ฝ่าวิกฤตภัย ‘ข่มขืนเด็ก’ พ่อแม่หยุดโลกสวย ‘คนใกล้ชิด’ ร้ายที่สุด!

ข่มขืนเด็ก
ข่มขืนเด็ก

ฝ่าวิกฤตภัย ‘ข่มขืนเด็ก’ พ่อแม่หยุดโลกสวย ‘คนใกล้ชิด’ ร้ายที่สุด!

ข่มขืนเด็ก – มีเรื่องให้สะเทือนใจตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา กับข่าวเด็กถูกคนรอบตัวข่มขืน ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในหลายพื้นที่ ซึ่งมีสัญญาณเกิดเหตุเดียวกัน คือ ผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิดเด็ก ตั้งแต่ครูในโรงเรียนเดียวกัน รวมถึงคนในครอบครัว อย่างพี่ น้า อา พ่อบุญธรรม กระทั่งพ่อบังเกิดเกล้าแท้ๆ

เกิดขึ้นทีตำรวจก็ตามจับที ขณะที่สังคมก็เรียกร้อง “ข่มขืนเท่ากับประหาร” เรียกร้อง “ตัดอวัยวะเพศชายผู้กระทำ” ให้สูญสิ้นความต้องการทางเพศ อาจไม่แตะรากลึกที่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม เพราะถูกข่มขู่ แบล๊กเมล์ บางคนรวบรวมความกล้าไปบอกผู้ใหญ่ว่าถูกกระทำ ขอให้ช่วยเหลือ เสียงก็ดังไม่พอ มิหนำซ้ำยังถูกหัวเราะใส่ หรือต่อว่ากลับมาอีก

สถิติยืนยัน ‘คนใกล้ชิด’ ร้ายที่สุด

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยว่า จากข้อมูลที่ได้เก็บสถิติ พบว่าจากเดิมคนจะถูกคุกคามในที่เปลี่ยวโดยคนแปลกหน้า แต่ตั้งแต่ปี 2556 ก็เริ่มเห็นแนวโน้มตัวเลขของการล่วงละเมิดจากคนใกล้ชิด สอดคล้องกับสถานที่ที่เกิดในบ้านมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อเลี้ยงกระทำกับลูกเลี้ยง หรือเป็นพี่ น้า อา กระทำกับเด็ก โดยอายุเฉลี่ยอยู่ในช่วงนักเรียน นักศึกษา มีผู้สูงอายุบ้าง แต่จำนวนน้อยกว่า โดยจากการทำงานที่ผ่านมา เราก็พบว่า ความรุนแรงทางเพศ คนเปราะบางหรือมีปัญหาทางสมอง จะถูกเอาเปรียบเรื่องเพศมากกว่า และเด็กๆ มักจะถูกขู่ว่าอย่าบอกใคร ทำให้กว่าผู้ใหญ่จะทราบเรื่อง เด็กก็ถูกกระทำมาเป็นเวลานาน

จรีย์เปิดสถิติ “สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ” ในปี 2561 ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวม พบว่า มีความรุนแรงในครอบครัว 623 ข่าว โดยอันดับ 5 เป็นการข่มขืนกันของบุคคลในครอบครัว จำนวน 23 ข่าว หรือร้อยละ 3.7 และเมื่อเจาะลึกไปที่สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศในหนังสือพิมพ์ ในปี 2560 ซึ่งได้เก็บสถิติจากหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบว่ามีการกระทำความรุนแรงทางเพศ 317 ข่าว และพบกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรง คือกลุ่มเยาวชนอายุ 5-20 ปี หรือร้อยละ 60.6 โดยเฉพาะอายุ 11-15 ปี จะถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด รองลงมาคืออายุ 21-40 ปี

Advertisement

โดยผู้กระทำเป็นคนคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัวถึงร้อยละ 53.0 ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน คนในครอบครัว หรือครู แม้กระทั่ง พระ อีกทั้งพบว่าสถานที่ที่เกิดเหตุในข่าวมากที่สุดคือ ในบ้าน หรือห้องพัก ผู้ถูกกระทำ ที่ร้อยละ 26.0 รองลงมาคือที่พักของผู้กระทำ ที่ร้อยละ 16.7

