หลากแง่มุม “ภัยรอบตัวเด็ก” ถึงเวลาแอพพ์ ‘คุ้มครองเด็ก’

หลากแง่มุม “ภัยรอบตัวเด็ก” ถึงเวลาแอพพ์ ‘คุ้มครองเด็ก’

ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กหลายคน ก็มีเสียงร้องไห้และคราบน้ำตาจากเด็กอีกหลายคน กำลังเผชิญทุกข์แสนสาหัส รอคอยความช่วยเหลือ หลากแง่มุมในเสวนาการคุ้มครองเด็กในยุคดิจิทัล ในงานเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “คุ้มครองเด็ก” จัดโดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ อาคาร CW Tower ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

เริ่มที่ ภัยใกล้ตัวเด็กไทยตอนนี้คือ ภัยออนไลน์ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล่าว่า ระยะหลังพบเด็กถูกกระทำมากขึ้น ไม่ใช่แค่ความรุนแรงทางร่างกาย แต่เป็นภัยออนไลน์ โดยเฉพาะภาพและคลิปโป๊อนาจารเด็ก ซึ่งพบหลายเคสเป็นลักษณะหลอกเชิญชวนเด็ก ให้ถ่ายรูปและคลิปของสงวนมา จูงใจด้วยเงิน เมื่อเด็กถ่ายส่งไปก็ถูกแบล็กเมล์ภายหลัง มีทั้งการเอาไปขายในกลุ่มลับที่ต้องเสียเงินค่าสมาชิกก่อนเข้า การขู่กรรโชกต่างๆ จนนำไปสู่การละเมิดทางเพศเด็ก

  “แต่ละปีจะมีภาพและคลิปโป๊เด็กเข้าไปในระบบออนไลน์เป็นล้านๆ ไฟล์ จริงๆ ตำรวจบันทึกไว้หมด ใครโพสต์ โพสต์อะไร อย่างโพสต์ที่ตำรวจจะจับตา เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและเอาผิดคือ โพสต์ที่เกี่ยวกับเด็ก เป็นการโพสต์ซ้ำๆ โพสต์ที่แชร์ต่อเยอะ แต่จริงๆ ตำรวจเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้หมด” พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์กล่าว

พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย
เสวนา

ขณะที่ แพทย์หญิงโชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เล่าว่า เด็กและเยาวชนต่างได้รับผลกระทบจากการถูกกระทำแตกต่างกันไป อย่างเด็กที่ถูกละเมิดหรือล่วงเกิน จะด้วยความรุนแรงทางด้านร่างกาย หรือการละเมิดทางเพศ ผลศึกษาชี้ว่าเด็กจะเติบโตและมีโรคที่สัมพันธ์กับจิตใจมากกว่าคนทั่วไป เช่น ไมเกรน โรคหัวใจ ส่วนการลงโทษเกินกว่าเหตุ ก็ทำให้เด็กเติบโตไปด้วยความรู้สึกไร้คุณค่า ส่งผลให้เด็กมีโอกาสเข้าไปพัวพันเรื่องเพศ ยาเสพติด และพฤติกรรมไม่เหมาะสม มากกว่าเด็กทั่วไป

Advertisement

“ต้องบอกว่าสมองของเราจะฝั่งความจำ ฉะนั้นหากในสมองมีภาพจำที่ไม่ดี โดยเฉพาะกับเด็กที่ถูกกระทำ จะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่น้อยกว่าเด็กทั่วไป อีกทั้งมีโอกาสไปก่อคดีมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน ฉะนั้นอยากฝากถึงผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังเด็ก ตระหนักถึงสิทธิเด็ก” แพทย์หญิงโชษิตา

ส่วน วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สิทธิเด็ก ซึ่งทำงานคุ้มครองเด็กมากว่า 31 ปี เล่าว่า บทบาทของพ่อแม่สำคัญมากต่อเด็ก จากการทำงานช่วยเหลือเด็ก ดิฉันพบว่าหากเด็กได้เติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง เด็กจะเติบโตมาไม่มีปัญหา ขณะที่เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง เมื่อย้อนดู 2 ปีหลังเกิดเหตุ พบว่าล้วนแต่ถูกเลี้ยงดูอย่างไม่ได้มาตรฐาน ฉะนั้นอยากฝากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ส่งเสริมการรู้บทบาทครอบครัว เพื่อจะลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก

วาสนาเล่าถึงการช่วยเหลือเด็กที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ถูกส่งต่อเคสมาจากโรงพยาบาล ฉะนั้นจึงยินดีมากหากมีการเฝ้าระวังและได้ช่วยเหลือจากต้นน้ำจริงๆ คือ การแจ้งขอความช่วยเหลือจากแอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก เธอยังเชื่อว่าหาก ดย.สร้างการรับรู้แก่สังคมจนเข้าใจ เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่และแนวร่วมให้พร้อมปฏิบัติงาน จะเป็นคุณต่อเด็กและเยาวชนไทยอย่างมาก ก่อนชื่นชมว่า “เป็นการเปิดตัวในช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก เพราะตอนนี้พนักงานและเจ้าหน้าด้านคุ้มครองเด็ก มีความพร้อมแล้ว”

Advertisement
แพทย์หญิงโชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ
วาสนา เก้านพรัตน์

ปิดท้ายด้วย สุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรม ดย. เล่าว่า แอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็กเป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนเชิงรุก ด้วยการเปิดโอกาสให้ตัวเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำ หรือผู้พบเห็นเด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือมาได้ ทั้งกรณีความรุนแรงทางร่างกาย ถูกละเมิดทางเพศ เด็กและเยาวชนถูกแสวงหาผลประโยชน์ เช่น นำมาประกอบอาชีพเสี่ยง อย่างเด็กขายพวงมาลัยตามสี่แยก เด็กมาขอทาน เป็นต้น ตลอดจนเด็กที่อยู่ในภาวะยากจนและยากลำบาก

อธิบดี ดย.อธิบายการใช้งานหลังดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก เพียงลงทะเบียนเข้าใช้งาน เมื่อลงทะเบียนเสร็จสามารถแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือได้ทันที โดยสามารถกรอกรายละเอียด พร้อมปักหมุดสถานที่เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าไปช่วยเหลือ และอัพโหลดรูปภาพหรือคลิปวีดิโอได้ จากนั้นเรื่องก็จะส่งไปยังเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกรม ดย. 107 หน่วยทั่วประเทศ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัด จะลงพื้นที่ไปช่วยเหลือภายใน 24 ชั่วโมง

  “มีฟีเจอร์ที่ให้ผู้แจ้งสามารถดูได้ว่า เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการในขั้นตอนไหน เพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ขณะที่ผู้แจ้งเหตุโดยสุจริต จะไม่มีความผิดทางกฎหมาย ฉะนั้นขอเชิญชวนคนไทยไม่นิ่งเฉย ด้วยการมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายคุ้มครองเด็ก พบเห็นเหตุสามารถแจ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง” สุภัชชากล่าวทิ้งท้าย

แอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก
แอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก
แอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก
แอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก
แอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image