อย่าโทษสมองไม่จำ! ถ้ายังไม่ลอง 8 เทคนิคช่วยจำ เคล็ดลับคนเก่งก่อนสอบ
อาจประสบด้วยตัวเอง หรือได้ยินเรื่องราวจากเพื่อนๆ มากันบ้างแหละ ว่า คนบางคนอ่านหนังสือแทบตาย ก็สอบไม่ผ่าน หรือสอบได้คะแนนน้อย เพราะอ่านเป็นพิธี แต่สมองไม่จำ แต่กับคนบางคนอ่านน้อยกว่า ทำไมสอบผ่าน
นั่นก็เพราะเขามีเทคนิคช่วยจำ ซึ่งคนเก่งแต่ละคนก็มีเทคนิคแตกต่างกันไป โดยหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวม 8 เทคนิคช่วยจำ เพื่อช่วยเหล่านิสิตให้อ่านหนังสือ สามารถจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น ดังนี้
1.มุ่งสนใจสิ่งที่ต้องการจำ ไม่ทำหลายงานในเวลาเดียวกัน (Focus on it)
การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน บ่อยครั้งทำให้เราล้มเหลวในการจดจำ หรือพลาดจากการทำงานที่อยู่ตรงหน้า สมองของเรามีความจำเป็นในการใช้เวลาที่จะลงรหัสข้อมูล ซึ่งถ้าเราไม่ได้ใช้เวลากับมัน สิ่งนั้นก็จะไม่ได้ถูกเก็บเข้าไปในความทรงจำของเราอย่างเหมาะสม และไม่สามารถจะระลึกข้อมูลนั้นกลับขึ้นมาได้ในตอนหลัง หากเรามีความจำเป็นที่จะต้องจำอะไรบางอย่าง เราพึงจดจ่อกับสิ่งนั้น และลดการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันลง
2.ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ร่วมกัน การมอง การได้ยิน สัมผัส กลิ่น เสียง (Smell, Touch, Taste, Hear and see it)
ตามปกติแล้ว ยิ่งเราได้ใช้การรับรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัสต่างๆ ในการจดจำ ขณะที่กำลังลงรหัสข้อมูลของสิ่งนั้น ก็จะยิ่งทำให้เราจดจำได้มากขึ้น เช่น การจดจำชื่อใครบางคน เราจะสามารถจำเขาได้มากขึ้น หากเราได้พบหน้าของเขา (มองด้วยตา) พูดคุยทักทาย (ได้ยินเสียง) และจับมือกัน (สัมผัส) หรือการจดจำชื่ออาหาร เราจำได้ง่ายขึ้น เมื่อเราได้กลิ่น ได้มอง ได้รับประทานรับรู้ถึงรสชาติ เป็นต้น เมื่อประยุกต์ใช้กับการอ่านหนังสือ คือ เราอ่าน (มอง) เราฟัง (ได้ยิน ฟังเทปอัดเสียง) เราจดสรุปเนื้อหา (สัมผัส) ยิ่งเราทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำ ๆ เราก็จะยิ่งจดจำได้มากขึ้น
3.การทำซ้ำ (Repeat it)
เมื่อเราต้องการจะจำอะไรบางอย่าง สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะทำกันก็คือ การทำซ้ำๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือหรือในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Over learning” การทำซ้ำ ๆ ช่วยให้เราไม่ต้องยัดเหยียดข้อมูลเหล่านั้นเข้าไป และทำให้ข้อมูลที่เข้าไปมีระยะเว้นระหว่างกัน และคงอยู่ในความทรงจำของเราได้ยาวนานกว่า การฝึกทำแบบฝึกหัดและตอบคำถามด้วยตนเองซ้ำๆ ก็ช่วยให้เราจำ เข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการทำข้อสอบ
4.การแบ่งข้อมูลเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อจดจำ (Chunk it)
สังเกตหรือไม่ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาในการจำเบอร์โทรศัพท์ ถึงแม้ว่าเบอร์โทรศัพท์จะมีเลขหลายตัวติดต่อกัน เทคนิคนี้เรียกว่า “Chunk” ซึ่งเราจะใช้เมื่อต้องการย่อยข้อมูลกลุ่มใหญ่ หรือชุดข้อมูล ให้มีขนาดเล็กลงง่ายต่อการจดจำ เช่น เบอร์โทรศัพท์ ถ้าเราจำแยกกันแต่ละตัวนั้น หมายความว่า เราต้องเปลืองพื้นที่ในการจำถึง XXXXXXXXXX 10 หน่วย แต่เมื่อเราจัดให้เป็น Chunk เราก็จำได้ง่ายขึ้น โดยจัดเป็น XXX-XXX-XXXX นั่นหมายความว่า เราประหยัดพื้นที่จาก 10 หน่วย เหลือเพียง 3 หน่วย เราอาจจะใช้เทคนิคนี้ ช่วยให้เราจำได้ง่ายขึ้น โดยการจัดกลุ่มย่อย จัดตามประเภท จัดที่ความคล้าย หรือจัดที่มีความตรงข้ามกัน แบ่งเป็น Chunk ให้เราจำได้มากขึ้น
