สุดปัง! นวัตกรรมสุขภาพ ไอเดีย “คนรุ่นใหม่”

นวัตกรรมสุขภาพ

สุดปัง! นวัตกรรมสุขภาพ ไอเดีย “คนรุ่นใหม่”

เพราะปัญหาสุขภาพและสุขภาวะคนไทย นับวันจะยิ่งซับซ้อนขึ้น วิธีการแก้ปัญหาเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป จึงต้องระดมความคิดจากคนรุ่นใหม่กับ โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ: THAIHEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 3 ได้มาถึงวันพิธีประกาศผลรางวัล จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิวายไอวาย และภาคีเครือข่าย ณ สำนักงาน สสส. ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. เล่าว่า 20 กว่าปี สสส.ทำงานสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะคนไทยมาเยอะ แต่ยังมีจุดตีบตัน จึงต้องหาอะไรใหม่ๆ มาช่วยทะลุทะลวง ทั้งนี้ โครงการในปีนี้จัดประกวดในหัวข้อ “ชีวิตดีเริ่มที่เรา” ในการหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านส่งเสริมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ลดพฤติกรรมอันตรายต่อสุขภาพ ลดละเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ อุบัติเหตุบนท้องถนน ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สุขภาวะทางเพศ ตลอดจนชีวิตวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล

โครงการเปิดให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ส่งนวัตกรรมเข้าประกวด มีนักเรียนทั่วประเทศสนใจและส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 319 ทีม จากนั้นคัดเลือกให้เหลือ 20 ทีม แบ่งระดับชั้นละ 10 ทีม ก่อนเชิญมาเวิร์กช็อปกับผู้เชี่ยวชาญและให้แต่ละทีมกลับไปพัฒนาผลงาน จนได้ 20 นวัตกรรมเจ๋งๆ

ผลงานคว้ารางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา “Real Time Exercise Game by Instagram Filter” ผลงานสุดเก๋ของ 3 สาว นักเรียน ม.5 โรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี เป็นฟิลเตอร์ในอินสตาแกรม ชวนคนขยับร่างกาย ถูกใจคนรุ่นใหม่ทั้งไทยและเทศเข้าถึง 5 ล้านยูสเซอร์แล้ว

Advertisement

น.ส.เมติยา เชื้อจั่น พร้อมด้วย น.ส.ภัทรสิริ ศิริเธียรวานิชกุล และ น.ส.ณัฐณิชา เลิศกิจเจริญผล เล่าร่วมกันว่า ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่หลายคนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งดูหน้าจอ ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และทำงาน นั่งๆ นอนจนร่างกายแทบไม่เกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย เราจึงพัฒนาฟิลเตอร์ในอินสตาแกรม 4 รูปแบบ อย่างฟิลเตอร์ที่กำลังฮิตคือ ฟิลเตอร์ชวนยืดเหยียดตามเส้นที่ออกแบบท่าทางไว้ สร้างความท้าทายด้วยเสียงเพลงประกอบ และความสนุกที่เล่นได้มากกว่า 2 คนขึ้นไป ก่อนประมวลภาพความประทับใจไว้ให้แชร์ต่อ

ฟิลเตอร์อินสตาแกรม ชวนคนขยับร่างกาย
ฟิลเตอร์อินสตาแกรม ชวนคนขยับร่างกาย
3 สาว นักเรียน ม.5 โรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี

สนใจเข้าไปที่ไอจี “16youngjaew” กดเลือกฟิลเตอร์แล้วขยับร่างกายได้เลย

ขณะที่ ผลงาน “อุปกรณ์เตือนภัยขาตั้งสำหรับรถจักรยานยนต์ 1 ได้ถึง 3 (ขาตั้งสติแตก)” คว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงานของ นักเรียนทีม IF โรงเรียนวังโพรงพิทยาคม จ.ชลบุรี นวัตกรรมที่ใส่ใจสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่สามารถสร้างผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิต เพียงเพราะลืมยกขาตั้ง!!