“จากการทำงานที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ที่ไม่เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น เป็นการใช้อำนาจเหนือ ซึ่งในครอบครัว เด็กอยู่ในอำนาจของผู้ใหญ่อยู่แล้ว เวลาเกิดเหตุ เด็กจะไม่กล้าพูดเมื่อถูกกระทำครั้งแรกๆ ทำให้เด็กส่วนใหญ่ถูกกระทำอย่างยาวนาน บางครั้งเด็กกล้าที่จะพูด กลับถูกผู้ใหญ่โยนความผิดให้ ยิ่งทำให้เด็กไม่มีช่องทาง กว่าจะมาถึงเราก็คือเขาหมดหนทางแล้วจริงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแม่ ญาติใกล้ชิด หรือครูที่พาเข้ามา ซึ่งจากข่าวจะเห็นได้ว่าข่าวข่มขืนและพยายามข่มขืน จะแตกต่างกันที่ มีคนเข้ามาช่วยได้ทัน”

จรีย์เผยอีกว่า หากเรามองย้อนกลับไป สังคมไทยไม่ได้ถูกปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาตั้งแต่ต้นทาง มักมีคำพูดว่า การพูดว่าผู้ชายมีอารมณ์ทางเพศยอมรับได้มากกว่าผู้หญิงมีอารมณ์ทางเพศ ผู้ใหญ่ต้องคุมได้ ทุกอย่างโยนให้กับผู้ถูกกระทำ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ หลายครั้งถูกถามว่า แล้วไปบ้านเขาทำไม ซึ่งนั่นคือคนใกล้ตัวที่เด็กไว้ใจ ปัญหานี้จึงต้องแก้ตั้งแต่วิธีคิด ต้องให้คนรู้จักให้เกียรติกัน และรู้ที่จะไม่แสดงพฤติกรรมเช่นนี้ มันอาจจะยาก แต่ต้องเริ่ม เรื่องเพศต้องเป็นเรื่องที่คุยกันได้ในครอบครัว หลายหน่วยงานได้ออกหลักสูตรการคุยเรื่องเพศในครอบครัวออกมา สอนให้เด็กรู้จักเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง และผู้อื่น ปรับโครงสร้างตั้งแต่ระบบการศึกษา ทั้งสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ให้กล้าที่จะพูด จะแสดงออกมา

“ในระยะต้น เด็กที่ถูกกระทำต้องกล้าที่จะบอกความไม่สบายใจกับการกระทำของผู้ใหญ่ กับคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะคำพูด สายตา หรือการวางตัว ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้ผู้กระทำนำโอกาสนี้มากระทำหนักขึ้น ผู้ใหญ่ก็ควรรู้จักสังเกตพฤติกรรมของลูก เช่น เด็กซึมลง เงียบ ไม่ร่าเริง กินข้าวไม่ได้ บางกรณีร่างกายมีบาดแผล เด็กอาจจะบ่นว่าปัสสาวะแล้วเจ็บอวัยวะเพศ หรือหลุดมาว่าปวดท้อง ผู้ใหญ่ต้องสังเกต และทำให้เขารู้สึกเป็นพื้นที่ปลอดภัย และกล้าพูดออกมา ในเรื่องนี้ ต้องร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ใครฝ่ายเดียว โดยต้องคิดเสมอว่า หากไม่มีปัญหาเขาคงไม่พูดออกมา แม้จะไม่ใช่เรื่องจริง แต่หากพูดออกมาก็แสดงว่าเขามีปัญหาบางอย่างที่อยากให้แก้ไข”

“สังคมไทยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องในครอบครัว และไม่อยากเข้าไปยุ่ง แต่หลายครั้งผู้กระทำไม่สามารถทำสำเร็จก็เพราะมีคนแจ้งเข้ามา ไม่ว่าจะคนข้างห้อง หรือญาติ ซึ่งหากไม่กล้าทำอะไร แจ้งตำรวจก็ยังดี” จรีย์ย้ำ

จรีย์ ศรีสวัสดิ์

วัฒนธรรมวิบัติ ‘ผู้ชายต้องมีประสบการณ์ทางเพศเยอะ’

