เด็กและสตรี 5 จว.ใต้ ยังน่าห่วง!! ขาดโภชนาการ-เรียนต่อมัธยมฯต่ำ

เด็กใต้

เด็กและสตรี 5 จว.ใต้ ยังน่าห่วง!! ขาดโภชนาการ-เรียนต่อมัธยมฯต่ำ

แม้จะทราบดีว่าสถานการณ์ภาคใต้จะไม่สู้ดีเรื่องความมั่นคง แต่ผลสำรวจล่าสุดก็สะท้อนให้เห็นว่า หลายๆ เรื่องดีขึ้นตามลำดับ แต่อีกหลายๆ เรื่องก็แย่ลง เป็นการบ้านให้ทุกองค์กร ไม่เพียงหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าภาพ เข้าไปแก้ไขปัญหา

สะท้อนอย่างน่าสนใจ ในงานเปิดผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีทั่วประเทศไทย หรือ MICS 6 ซึ่งสำรวจเจาะลึก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูล จัดโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ ยูนิเซฟ ประเทศไทย

โดย นางคิม คยองซัน ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลนี้จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่แสดงให้เห็นว่าความเป็นอยู่ของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้มีความก้าวหน้าขึ้นในหลายมิติ แต่ในขณะเดียวกัน ก็พบว่ายังมีเด็กอีกจำนวนมากในจังหวัดชายแดนใต้ ที่กำลังเผชิญกับภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายตามมา อีกทั้งยังเข้าไม่ถึงการศึกษา ขาดทักษะและทรัพยากร ซึ่งฉุดรั้งให้พวกเขาตามไม่ทันเด็กๆ ในพื้นที่อื่น นี่ไม่ได้เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น แต่อาจส่งผลไปตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา

“จริงๆ การสำรวจนี้จัดทำขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้จึงยิ่งน่าเป็นห่วง ฉะนั้น อยากให้เราร่วมมือกันเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้เด็กๆ ที่เปราะบางที่สุด ได้เติบโตขึ้นและมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากที่ใด” นางคิมกล่าว

Advertisement

จากนั้น นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวถึงผลสำรวจว่า ผลสำรวจได้แสดงแนวโน้มเชิงบวก ด้านความเป็นอยู่ของเด็กในชายแดนภาคใต้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งสำคัญมากต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก โดยพบว่า ครัวเรือนที่มีเด็กในจังหวัดสตูล ยะลา และนราธิวาส มากกว่าร้อยละ 90 บริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 85

เด็กใต้

ในมิติครอบครัว เด็กจังหวัดชายแดนใต้มีแนวโน้มดีกว่าเด็กภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ โดยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ เพียงร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15 เท่านั้นที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่ร้อยละ 24 รวมถึงสิ่งที่เคยเป็นข้อกังวลของเด็กจังหวัดชายแดนใต้ อย่าง “อัตราการมีบุตรของวัยรุ่น” พบว่าลดลงในทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนที่จังหวัดสงขลา สตูล และยะลา พบแนวโน้มการอบรมเด็กด้วยวิธีรุนแรงลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 แตกต่างกับจังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดยะลา ที่เด็กยังถูกอบรมโดยวิธีรุนแรงร้อยละ 25 ขณะที่จังหวัดนราธิวาส ยังสูงถึงร้อยละ 89

ผลสำรวจได้พบเรื่องน่ากังวล นางสาววันเพ็ญกล่าวอีกว่า พบว่าเด็กๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นกลุ่มที่มีปัญหาทุพโภชนาการมากที่สุดในประเทศ ซึ่งส่งผลเสียต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว โดยผลสำรวจพบว่า ประมาณร้อยละ 23 ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กำลังเผชิญกับภาวะเตี้ยแคระแกร็น หรือมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 13 เกือบสองเท่า

Advertisement

“จังหวัดนราธิวาสมีความน่ากังวลสูง ผลสำรวจพบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีภาวะผอมแห้งสูงสุดถึงร้อยละ 16 เทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศที่ไม่ถึงร้อยละ 8 อีกทั้งพบอัตราการได้รับวัคซีนของเด็กต่ำที่สุด อย่างเด็กอายุ 1 ปี ไม่ได้ภูมิคุ้มกันเกือบครึ่งหนึ่ง ต่างจากเด็กทั่วประเทศในวัยเดียวกันที่ได้วัคซีน ร้อยละ 82 ตลอดจนหนังสือที่เหมาะสมสำหรับเด็ก 3 เล่มในบ้าน ก็มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น เทียบกับค่าเฉลี่ยระดับประเทศที่ร้อยละ 34 และค่าเฉลี่ยจังหวัดชายแดนใต้ ประมาณร้อยละ 27”

นางคิม คยองซัน ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

เริ่มต้นวัยแห่งการเรียนรู้ก็กระท่อนกระแท่นแล้ว จึงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องเมื่อเจริญวัย โดยผลสำรวจพบเด็กในจังหวัดชายแดนใต้เกือบทุกคนเข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษา แต่ส่วนใหญ่ยังคงขาดทักษะขั้นพื้นฐานที่จำเป็น อย่างเด็กอายุ 7-8 ปีเพียงร้อยละ 18 ถึงร้อยละ 36 ในจังหวัดนราธิวาส สงขลา ปัตตานี และยะลา เท่านั้นที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน

ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่ร้อยละ 52 ในด้านการคำนวณขั้นพื้นฐานก็เช่นกัน มีเด็กอายุ 7-8 ปีเพียงร้อยละ 32 ในจังหวัดยะลา และเพียงร้อยละ 12 ในจังหวัดปัตตานีเท่านั้นที่มีทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 47

นางสาววันเพ็ญกล่าวทิ้งท้ายว่า ผลสำรวจยังพบเด็กที่ไม่ได้เรียนในระดับมัธยม สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก อย่างในจังหวัดนราธิวาส สงขลา ปัตตานี และสตูล มีเด็กวัยมัธยมศึกษาตอนต้นประมาณ ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 8 ที่ไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 3 ปัญหานี้รุนแรงขึ้นในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีเด็กวัยมัธยมปลายถึงร้อยละ 19 ในจังหวัดปัตตานี, ร้อยละ 22 ในจังหวัดสงขลา และร้อยละ 36 ในจังหวัดนราธิวาส ที่ไม่ได้เข้าเรียน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 18

นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image