วาทกรรมที่ควรยกเลิก

ดร.วราภรณ์เผยอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน คือด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจในปัจจุบัน ยังมี “กลุ่มเด็กเปราะบาง” ที่ไม่มีพ่อแม่ดูแลคุ้มครองใกล้ชิด ต้องอาศัยอยู่กับญาติ หรือผู้สูงอายุ

“ฉะนั้นคำว่า เด็กเสียไปแล้ว ใจแตก แรด ควรถูกยกเลิกออกไปเลยจากคำอธิบายหรือคำพูดของบุคลากรทางการศึกษา และสังคม รวมไปถึงสื่อมวลชน เพราะสิ่งที่พวกเขาประสบอยู่ในชีวิตประจำวันไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือกเอง แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมทางสังคม และผู้มีอำนาจไปกระทำกับเขา”

“พวกเขาจึงเป็นกลุ่มเด็กที่ควรได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่ถูกประณาม”

 

สนันสนุนความรุนแรงทางเพศ = ข่มขืนซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่ครูรุ่นพี่หรือผู้คนที่แสดงความคิดเห็นให้กำลังใจผู้กระทำ และประณามเด็ก การกระทำนี้ขับเน้นให้เห็นถึง “วัฒนธรรมการยอมรับความรุนแรง” ในสังคมได้ชัดเจนขึ้น

ดร.วราภรณ์ชี้ว่า “การที่ใครก็ตามออกมาสนับสนุนการใช้ความรุนแรงทางเพศ ก็เท่ากับร่วมข่มขืนด้วย เรียกว่าเป็นการข่มขืนทางสังคมซ้ำ การใช้คำพูดว่า ทำให้โรงเรียนชุมชนเสื่อมเสีย เป็นวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ ที่เราต้องช่วยกันพูดว่า นี่คือ ตรรกะวิบัติ เป็นการสนับสนุนการข่มขืน”

ต่อประเด็นนี้ ป้ามลเสริมว่า “ยกตัวเองเคสเด็กที่โดนทั้งหมู่บ้านรุมโทรมที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีคนออกมาพูดว่า บ้านเมืองเราสงบสวยงามมาตลอด แต่เด็กคนนี้เหมือนเป็นซาตานที่มาทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ซึ่งนี่คือตรรกะวิบัติ ที่ขอให้รู้ไว้ว่า เวลาที่คุณสาดสิ่งนี้ไปใส่เด็ก คุณได้ปิดทางกระบวนการยุติธรรม”

“และสังคมต้องรู้ว่า ไม่ควรเกรี้ยวกราดกับเด็กๆ อย่างไร้เหตุผล หยุดได้แล้วที่จะเกรี้ยวกราด ซึ่งเขาเป็นแบบนี้เพราะผลการกระทำของผู้ใหญ่”

 

ขันนอต’โรงเรียนปลอดภัย’

ทิชาย้ำถึงการแก้ปัญหาว่า การต่อสู้ในครั้งนี้ เราต้องเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ด้วยการช่วยกันชี้เป้า ช่วยกันสื่อสารปัญหาคู่ขนาน ไปกับการจัดการกับพฤติกรรมเชิงปัจเจกที่หลุดโผล่ ออกมา แบบทุ่มเท อย่างเต็มที่ ไม่ออมมือ ต้องจัดการครู 5 คน รุ่นพี่ 2 คน ที่หลุดออกมาให้ไม่มีที่ยืน แต่ภายใต้โครงสร้าง ระบบ อำนาจนิยมที่แข็งแรงเดือนหน้า ปีหน้า พฤติกรรมเชิงปัจเจกแบบครู 5 คน ก็จะโผล่มาอีก ถ้าปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ยังไม่ถูกขับเคลื่อน

จะเด็จฝากไว้ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากฝากเป็นข้อเสนอ คือ กระทรวงศึกษาธิการต้องสร้างกลไกคุ้มครองและเยียวยาเด็ก มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร มีกลไกตรวจสอบจริยธรรมครูโดยการประเมินผลจากผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วม และต้องกระจายอำนาจในการบริหารจัดการโรงเรียนไปสู่ท้องถิ่น โรงเรียนต้องมีหลักสูตรเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้เด็กรู้ว่าอะไรคือการคุกคามทางเพศ จะปกป้องตัวเองอย่างไร และเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมต้องตระหนักว่าคดีล่วงละเมิดทางเพศนั้นไกล่เกลี่ยไม่ได้

“กระทรวงศึกษาธิการต้องทำให้คนเป็นครูรู้ว่า การคุกคามทางเพศเด็ก เป็นความผิดที่ร้ายแรง การข่มขืน เป็นการทำร้ายตัวตนของผู้หญิงของเด็ก สถานศึกษาต้องพัฒนาศักยภาพคน ให้คนเป็นมนุษย์ที่ไปพัฒนาคนอื่นต่อ ไม่ใช่เป็นสถานศึกษาที่ไปละเมิดเด็ก”

“เป็นโจทย์ใหญ่กระทรวงศึกษาฯ ที่ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง” จะเด็จย้ำ

ปิดท้าย ดร.วราภรณ์ย้ำว่า เด็กยังไงก็คือเด็ก ยิ่งเด็กที่มีความเปราะบางทางสังคม กระทรวงศึกษาฯ และโรงเรียนยิ่งต้องปกป้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคลของครูที่กระทำผิดบางคน แต่เป็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ ถ้าจะแก้ปัญหาที่รากเหง้า กระทรวงศึกษาฯ ต้องมีนโยบายและมาตรการเชิงรุก โดยเริ่มตั้งแต่สถาบันที่ผลิตและรับรองวิทยฐานะของครูต้องเข้มงวด ปลูกฝังจิตสำนึกการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน และสำนึกในหน้าที่ด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก”

“ขณะเดียวกัน กระทรวงต้องมีนโยบายและแนวทางที่จะประกันว่าโรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาฯ ในฐานะหน่วยงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กต้องร่วมเป็นเจ้าทุกข์ในการดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำผิด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดการให้เด็กได้รับการเยียวยาทางจิตใจและครูที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริงต้องถูกลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด รวมถึงการถอนใบประกอบวิชาชีพครู ต้องไม่อนุญาตให้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรงอย่างเด็ดขาด เพื่อลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำ” ดร.วราภรณ์กล่าว

ถึงเวลาสังคมต้องช่วยกันสังคยานาครั้งใหญ่ เพื่อสกัดครูหื่น-ป้องกันนักเรียน และป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ที่มิได้เกิดเฉพาะในวงการศึกษา แต่เกิดในทุกวงการ

เสวนา
เสวนา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image