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เผยว่า ในห้วงเวลานี้มักจะรับรู้ข่าวเรื่องความรุนแรง โดยเฉพาะ “ความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก” ทั้งเด็กผู้หญิงและบางส่วนก็เป็นเด็กผู้ชายด้วยที่ถูกกระทำเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจาก “โครงสร้างของครอบครัวในปัจจุบัน” ที่เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีเด็กจำนวนมากขึ้นที่ต้องอาศัยอยู่กับญาติ มีทั้งพ่อแม่แยกทางกัน และไม่สามารถรับผิดชอบดูแลลูกได้ หรือพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด

“หากสังเกตจะพบว่าเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงมักจะเป็นเด็กที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย หรืออาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่เด็กเป็นผู้ที่มีความเปราะบาง เช่น เป็นผู้พิการทั้งทางร่างกายหรือสมอง มีภาวะป่วยทางจิตเวช รวมไปถึงพ่อแม่ติดยาเสพติดซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้อง หรือคุ้มครองความปลอดภัยของเด็ก”

อีกปัจจัยคือเรื่อง “วัฒนธรรมเรื่องเพศ” ของไทย “ผู้ชายต้องมีประสบการณ์ทางเพศ” ส่งผลให้ผู้ชายส่วนหนึ่งคิดว่าตัวเองสามารถแสดงออกหรือมีวิธีการได้มาทางเพศยังไงก็ได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง และเมื่อมาเจอกับเด็กที่มีความเปราะบาง ไม่มีผู้ใหญ่คุ้มครองดูแล จึงทำให้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กปรากฏมากขึ้น ดังเช่น กรณีเด็กหญิงสุพรรณบุรี 12 ปี เหยื่อคนในครอบครัวข่มขืน ซึ่งหนึ่งในผู้กระทำคือลูกพี่ลูกน้องชาย อายุ 11 ปี

“จุดนี้ก็สะท้อนถึงวัฒนธรรมเรื่องเพศของไทยที่ไปยกย่องและให้คุณค่าผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศเยอะ แม้ว่าจะเป็นเด็กผู้ชายที่ยังไม่มีวิจารณญาณในการตัดสินถูกหรือผิด แต่ผู้ใหญ่กลับไปชักชวนมาร่วมกันทำผิด และผู้ใหญ่เหล่านี้ก็กระทำโดยไม่รู้สึกผิดว่ากำลังล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นคนในครอบครัว

นอกจากนี้ในสังคมไทย การที่ผู้เสียหายจะกล้าออกมาบอกถึงสิ่งที่โดนกระทำ เป็นเรื่องยากมาก เพราะถูกสกัดกั้นในหลายแง่มุม ขั้นแรกผู้ถูกกระทำไม่กล้าบอก ไม่กล้าพูด เพราะรู้สึกอับอาย และกลัวสังคมตำหนิตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองทำผิดหรือเปล่า ต่อมาในขั้นที่สอง พอไปบอกคนอื่นหรือแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว จะมีกระบวนการไกล่เกลี่ยให้ยอมความหรือคดีจบลง ทั้งๆ ที่ตามข้อกฎหมายไทยระบุว่า หากมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ถือว่าเป็นการข่มขืน ผิดกฎหมาย ต้องมีการดำเนินคดีทางอาญา แต่ที่ผ่านมาหลายๆ ครั้งก็จะมีการไกล่เกลี่ยให้คดีจบไป ประกอบกับตัวผู้เสียหายหรือครอบครัวรู้สึกอับอาย รู้สึกไม่มีอำนาจในการต่อรองหรือต่อสู้ทางกฎหมาย ก็ยอมความไป

ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้มีผู้กระทำผิดจำนวนไม่น้อยลอยนวล และมีโอกาสกลับมาทำผิดซ้ำ ดังเช่นกรณีครูหื่นมุกดาหาร ที่ล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก ซึ่งหนึ่งในครูที่กระทำก็มีประวัติล่วงละเมิดกับเด็กมาก่อนในพื้นที่อื่นและมีการไกล่เกลี่ยให้ยอมความ รูปการณ์แบบนี้เป็นส่วนทำให้คดีความรุนแรงทางเพศต่อเด็กจำนวนมาก “เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม”

“ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ที่กระทำหรือมีแนวโน้มจะกระทำการล่วงละเมิดทางเพศได้ใจ หรือเห็นชอบว่าทำไปแล้วมันไม่เกิดผลอะไรหรอก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในหลายกรณีที่เกิดขึ้น 1.มีคนรับรู้หลายคนด้วยซ้ำ ทำกันเป็นกลุ่ม 2.ไม่ได้ทำแค่วันนี้วันเดียว แต่ว่าทำกันมาต่อเนื่องเป็นปีๆ จึงเป็นเหตุให้การล่วงละเมิดทางเพศในเด็กเกิดขึ้นในสังคมไทยซ้ำๆ เพราะไม่มีการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างจริงจัง” ดร.วราภรณ์กล่าว

‘เพศ’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ส่วนทางออกสำหรับ “เด็ก” เหยื่อความรุนแรง

ดร.วราภรณ์กล่าวว่า สำหรับ “เด็ก” ความสามารถในการดูแลหรือคุ้มครองตัวเองยังไม่เต็มที่ พัฒนาการของเขายังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ต้องพึ่งพาคนอื่น ดังเช่น เรื่องปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต รวมทั้งการเรียนรู้ การคิด การตัดสินใจ เพราะฉะนั้นจะไปบอกว่าเมื่อเกิดการละเมิดทางเพศต่อเด็ก “เด็กต้องป้องกันตัวเอง” ก็นับว่าเป็นเรื่องดีแต่ยังไม่พอ สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่ในสังคมจะต้องช่วยกัน ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่ในครอบครัว

ในขณะเดียวกัน “รัฐบาล” ควรมีบทบาทสำคัญใน “เชิงรุก” มากกว่านี้ สำหรับการป้องกันและแก้ปัญหาการล่วงละเมิดเด็ก เพราะมีทรัพยากรอยู่ในมือ เช่น หน่วยงานที่ลงไปถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกของรัฐ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐจะทำงานแบบต่างคนต่างทำ ทำงานเฉพาะส่วนของตัวเอง ข้อเสนอคือ ภาครัฐต้องทำงานประสานและบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น โดยมอง “ชีวิต สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของเด็ก” เป็นศูนย์กลาง ว่าเด็กใช้ชีวิตอยู่ในบริบทแบบไหน และมีความเสี่ยงอะไร ต้องมีกระบวนการในการเข้าไปสำรวจ และประเมินความเสี่ยง เช่นว่า พ่อแม่ติดคุก เด็กอาศัยอยู่กับใคร เป็นต้น

ซึ่งรัฐต้องเป็นเจ้าภาพ และกลไกเหล่านี้ต้องไม่หยุดแค่ที่กรุงเทพฯ แต่ต้องกระจายไปในระดับพื้นที่ชุมชนด้วย เพราะ “บ้าน โรงเรียน และชุมชน” เป็นสถานที่ที่เด็กใช้เวลาร่วมด้วยมากที่สุด ในการทำงานระดับชุมชนก็มีหลายหน่วยงานที่จะช่วยได้ เช่น กระทรวง พม. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กโดยตรงอาจจะไม่มีกำลังคนในระดับชุมชนมากนัก แต่หน่วยงานที่มีอาสาสมัครชุมชนเข้มแข็ง ก็คือ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีความชำนาญในพื้นที่ อาจจะประสานให้ช่วยสอดส่องความเสี่ยงของเด็กในชุมชนได้ รวมไปถึงกระทรวงมหาดไทยที่มีกำลังคนคือ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ซึ่งต้องมีทั้งนโยบายและส่งผ่านกลไกเหล่านี้ไปถึงระดับชุมชนและพื้นที่

“เพราะปัญหาความรุนแรงต่อเด็กไม่สามารถแก้ได้ด้วยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง” ดร.วราภรณ์ย้ำ

เรื่องเพศไม่น่าอาย ‘พ่อแม่’ กล้าคุยกับลูก

เมื่อปรากฏข่าวการล่วงละเมิดอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้เหล่าผู้ปกครอง หรือเครือญาติ ไม่สบายใจด้วยเกรงว่าลูกหลานของตัวเองจะประสบกับเหตุร้าย

ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าวว่า ในสังคมปัจจุบันผู้ปกครองจะโลกสวยไม่ได้แล้ว ว่าผู้ใหญ่ทุกคนรักเด็ก เอ็นดูเด็ก แต่ต้องระวังไว้ล่วงหน้าถึง “ภัย” ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กจากการกระทำของคนอื่นโดยเฉพาะที่เป็นผู้ใหญ่ ว่าสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมีเด็กเป็นหมื่นๆ รายต่อปีที่ถูกกกระทำความรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ยังไม่รวมที่ถูกกระทำแต่ไม่ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษา

“เราจะโลกสวยว่าเด็กเขาจะมีชีวิตที่สวยงามไม่ได้แล้ว ต้องเผื่อไว้ด้วยว่าเด็กอาจจะไปเผชิญสถานการณ์ที่เขาถูกทำร้าย ล่วงละเมิดหรือถูกล่อลวง เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องคอยสอนเด็กๆ ด้วย เช่น เด็ก 2-3 ขวบจะสอนเขาประมาณไหนให้เขาดูแลเนื้อตัวร่างกายตัวเอง พอโตขึ้นมาหน่อยก็ต้องสอนเรื่องร่างกายว่าส่วนไหนที่เป็นอวัยวะส่วนตัวที่ถ้ามีใครก็ตามมาสัมผัสก็ต้องบอกผู้ปกครอง ถ้าเด็กโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ต้องเข้าใจว่าเด็กอยู่ในวัยที่เริ่มสนใจเพศตรงข้าม และคนอื่นก็มีความสนใจทางเพศต่อเด็กเหมือนกัน ก็ต้องสอนให้เด็กรู้จักระวังตัว จะเดินทางไปไหนมาไหนต้องไม่ประมาท

รวมไปถึงหากถึงวัยที่เด็กเริ่มมีแฟน ผู้ใหญ่ไม่สามารถไปตามควบคุมดูแลเขาได้อยู่แล้ว ก็ต้องสอนให้เขาเรียนรู้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับแฟนอย่างไรให้ปลอดภัย และสามารถต่อรองได้ว่าเขาต้องการหรือไม่ต้องการอะไร เพราะมีหลายกรณีที่แฟนขอมีเพศสัมพันธ์แล้วเด็กก็ยอม เพราะความเกรงกลัวแม้จะไม่ต้องการ” ดร.วราภรณ์กล่าว

นอกจากนี้ ก็ไม่ใช่ยุคที่การพูดคุยเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย เพราะลองคิดดูว่าหากผู้ใหญ่อายไม่กล้าพูดเรื่องเพศกับเด็ก ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันอาจจะร้ายแรงจนวันหนึ่งเราอาจจะรู้สึกเสียใจ เพราะถ้าเด็กเขาคุ้นเคยกับการพูดคุยกับผู้ปกครองในเรื่องเพศ วันหนึ่งเมื่อมีใครมากระทำไม่ดีกับเขา เขาจะได้กล้าพูดกล้าคุยกับผู้ใหญ่ที่เขาไว้ใจ

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท

ปรับสมดุลอำนาจ เสียงของเด็กมีความหมาย

ป้ามล-ทิชา ณ นคร นักสิทธิเด็กเยาวชนและสตรี เผยว่า ปัญหาเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ โดยมีผู้กระทำเป็นคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เราคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุด 2 พื้นที่คือ บ้านและโรงเรียน ต้องการันตีความปลอดภัยให้เด็กได้ แต่เมื่อทำไม่ได้ ก็ควรถึงเวลาที่รัฐบาล หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จะต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่มองและบอกปัญหานี้ว่า เป็นเพียงเฉพาะกลุ่ม เฉพาะบ้าน เป็นแค่บางพื้นที่ เพราะนี่เป็นคำตอบของการแก้ตัว

