รับมือ ‘ความรุนแรง’ รอบตัวเด็กไทย

รับมือ ‘ความรุนแรง’ รอบตัวเด็กไทย

ความรุนทําเอาพ่อแม่ผู้ปกครองกังวลไปตามๆ กัน กับภาพเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างพี่เลี้ยงเด็ก ครู ที่กระทำต่อนักเรียนปฐมวัย ในห้องเรียนชั้นอนุบาล โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี ปรากฏเป็นคลิปเผยแพร่ผ่านสาธารณะ

ท่ามกลางกระบวนการเอาผิดผู้กระทำ และเยียวยาผู้เสียหาย สังคมเริ่มตื่นและตระหนักกับ “ภัยความรุนแรง” ที่เกิดขึ้นต่อเด็ก มิได้มีเพียงในโรงเรียนดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดขึ้นในโรงเรียนอื่นๆ ตลอดจนเกิดขึ้นในบ้านและครอบครัว

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ดย.โดยบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัดทั่วประเทศ ได้เก็บข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรง เข้ามาใช้บริการบ้านพักเด็กฯประจำปี 2562 มีจำนวน 1,226 ราย พบสาระสำคัญคือ ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในครอบครัว ผู้กระทำส่วนใหญ่คือเครือญาติ ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมีแต่มีน้อย

เปิดสถิติบ้านพักเด็กฯปี 2562 พบ 3 ประเภทความรุนแรงที่เด็กไทยต้องเผชิญสูงสุด ดังนี้ 1.ความรุนแรงทางร่างกาย จำนวน 659 ราย ส่วนใหญ่เป็นกรณีเฆี่ยนตี รองลงมาคือล่ามโซ่ ทารุณกรรมด้วยเตารีด บุหรี่ 2.ความรุนแรงทางเพศ จำนวน 148 ราย ส่วนใหญ่เป็นข่มขืนกระทำชำเรา รองลงมาคืออนาจาร และ 3.ความรุนแรงทางจิตใจ จำนวน 140 ราย ส่วนใหญ่เป็นการใช้คำพูดรุนแรง ตั้งแต่การดุด่า พูดให้เจ็บช้ำน้ำใจ พูดเปรียบเทียบ เช่น ทำไมลูกคนนั้นเรียนดี แต่ทำไมลูกเราโง่

Advertisement

ส่วนความรุนแรงในโรงเรียน นางสุภัชชาระบุว่า มีจำนวน 15 ราย ส่วนใหญ่ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย เช่น เฆี่ยนตี การกระทำทางเพศ ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นครู รองลงมาคือพี่เลี้ยง และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน 

“จริงๆ ภาพรวมความรุนแรงในเชิงสถิติที่จัดเก็บโดยบ้านพักเด็กฯระยะหลังมีแนวโน้มลดลง อย่างข้อมูลที่จัดเก็บตามรอบปีงบประมาณ 2561 มีผู้เสียหายจากการกระทำความความรุนแรง จำนวน 3,640 ราย ปีงบ 2562 จำนวน 2,294 ราย และปีงบ 2563 จำนวน 1,914 ราย ตรงนี้อาจมีคำถามว่า แล้วทำไมเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงถึงปรากฏเป็นข่าวแทบทุกวัน จนบางคนอาจรู้สึกว่าพบมากกว่าในอดีต ตรงนี้ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า เพราะปัจจุบันคนไทยเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียได้ง่าย เจออะไรที่คิดว่าเป็นความรุนแรง ก็โพสต์ ก็แชร์ต่อ ต่างจากเมื่อก่อนที่เห็นแล้วก็อาจทำอะไรไม่ได้เท่านี้”

 

Advertisement
สุภัชชา สุทธิพล

กรมกิจการเด็กฯเตรียมทำงานเชิงรุกเรื่องความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ตั้งแต่การเพิ่มระบบการเฝ้าระวังและติดตามเด็กกลุ่มเสี่ยง ผ่านระบบแอพพลิเคชั่นแจ้งเหตุ ซึ่งเตรียมเปิดตัวทางการปลายปี 2563 นี้ ตลอดจนการให้บ้านพักเด็กฯทั่วประเทศมอนิเตอร์สื่อโซเชียลมีเดีย หากพบเคสก็รีบเข้าช่วยเหลือทันที พบเห็นเด็กถูกกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งข้อมูลมาที่อีเมล์ [email protected] หรือโทร 08-1847-6791 หรือบ้านพักเด็กและครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด และสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300