5.การจัดระบบของข้อมูลที่จะทำ (Organize it)
หนังสือ 1 เล่ม ประกอบด้วยบทเรียนแต่ละเรื่อง ในแต่ละบทเรียนก็ประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ มากมาย การจัดระบบเช่นนี้ทำงานเช่นเดียวกับสมองของเรา ดังนั้นเราพึงมีความระมัดระวังในการจัดระบบข้อมูลของตนเองตั้งแต่แรก เพราะจะช่วยให้สมองของเราลงรหัสข้อมูลและจดจำได้ง่ายขึ้น
6.การหาวิธีช่วยจำ เช่น การใช้อักษรตัวแรกในการจดจำ (Use Mnemonic device)
ในโลกนี้มีวิธีช่วยจำหลากหลายแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมกัน คือ การช่วยให้เราจดจำข้อมูลต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน ผ่านการจินตนาการ การใช้ตัวย่อ การใช้จังหวะ หรือแต่งเป็นเพลง เช่น นิสิตแพทย์ในต่างประเทศ มักจะใช้วิธีในการจำชิ้นส่วนกระดูกของร่างกายหรือาการของโรค โดยจะจำอักษรตัวแรกของคำนั้น ซึ่งเชื่อมโยงถึงคำของชิ้นส่วนของกระดูกหรืออาการของโรค จากนั้นนำอักษรตัวแรกหลายตัวที่จะจำมาจัดรวมเรียงต่อกันเป็นประโยค เป็นต้น ที่ผ่านมาเราเองอาจจะคุ้นเคยตั้งแต่เด็กกับวิธีช่วยจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจำอักษรกลางในภาษาไทย (ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง) หรือการจดจำคำศัพท์ผ่านการร้องเพลง วิธีเหล่านั้นก็ยังสามารถมาประยุกต์ใช้กับการเรียนในมหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกัน
7.หาวิธีการจำที่เหมาะสมสำหรับตัวเรา (Learn it the way that works for you)
บ่อยครั้งที่เราอาจจะยึดติดอยู่กับวิธีการจำที่เรารู้จัก และมองว่าเหมาะสมกับเราแล้ว ปัจจุบันมีรูปแบบการเรียนรู้ใหม่เกิดขึ้นมากมายในการช่วยจดจำ บางคนอาจทบทวนบทเรียนด้วยการจดเนื้อหาที่เรียนซ้ำ ๆ ในบางคนจะฟังจดเนื้อหาที่เรียนจากการฟังเทปอัดเสียงในห้องเรียนซ้ำ แล้วจึงสรุปออกมาอีกครั้ง เพราะเราทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการช่วยจำ เราพึงเลือกให้เหมาะกับตัวเราเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกับคนส่วนใหญ่ ค้นหาวิธีที่เหมาะกับเราเอง
8.การเชื่อมโยงข้อมูลที่จำกับข้อมูลที่มีอยู่ (Connect with dots)
เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บ่อยครั้งที่เราจะลืมสิ่งเดิมที่มีอยู่ และไม่ได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งใหม่ และสิ่งเดิมที่อยู่ในความจำของเรา มีงานวิจัยที่แสดงว่า ความจำของเราจะคงอยู่ได้มากขึ้น เมื่อเราพยายามสร้างความเชื่อมโยงกับข้อมูลเดิม ในขณะที่เรากำลังเรียนรู้หรือจดจำข้อมูลใหม่ ตัวอย่างของการนำไปใช้ คือ ให้เราคิดถึงสิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างข้อมูลเก่าและข้อมูลใหม่ หรือคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราเอง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับข้อมูลหรือสิ่งใหม่ที่เราต้องการเรียนรู้จดจำ
เอกสารอ้างอิงจาก
https://psychcentral.com/blog/8-tips-for-improving-your-memory