เปิดโลกกว้าง สร้างนวัตกรรม ด้วย ‘การให้’ ส่งต่อ ‘ความยั่งยืน’

นวัตกรรม
นวัตกรรม

เปิดโลกกว้าง สร้างนวัตกรรม ด้วย ‘การให้’ ส่งต่อ ‘ความยั่งยืน’

นวัตกรรม – ปักธงที่ “จันทบุรี” แล้วออกเดินทางเป็นคาราวาน มุ่งหน้าสานต่อโครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ 2562” (Honor the King”s Legacy 2019) ปีที่ 3 ของ นิสสัน ประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ให้ด้วยการคิด” ส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อจุดประกายไอเดียทางนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน หลังจากขับเคี่ยวมานานหลายเดือนก็ได้ผลผู้ชนะ

โดย รางวัลชนะเลิศ ตกเป็นของ ทีม “มิตร” คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีฯ มธ. กับนวัตกรรม “ทางเดินวิบวับ” ทำมาจากอิฐบล็อกที่มีส่วนผสมของ “เปลือกหอย” เบา และมีคุณสมบัติอุ้มน้ำน้อย ช่วยลดการเกิดตะไคร่น้ำ กันลื่นล้มเวลาเดิน ประกอบกับทาสารดูดซับแสงทำให้เรืองแสงในตอนกลางคืน เป็นการลดพลังงานได้ในอีกทางหนึ่ง ช่วยแก้ปัญหากลิ่นเหม็นจากกองเปลือกหอยนางรมที่ “ล้น” หมู่บ้าน มากกว่า 180 ตัน/ปี

กัญญ์ชนา กอทอง อายุ 20ปี ตัวแทนทีม กล่าวว่า การทำงานร่วมกับชุมชนเหมือนได้เปิดโลก จากที่ถูกสอนมาให้ทำแผนการตลาดที่เอื้อให้ได้กำไรสูงสุด กลับนึกถึงชุมชนมากขึ้นว่าทำแล้ว ชาวบ้านทำต่อเองได้ไหม ซึ่งคำว่า “ยั่งยืน” ก็ต้องไม่ใช่ใครคนหนึ่งได้กำไร แต่จากต้นน้ำถึงปลายน้ำทุกคนต้องได้รับประโยชน์ร่วมกัน

อิฐบล็อคจากเปลือกหอย

Advertisement

ขณะที่ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ตกเป็นของทีม “กลุ่มใจ” คณะวิจิตรศิลป์ มช. กับนวัตกรรม “เดลี่ พลาสติก” บรรจุภัณฑ์ประกอบเองได้ แข็งแรงและป้องกันหนามทุเรียน ทั้งยังสามารถใช้ซ้ำเป็นถุงช้อปปิ้งได้

จิตรา ดวงแสง อายุ 22 ปี ตัวแทนทีม กล่าวว่า ปกติพวกเราออกแบบผลงานโดยนึกถึงเรื่องของความสวยงามเป็นหลัก เพราะมองว่าขายไอเดียขายงานให้กับกลุ่มนักออกแบบด้วยกัน แต่ผลงานชิ้นนี้จุดประกายจากการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามองว่านอกจากขยะพลาสติกแล้วยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ และฟู้ดเวสต์อีกที่ทุกคนควรให้ความสำคัญและตระหนักถึง

กลุ่มใจ กับผลงาน

ปิดท้ายด้วย รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีม “เดอะ แกลบ คราฟ” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กับนวัตกรรม “ใสคราฟต์” อุปกรณ์ตกแต่งบ้านจากขยะพลาสติกภายในชุมชน ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในหลายฟังก์ชั่น อาทิ รัดถุง เก็บหูฟัง วางมือถือ และพวงกุญแจ

Advertisement

ธาวิน ตั้งบุญญศิลป์ อายุ 21 ปี ตัวแทนทีม กล่าวว่า “การสร้างจิตสำนึก” คือส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นปัญหาโลกที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องฉะนั้นการออกแบบจึงไม่เพียงแค่สวยงามแต่ต้องตอบโจทย์และส่งเมสเสจได้ด้วย

ทีม “เดอะ แกลบ คราฟ” กับผลงาน

ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโส เมืองนวัตกรรมอาหาร (สวทช.) กล่าวว่า “นวัตกรรม” คือการสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ที่มี ต้องมีคนซื้อ-ใช้จริง ถ้าสร้างมาแต่ไม่มีคนใช้ จะเรียกว่า “สิ่งประดิษฐ์” ส่วนการทำงานร่วมกับชุมชนจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับทักษะที่ไม่เกิดขึ้นในห้องเรียน เช่น ได้พัฒนาทัศนคติและกระบวนการคิดว่าก่อนจะสร้างสิ่งหนึ่งต้องคิดถึงสังคมและผู้อื่น มีความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือ (Tools Set) ต่างๆ และพัฒนาชุดทักษะ ทั้งฮาร์ดสกิล และซอฟต์สกิล อาทิ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งสำคัญมาก

ปีเตอร์ แกลลี รองประธานสายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อเวลาผ่านไปชุมชนจะยังทำอยู่ไหมนี่คือหัวใจสำคัญ เพราะการเติบโตอย่างยั่งยืนคือการที่ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เมื่อเยาวชนได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านจะเติมเต็มทักษะด้วยประสบการณ์จริง รู้จักที่จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น เป็นหนึ่งในหนทางแก้ปัญหาจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำได้อย่างแท้จริง

สู่การให้ ไม่สิ้นสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image