ขณะที่ แพทย์หญิง ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ชวนสังคมเรียนรู้จากบทเรียนโรงเรียนเอกชนชื่อดังว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แม้แต่ในโรงเรียน สิ่งที่คนไทยควรช่วยกัน ไม่ใช่การมุ่งโกรธเกลียดคนที่ใช้ความรุนแรง แต่ควรมุ่งไปที่การเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง เช่น ไม่ให้คนที่ไม่มีความพร้อมมาดูแลเด็ก สังเกตอาการเตือนว่าเด็กอาจได้รับความรุนแรงแล้วช่วยเหลือให้เร็ว

“เราควรช่วยทำให้ประเทศไทยไม่ตีเด็ก พ่อแม่ ครู ไม่ตีเด็ก ตรงนี้อาจมีคำถามกลับมาว่า ไม่ตีเด็กแล้วจะสอนอย่างไร เวลาเขามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในทางสุขภาพจิต เราสามารถปรับพฤติกรรมโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ โดยทำ 3 ขั้นตอน คือ 1.ตั้งกติกาที่ชัดเจนว่าอยากให้เด็กทำอะไร ไม่อยากให้เด็กทำอะไร 2.เสริมแรง เวลาที่เด็กมีพฤติกรรมดี เช่น เด็กนั่งเรียนในห้องด้วยความเรียบร้อย ครูก็ชมเด็กถึงพฤติกรรมนี้

และ 3.ลงโทษโดยไม่ใช้ความรุนแรงเมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ตัดสิทธิ ตัดคะแนน อย่างกรณีลูกเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บ ก็อาจลงโทษด้วยการบอกลูกว่าถ้าเล่นแล้วไม่เก็บ ครั้งหน้าจะไม่ได้เล่น ต้องรออีกกี่วันถึงจะได้เล่นอีกครั้ง ตรงนี้เด็กก็จะได้เรียนรู้แล้ว แต่ถ้าเดินไปถึงเห็นเด็กไม่เก็บของเล่นก็ตีเด็กเลย ก็สะท้อนว่าผู้ดูแลยังไม่เข้าใจพฤติกรรมเด็กและปรับพฤติกรรมเด็กไม่เหมาะสม”

ในแวดวงสุขภาพจิตเอง ไม่ได้ถึงขั้นมีข้อกำหนดว่าห้ามตีเด็ก ผู้เชี่ยวชาญบางท่านยังเห็นว่าสามารถตีได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล มักใช้ในกรณีที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น เช่น เด็กวิ่งออกไปถนน และต้องตีให้ถูกวิธี กฎข้อแรกที่ต้องทำก่อนตี คือ ต้องไม่โกรธเวลาตี ซึ่งส่วนมากผู้ใหญ่ที่ตีเด็กจะไม่ผ่านข้อนี้ การตีจึงมักเป็นไปเพื่อระบายความโกรธ ไม่ใช่ตีเพื่อการสั่งสอนเหมือนในอดีต กฎข้อที่สองคือ ต้องคุยกับเด็ก บอกเหตุผลของการตี ตกลงกันว่าจะตีกี่ที และกฎข้อที่สามคือต้องใช้วัสดุที่เหมาะสม ไม่ใช้วัสดุที่จะทำให้เด็กบาดเจ็บรุนแรง แต่โดยรวมแล้ว คุณหมอดุษฎีก็ไม่อยากให้ลงโทษด้วยการตีอยู่ดี เพราะยังมีวิธีลงโทษเด็กที่ได้ผลโดยไม่ใช้ความรุนแรงอีกหลายวิธี

