อยู่บ้าน ใช้เสียงให้เป็นประโยชน์ ‘เล่านิทาน’ ให้ ‘น้องพิการสายตา’ ฟัง

อยู่บ้าน ใช้เสียงให้เป็นประโยชน์ ‘เล่านิทาน’ ให้ ‘น้องพิการสายตา’ ฟัง

เพราะการได้ยินเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่ “ผู้พิการทางสายตา” ใช้ทดแทนการมองเห็น ดังนั้น ‘เสียง’ จึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จึงได้จัดทำ “โครงการหนังสือนิทานเสียง UOB Voice of Love” ชวนพนักงานในองค์กรผู้มีจิตอาสามาร่วมส่งเสียง อ่านเรื่องราว เสริมด้วยเสียงประกอบและดนตรีในเนื้อเรื่องเพื่อสร้างความน่าสนใจ ร้อยเป็นนิทานเสียงจำนวน 100 เรื่อง ในหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อส่งต่อเป็นของขวัญให้เด็กๆ ผู้พิการทางสายตาช่วงอนุบาลและประถมวัยทั่วประเทศรวม 12 โรงเรียน และบรรจุเข้าห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ

โดยก่อนที่จะลงมือส่งเสียงเล่าก็ต้องเทรนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่านิทานกันเสียก่อน นำทีมโดย ศิรเมศร์ อัครภากุลเศรษฐ์ วอยซ์ เทรนเนอร์ พร้อมด้วย ทัพอนันต์ ธนาตุลยวัฒน์ และณิชา รอดอนันต์ นักแสดง นักเล่านิทาน ซึ่งแบ่งปัน ‘ศาสตร์และศิลป์ในการอ่านนิทานเสียงที่สุขใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง’ ไว้ 5 ข้อดังนี้

Advertisement

1.การเลือกนิทาน ควรคัดสรรเนื้อหาของนิทานให้เหมาะกับวัยของผู้ฟัง ซึ่งนิทานสำหรับเด็กเล็กควรมีเนื้อหาที่ส่งเสริมจินตนาการ ความรู้ และคุณธรรม จากนั้นให้เลือก ‘เรื่องที่อยากจะเล่า’ เพราะจะทำให้เพลิดเพลินไปกับการอ่านนิทานเสียง

2.การเตรียมเล่าเรื่อง เริ่มต้นจากการอ่านนิทานทั้งเรื่องเสียก่อน เพื่อทำความเข้าใจตัวละครแต่ละตัว ในนิทาน หาภาพรวมหรือคีย์เวิร์ดสำคัญของเรื่องว่ามีโทนแบบใด อาทิ หวาดกลัว รัก หงุดหงิด หรือกล้าหาญ จะช่วยให้สามารถกำหนดอารมณ์และน้ำเสียงของเรื่องได้ชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญอย่าลืมสร้างคาแรกเตอร์ พร้อมกับการกำหนดจังหวะการพูดของตัวละครแต่ละตัวให้แตกต่างกัน เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะอัดเสียง

Advertisement
จิตอาสาเล่านิทานเข้ารับการเทรน

3.การเตรียมความพร้อม ผู้เล่าควรทำการวอร์มร่างกาย ฝึก ‘การหายใจและวอร์มลิ้น’ เพื่อให้มีการหายใจที่เป็นธรรมชาติ ไม่กลั้นหายใจนานจนเกินไป รวมถึงลิ้นจะได้ไม่แข็งในขณะที่อ่านนิทาน ด้วยการฝึกกระดกลิ้น อ้าปากกว้างๆ แล้วออกเสียง a i e o u พร้อมขยับกล้ามเนื้อใบหน้าให้มากกว่าปกติ ด้านอุปกรณ์ก็ควรเตรียมให้พร้อม ทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์อัดเสียงของตัวเองว่ามีโปรแกรมใด ใช้งานอย่างไร ควรถือหรือวางอุปกรณ์อัดเสียงให้ห่างจากปากของเราเท่าใด เพราะแต่ละคนมีเสียงที่เบา ดัง หนา หรือบางไม่เท่ากัน จึงควรหาระยะที่เหมาะสมของตนเอง

4.การอัดเสียง ควรอัดเสียงในพื้นที่เงียบ เสียงไม่ก้อง ‘ออกเสียงให้ชัดถ้อยชัดคำ’ อ่านไปอย่างที่ซ้อม ใช้จังหวะการพูดที่แตกต่างกัน ช้า เร็ว ใช้โทนเสียงสูงและต่ำตามคาแรกเตอร์ของตัวละครที่ได้กำหนดไว้ และอ่านโดยแบ่งวรรคตอนตามธรรมชาติจนจบเรื่อง หัวใจสำคัญคือ…จงสนุกไปกับนิทาน คนฟังก็จะสนุกไปด้วย

จิตอาสาเล่านิทานเข้ารับการเทรน

5.การเพิ่มความโปร อย่ากลัวว่าจะทำได้ไม่ดี คนไทยล้วนมีพื้นฐานการเล่านิทาน และเสียงของภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ ทำให้น่าฟังโดยธรรมชาติอยู่แล้ว นอกจากนี้ ‘การขยับร่างกายไปตามเรื่องราวในนิทาน’ ช่วยเพิ่มความสนุกในการเล่า และทำให้ออกเสียงได้ดียิ่งขึ้น

จิราพร พนมสวย ครูสอนศิลปะ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กล่าวว่า ในชั่วโมงศิลปะหลังจากที่ได้ฟังนิทานเสียง เด็กๆ ต่างชื่นชอบสัตว์ที่ได้ยินในนิทานแล้วใช้จินตนาการปั้นรูปสัตว์ที่ตนชอบจากการฟังนิทานด้วยเป็นการอธิบายความคิด แบ่งปันความรู้สึกให้เพื่อนๆ ได้ฟัง ทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

ความรักที่มากกว่าสายตาจะมองเห็น

จิตอาสาเล่านิทานเข้ารับการเทรน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image