ป้ามลชวนมองทะลุปรากฏการณ์ “ครูหื่น-พ่อข่มขืนลูก-น้าเขยข่มขืนหลาน” ไม่ใช่เรื่องเซ็กซ์อย่างเดียว แต่มีรากเหง้ามาจาก “สังคมที่ผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือเด็ก จนพลังของเด็กแทบไม่มีเลย”

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ป้ามลยกตัวอย่างผู้ใหญ่ใช้อำนาจเหนือเด็ก อย่างโรงเรียนแห่งหนึ่ง หากเด็กทาลิปสติกแม้จะออกสีระเรื่อๆ อย่างลิปมันที่มีสีหน่อยๆ ครูก็จะใช้วิธีให้เด็กถอดถุงเท้าเช็ดลิปสติก เป็นการลงโทษที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าคนรอบๆ ตัวของเขาเป็นคนน่ากลัว ไม่มีเมตตา และเป็นคำเตือนลอยๆ บอกเด็กว่า ต้องอยู่ให้เป็น เจ้าไม่มีอำนาจ เป็นเด็กต้องเดินตามที่สั่ง

นางทิชาเผยอีกว่า ในโรงเรียนที่มีระบบนิเวศอำนาจนิยมอย่างนี้ หากมีผู้ใหญ่หรือครูที่ละเมิดเด็ก คิดว่าเด็กจะกล้าขอความช่วยเหลือหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเขาได้เรียนรู้ว่ารอบๆ ตัวเขา เสียงของเด็กไม่มีความหมาย คนใช้อำนาจก็ยิ่งเหิมเกริม ก็หวังว่าโรงเรียนจะไม่มีระบบอำนาจนิยมอย่างนี้

“การเอาครูที่ข่มขืนนักเรียนไปตัดอวัยวะเพศให้ฝ่อ มันอาจส่งสัญญาณได้เล็กน้อยให้ครูคนอื่นๆ ไม่กล้าทำ แต่กับคนที่ใช้อำนาจนิยม เขาอาจใช้ช่องทางอื่นมากระทำ ทำให้เนียนขึ้น ปิดปากสนิทขึ้น หรือหากมีสัญญาณว่าผู้ถูกกระทำจะออกมาฟ้อง ก็อาจใช้ความรุนแรงถึงขั้นฆ่าปิดปาก ฉะนั้นวิธีการนี้เป็นเพียงการใช้ความรุนแรง เพื่อให้เกิดความรุนแรงที่มากขึ้นไปอีก”

เช่นเดียวกับพื้นที่บ้าน หากแม่เด็กไปไหนก็ไม่รู้ ไม่ค่อยให้การดูแล เด็กอาจถูกข่มขู่ให้ยอม บางกรณีมีการใช้อาวุธขู่ด้วย ซึ่งใช้ได้กับเด็กน้อยที่ไม่มีอำนาจสื่อสารกับใคร ฉะนั้นหากได้ปรับสมดุลอำนาจใหม่ ทำให้เสียงของเด็กดังขึ้น ทำให้เด็กได้มีโอกาสพูดมากขึ้น และเชื่อในสิ่งที่เขาพูด

“การที่เด็ก 1 คน เดินมาบอกว่าเขาถูกข่มขืน หรือบอกว่าถูกบังคับให้ใช้ปากกับอวัยวะเพศของผู้ใหญ่ เป็นสัญญาณที่ต้องฟัง ไม่คิดว่าเด็กพูดเล่น เพราะเด็กคงไม่สนุกพอที่จะมาบอกว่าถูกกระทำนี้ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเชื่อลูก กลไกรับเรื่องของเด็ก ต้องศรัทธาในเสียงเด็ก”

“หรือการที่เด็กมาพูดว่าถูกกระทำดังกล่าว แต่จริงๆ ไม่ได้ถูกกระทำ นี่ก็เป็นสัญญาณของการเรียกร้องบางอย่าง ที่ต้องไปหาสาเหตุว่าเด็กมีปัญหาอะไรถึงส่งสัญญาณนี้ แก้ไขให้ตรงจุด ไม่ใช่คิดว่าเป็นเพียงเรื่องตลก”

ป้ามลทิ้งท้ายว่า

เราต้องเป็นเครื่องรับสัญญาณที่มีคุณภาพ

ทิชา ณ นคร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image