ทำความรู้จัก ‘มาตรการป้องกันคุกคามทางเพศในการทำงาน’ หนึ่งช้อยส์วิธีแก้ ‘ครู’ ละเมิด ‘นักเรียน’

ทำความรู้จัก ‘มาตรการป้องกันคุกคามทางเพศในการทำงาน’ หนึ่งช้อยส์วิธีแก้ ‘ครู’ ละเมิด ‘นักเรียน’

ปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการคุกคามทางเพศใน “สถาบันการศึกษา” มีมาอยู่ตลอด เป็นเรื่องลับๆ ที่คนในไม่อยากพูด เพราะทำให้องค์กรและวิชาชีพเสื่อมเสีย สังคมจึงไม่ค่อยรับรู้ ทำให้ไม่มีความตื่นตัวในการจัดทำมาตรการจัดการและแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดในเรื่องนี้

ทว่าปัญหาได้สะสมจนวันหนึ่ง “ภูเขาไฟระเบิด” ซึ่งในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา มีกรณีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นถี่จนน่าตกใจ

ไม่ว่าจะเป็น ครูชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ลวนลามนักเรียนชายมัธยมที่มีผลการเรียนต่ำหลายคน ที่ผ่านมาเคยโดนตั้งคณะกรรมการสอบพฤติกรรมแล้ว ก็ยังรอดมาได้

อีกทั้งกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ ลวนลามนักเรียนหญิงชั้น ป.6 ขณะกำลังใช้คอมพิวเตอร์โรงเรียน โดยเรื่องเกิดมาแล้วเป็นปี

Advertisement

และเรื่องที่สร้างความสลดใจให้คนทั้งสังคมจนเขย่าวงการศึกษาให้สะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งประเทศ กับกรณี 5 ครู 2 ศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร ข่มขืนและรุมโทรม 2 นักเรียนหญิงชั้น ม.2 และ ม.5 มาแรมปี

ไม่กี่วันหลังจากนั้น ก็เกิดกรณีครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ ลวนลามนักเรียนหญิงชั้น ป.3 ขึ้นอีก


จากตัวอย่างที่ยกขึ้นมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องที่ “ซุกอยู่ใต้พรม” ที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนอีกมาก สะท้อนให้เห็นว่า “กระทรวงศึกษาธิการ” จะเมินเฉยไม่ได้อีกต่อไป!!

Advertisement

จะมีทางใดที่จะแก้ปัญหานี้ได้บ้าง?

พลิกๆ ดูมาตรการป้องกัน ก็มีเรื่อง “มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน” ซึ่งมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าของ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน 2563

ถูกมองว่ามีความใกล้เคียงกับปัญหาดังกล่าว อาจสามารถนำมาแก้ปัญหาได้

“เพราะโรงเรียน ก็คือสถานที่ทำงานแห่งหนึ่ง”

นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. เผยถึงรายละเอียดของ “มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน” ว่า ตอนนี้ สค.กำลังจัดทำแนวปฏิบัติและคู่มือตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งมี 12 มาตรการ ได้แก่

1.ให้หน่วยงานประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว

2.ให้หน่วยงานจัดทำแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้บุคลากรมีส่วนร่วม

3.ให้หน่วยงานปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ

4.ให้หน่วยงานเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในองค์กร

5.ให้หน่วยงานกำหนดกลไกร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน

6.อาจใช้กระบวนการที่ไม่เป็นทางการเพื่อยุติปัญหา เว้นหากแก้ปัญหาไม่ได้ จึงเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมาย

7.ต้องแก้ไขปัญหาทันทีตามเวลากำหนด เป็นความลับ และให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

8.กรณีมีการร้องเรียน ให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง

9.ให้หน่วยงานมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและพยาน ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง

10.ให้หน่วยงานมีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา โดยในระหว่างร้องเรียนยังไม่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด และต้องให้โอกาสชี้แจง

11.ให้หน่วยงานรายงานผลการดำเนินงานไปยังศูนย์ประสานการป้องกันการคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) ภายในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี

และ 12.ให้ศูนย์ประสานการป้องกันการคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) เป็นศูนย์กลางประสานงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว และรายงานผลต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.)

“คิดว่ากระทรวงศึกษาธิการจะต้องทำความเข้าใจมาตรการนี้ ซึ่งออกด้วยคณะรัฐมนตรี จริงๆ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะมาตรการนี้มีมาตั้งแต่ปี 2558 แต่เพราะกระทรวงศึกษาธิการอาจมองว่าไม่ใช่ โรงเรียนไม่ใช่ที่ทำงาน หรือมองเรื่องที่เกิดขึ้นกับครูต่อครู ไม่ได้มองเรื่องครูกับเด็ก ซึ่งดิฉันอยากให้มองเรื่องในทุกมิติ เพราะโรงเรียนก็คือที่ทำงาน”

อธิบดี สค. เผยอีกว่า สำหรับแนวปฏิบัติจะลงลึกในรายละเอียดว่าอะไรคือการคุกคามทางเพศบ้าง อย่างทางสายตา เช่น จ้องมองร่างกายที่ส่อไปในทางเพศ มองช้อนใต้กระโปรง มองหน้าอกหรือจ้องลงไปที่คอเสื้อ รวมถึงทางวาจา เช่น พูดจาแทะโลม วิจารณ์ทรวดทรง การพูดจาลามก ตลอดจนทางกาย เช่น ลูบคลำ ถูไถอย่างมีนัยทางเพศ ฉวยโอกาสกอดรัด จูบ หยอกล้อโดยแตะเนื้อต้องตัวผู้อื่น ผิวปากแบบเชิญชวน เลียริมฝีปาก ทำท่าน้ำลายหก

ซึ่งจะจัดทำเป็นคู่มือในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ทั้งในส่วนของครูและข้าราชการทุกภาคส่วน เบื้องต้นคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะเสร็จสิ้นได้

“หวังว่าจากนี้ทุกภาคส่วนจะมีความรู้เข้าใจว่าอะไรคือคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ ที่สำคัญเมื่อรู้แล้วสามารถแจ้งร้องเรียนได้ เพราะมาตรการใหม่กำหนดให้ทุกหน่วยงานมีกลไกรับเรื่องร้องเรียน และให้ผู้มีอำนาจเหนือผู้กระทำมาดำเนินการตรวจสอบ ฉะนั้น สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรม แม้ผู้กระทำจะเป็นครู ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือใครก็ตาม” นางสาวอุษณีกล่าว

หากกระทรวงศึกษาจะลองหันมาให้ความสนใจกับมาตรการดังกล่าว โดยมีมาตรการออกมาป้องกัน ระหว่าง “เด็ก” กับ “ครู” ด้วย น่าจะเป็นหนึ่งวิธีแก้ปัญหาได้ เพราะทุกวันนี้ จะมาคิด “โลกสวย” ไม่ได้แล้วว่า เด็กจะไม่ถูกครูคุกคามทางเพศ เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน!

นางสาวอุษณี กังวารจิตต์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image