แพทย์หญิง ดุษฎี กล่าวอีกว่า ความรุนแรงทางใจเป็นอีกเรื่องที่น่าห่วง อย่างคำพูดตำหนิต่อว่ารุนแรง เหยียดหยาม ขู่ว่าจะทอดทิ้งไม่ดูแล จะทำให้เด็กรู้สึกถูกละเลย หวาดกลัว ไม่มั่นใจว่าพ่อแม่หรือครูจะดูแลต่อหรือไม่ จะทิ้งบาดแผลทางใจเด็ก ซึ่งรักษาไม่ง่าย ต้องใช้ความรักอ้อมกอดของพ่อแม่ในการเยียวยา

คุณหมอชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมาพูด “ภาษาฉัน” แทนการพูด “ภาษาแก” เพื่อไม่ทำร้ายจิตใจเด็ก เช่น เวลาเด็กต่อต้านไม่ทำตามคำสั่ง พ่อแม่อาจขู่ว่าไม่รักแล้ว แกไม่น่าเกิดมาเป็นลูกเลย รู้งี้เอาขี้เถายัดปากตั้งแต่เด็ก ลองเปลี่ยนเป็น แม่ไม่ชอบที่หนูไม่ทำตามที่แม่บอก พ่อไม่ชอบที่หนูกลับบ้านมาเปิดทีวีดูก่อนทำการบ้าน

ส่วนการพูดเปรียบเทียบเด็ก คุณหมอบอกว่า พ่อแม่มักพูดประโยคนี้ใน 2 ลักษณะคือ 1.พูดเพราะผิดหวัง ทำให้บั่นทอนกำลังใจลูก ซึ่งอาจมีจุดเด่นในเรื่องอื่น แต่ไม่ใช่เรื่องที่พ่อแม่คาดหวังไว้ คุณหมอชวนพ่อแม่ผู้ปกครองปรับความคิดว่า การที่ลูกไม่เก่งเรื่องนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เก่งอะไรเลย เด็กทุกคนมีจุดเด่นในตัวเอง และต้องการกำลังใจจากพ่อแม่ มากกว่าการตำหนิหรือเปรียบเทียบ และ 2.อยากท้าทายให้เด็กมีแรงฮึด ตรงนี้อาจทำให้เด็กฮึดหรือเหี่ยวไปเลย เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กคนไหนฟังแล้วจะฮึดสู้ หรือจะท้อแท้ห่อเหี่ยว

“จริงๆ หากพูดเสริมแรงด้วยการชื่นชมลูกในส่วนที่เขาทำได้ดี จะทำให้เด็กมีแรงฮึดไม่มีเหี่ยว หากชมเด็ก เชื่อในตัวเด็ก เด็กจะรับรู้ว่าพ่อแม่ไว้ใจ เชื่อใจเขา เขาก็จะทำออกมาได้ดี เหมือนเราที่อยากให้คนที่เรารักมองเราในแง่ดี”

แพทย์หญิง ดุษฎี กล่าวอีกว่า แม้บางครอบครัวอาจเผลอใช้ความรุนแรงไปแล้ว แต่หมออยากบอกว่าเราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ไม่มีใครเป็นพ่อและแม่ที่ดีที่สุดในโลกให้ลูกเราได้เท่าเราอีกแล้ว เด็กต้องการพ่อแม่ที่ให้ความรักความอบอุ่น คุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการกลับไปกอดและหอมลูก บอกลูกว่าพ่อแม่รักเค้าแค่ไหน หากเป็นไปได้ ก็ขอโทษที่เคยทำไม่ดี ต่อไปนี้พ่อแม่จะตั้งใจใหม่ จะไม่ตีหนูแรงๆ อีก แล้วตกลงกัน ว่าอะไรที่พ่อแม่ไม่ชอบไม่อยากให้ทำ หนูทำอย่างนี้ได้ไหม ต้องตกลงร่วมกัน และไม่ใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ดี หากเด็กมีพฤติกรรม อารมณ์ หรือพัฒนาการต่างจากเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถขอคำปรึกษาที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ หรือคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศ หรือโทรหาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และติดตามเพจเฟซบุ๊กที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตของครอบครัว อาทิ เพจบ้าน-พลัง-ใจ, เลี้ยงลูกนอกบ้าน, เข็นลูกขึ้นภูเขา ฯลฯ’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image