วัยเด็กกับเพศศึกษา กว่าจะรู้เดียงสา ก็สายเสียแล้ว

วัยเด็กกับเพศศึกษา กว่าจะรู้เดียงสา ก็สายเสียแล้ว

เพราะเชื่อว่าไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็น “อาชญากร” เลย แต่เพราะอยู่ท่ามกลางความไม่รู้ ไม่มีใครสอนสิ่งที่ถูกต้อง จึงได้หล่อหลอมคนคนหนึ่งให้กลายเป็นอาชญากรในที่สุด ประเด็นให้ฉุกคิดในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ร่างกายของฉัน ฉันดูแลได้” ณ บีทูเอส ธิงค์สเปซ เซ็นทรัลเวิลด์

ซินดี้-สิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ นางแบบและพิธีกร ซึ่งเขียนหนังสือร่างกายของฉัน ฉันดูแลได้ เล่าว่า ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูก ที่ผ่านมาอาจเน้นหนักเรื่องความปลอดภัยด้านอุบัติเหตุ แต่กับความปลอดภัยบางเรื่อง เช่น สิทธิเนื้อตัวร่างกาย การเอาตัวรอดจากสถานการณ์ไม่ปลอดภัยทางเพศ เป็นสิ่งที่พ่อแม่อาจมองข้ามไป จะด้วยเพราะไม่กล้าคุยกับลูก กลัวลูกจะรู้เดียงสาเร็วเกินไป จริงๆ พ่อแม่ควรมองกลับว่า นี่คือธรรมชาติที่เราควรบอกสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าสงสัยก็ตอบ ดีกว่าให้เขาไปหาคำตอบเอง เช่น อินเตอร์เน็ต ซึ่งจะน่ากังวลมาก

ซินดี้ตั้งคำถามไปที่สื่อการเรียนการสอนปัจจุบัน ยังไม่ถูกใจเธอเท่าที่ควร ยกตัวอย่างไดอะแกรมร่างกายมนุษย์สอนในวัยเด็ก มีบอกชื่อทุกอวัยวะ แต่เว้นว่างชื่อของสงวน สอดคล้องกับผลศึกษาตำราเรียนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่พบว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมีปัญหา ยังผลิตภาพซ้ำแนวคิดชายเป็นใหญ่ เช่น ผู้หญิงต้องไม่แต่งตัวโป๊ เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดทางเพศได้ อีกทั้งยังกดทับคนหลากหลายทางเพศ

ซินดี้-สิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพฟ

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เล่าว่า มูลนิธิทำงานช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง เราพบแนวโน้มที่เด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากขึ้น ถือเป็นปัญหาความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในบ้านและโรงเรียน ที่มาจากรากคิดชายเป็นใหญ่ ที่เราอาจพร่ำสอนกันมารุ่นต่อรุ่นโดยไม่รู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ผิด ฉะนั้นอยากให้มีการปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้อง และมีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม สามารถปลูกฝังทางความคิดการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย หรือทำให้คนเคารพกัน บ่มเพาะกันตั้งแต่ปฐมวัย

Advertisement

ด้าน ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งคลุกคลีกับการซ่อมแซมเยาวชนที่เคยทำผิดพลาด เล่าว่า จากการทำงานกับเด็กที่ต้องคดีข่มขืน พบว่าแท้จริงตัวตนของเขาไม่ใช่ซาตาน แต่เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ ความเข้าใจที่คิดว่าผู้ชายสามารถทำได้ แต่พอเขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ได้เพิ่มทักษะชีวิตแล้ว เขาก็รู้สึกอายและอยากขอโทษกับการกระทำที่ผ่านมา ตรงนี้ก็มีคำถามกลับว่า จริงๆ แล้วอาจเพราะผู้ใหญ่อย่างเราไม่สอนให้เขารู้ในสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่แรกรึเปล่า เพราะเราไม่คุยเรื่องเพศกันตั้งแต่เด็ก เขาจึงไม่รู้สิทธิของเขา ไม่รู้ว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร เหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นเลยในตำราเรียนที่เขียนโดย ศธ.และใช้สอนอยู่ในปัจจุบัน

เปิดหนังสือร่างกายของฉัน ฉันดูแลได้ ภายในนำเสนอเนื้อหาผ่านตัวการ์ตูน เหมาะกับเด็กวัย 5 ขวบขึ้นไป แนะนำให้เด็กเรียนรู้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่ควรปกปิด การสัมผัสดี สัมผัสไม่ดี การขออนุญาตและความยินยอม การปฏิเสธ ตลอดจนคู่มือพ่อแม่และเกมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กับครอบครัว

ร่างกายของฉัน ฉันดูแลได้
ร่างกายของฉัน ฉันดูแลได้

อย่างสัญญาณอันตราย เช่น มีคนที่เราไม่รู้จักให้อมยิ้ม, ผู้ใหญ่ชวนเล่มเกม แต่บอกเราห้ามบอกใคร, เพื่อนเปิดคลิปวิดีโอที่มีคนไม่ใส่เสื้อผ้าให้เราดู หรือการสัมผัสไม่ดี ให้สังเกตจากสัมผัสที่ทำให้เราเจ็บ สัมผัสที่เราไม่ยินยอม สัมผัสของสงวนของเรา หากถูกสัมผัสไม่ดีให้ตอบโต้ด้วยคำพูด “อย่า-หยุด” หรือเดินหนี และบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ

อย่าปล่อยให้เด็กรู้ ก็สายเสียแล้ว

ซินดี้-สิรินยา และลูกๆ
ซินดี้-สิรินยา และลูกๆ
จะเด็จ เชาวน์วิไล
ทิชา ณ นคร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image