Advertisement

นายกิตติธัช จันทร์ขอม พร้อมด้วย นายพงศกร คำจันดา นักเรียนชั้น ม.6 และ น.ส.ศิรินทรา ศรีประสงค์ นักเรียนชั้น ม.4 เล่าร่วมกันว่า นวัตกรรมนี้จะตอบโจทย์คนต่างจังหวัดอย่างมาก ที่ร้อยละ 80 จะเลือกขับมอเตอร์ไซค์เกียร์ธรรมดา ซึ่งไม่มีระบบเตือนหรือตัดการสตาร์ต เวลาลืมยกขาตั้ง ทำให้ขับไปเจอคนตะโกนเตือนเสียงดังใส่ หรือไปประสบอุบัติเหตุบ้าง จึงคิดค้นนวัตกรรมคล้ายแท่งแคปซูลติดเสริมข้างขาตั้ง ภายในอุปกรณ์มีสวิตช์ปรอททำหน้าที่วัดความเอียง ใช้พลังงานจากถ่านกระดุม ซึ่งเพียงคนขับคร่อมมอเตอร์ไซค์ตรงๆ ระบบก็จะเตือนทั้งเสียงและแสงไฟทันที

ทีม IF การันตีความแม่นยำการแจ้งเตือน ที่สำคัญยังทนต่อแรงกระแทก และกันน้ำได้ เตรียมวางขายในอนาคต ราคาประมาณ 149 บาท

ทีม IF โรงเรียนวังโพรงพิทยาคม จ.ชลบุรี
ขาตั้งสติแตก
ขาตั้งสติแตก

ส่วนผลงาน “FIFO light นวัตกรรมในซอยแคบ” คว้ารางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา ผลงานของ 2 นักเรียน ปวช. ปีที่ 3 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา จ.สงขลา ก็เจ๋งไม่แพ้กัน

นายธนดล ศรีเพชร และ นายภูมิพัฒน์ คงหนู เล่าร่วมกันว่า ตามชุมชนมักจะมีซอยแคบๆ รถยนต์ขับได้เลนเดียว รถอีกฝั่งต้องระวังและรอ แต่ปัญหาที่พบคือ รถแต่ละฝั่งมักจะไม่รอกัน ต่างคนต่างก็อยากไป ทำให้รถยิ่งติดในซอย และเกิดการทะเลาะวิวาทตามมา ทั้งนี้ บางซอยเล็กๆ อาจมีเจ้าหน้าที่จราจร หรืออาสาจราจรมาช่วยโบก แต่หลายซอยไม่มี เราจึงคิดค้นนวัตกรรมที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์และไฟจราจร ที่คอยส่งสัญญาณให้รถยนต์แต่ละฝั่งสามารถสัญจรได้

หลักการทำงานของนวัตกรรมนี้คือ การตั้งเซ็นเซอร์และไฟจราจรที่หัวและท้ายซอย หัวใจสำคัญคือการเขียนโปรแกรมให้สอดคล้องสภาพจราจรในชุมชนนั้นๆ ยกตัวอย่างชุมชนนี้ช่วงเช้าขาออกรถมาก ก็จะกำหนดเวลาไฟเขียวมากกว่าขาเข้า เช่น ขาออกไฟเขียว 3-5 นาที ขาเข้าไฟเขียว 1-2 นาที โดยจะมีเซ็นเซอร์คอยดูว่ารถยนต์วิ่งต่อกันในระยะที่กำหนดหรือไม่ หากไม่ต่อกันระบบก็จะเปลี่ยนให้อีกฝั่งวิ่งได้

นักเรียน ปวช. ปีที่ 3 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา จ.สงขลา
FIFO light นวัตกรรมในซอยแคบ
โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ: THAIHEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 3

ไอเดียของคนรุ่นใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image