‘บ้านนกขมิ้น’ ดิ้นรนสู้สุดแรง ‘โควิด’ ทำคนบริจาค ‘ลดฮวบ!’

บ้านนกขมิ้น

‘บ้านนกขมิ้น’ ดิ้นรนสู้สุดแรง “โควิด” ทำคนบริจาค “ลดฮวบ!”

“มันไม่เหมือนโควิดรอบแรก แม้จะระบาดเดือนมีนาคมเหมือนกัน แต่ตอนนั้นคนยังพอมีกำลังอยู่ ยังมีเงินเก็บ แต่ตอนนี้ระลอก 3 หลายคนตกงาน ธุรกิจก็ไม่ค่อยดี ทำให้ความช่วยเหลือลดลงไปมาก ตอนนี้ที่เราจะขอได้คือ ของมือสอง ของรีไซเคิล รองเท้าเก่า กระดาษเก่า เอามาขายเป็นค่าอาหารเด็ก”

สุรชัย สุขเขียวอ่อน หรือ ครูอ๊อด ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น เล่าเปิดใจสะท้อนสถานการณ์บ้านนกขมิ้น กำลังเผชิญวิกฤตยอดบริจาค ซึ่งเป็นรายได้หลักของมูลนิธิ ลดลงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงโควิดระบาดระลอก 3

แต่ก็ยังปักหลักทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลเด็กยากจนและขาดคนดูแล อีกทั้งดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีครอบครัวตามชุมชนรวมไม่ต่ำกว่า 300 คน

ครูอ๊อดเล่าว่า ช่วงนี้บ้านนกขมิ้นงดกิจกรรมทุกอย่าง เช่น เลี้ยงอาหารเด็ก เยี่ยมพบปะเด็ก ซึ่งพอคนเข้ามาทำกิจกรรมไม่ได้ อีกทั้งเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีใครโอนเงินมาบริจาค ก็ส่งผลกระทบแน่นอน เพราะเราอยู่ด้วยเงินบริจาค เช่นเดียวกับหลายๆ มูลนิธิเด็กและครอบครัว ที่ประสบภาวะยากลำบากเช่นกัน

Advertisement

“ตอนโควิดระบาดรอบแรก ยังพอมีบริษัทมาช่วยบริจาคเป็นประจำอยู่ เช่น ช่วยค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนเด็ก บริจาคกันทุกเดือน แต่พอระบาดระลอก 2 เมื่อช่วงต้นปี 2564 ผู้บริจาคก็ถอนตัวกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่ยังไม่ถอน ก็ลดการช่วยเหลือ”

สุรชัย สุขเขียวอ่อน หรือครูอ๊อด ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น
สุรชัย สุขเขียวอ่อน หรือครูอ๊อด ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น
สุรชัย สุขเขียวอ่อน หรือครูอ๊อด ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น

แม้แรงสนับสนุนจะลดลงไปมาก แต่ครูอ๊อดและทีมงานยังไม่ท้อถอย สู้ต่อด้วยการนำสิ่งของมือสองที่คนมาบริจาค เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ มาไลฟ์สดขายและเปิดร้านขายตามตลาดนัด หาเงินมาเป็นทุนการศึกษาเด็ก ช่วยเหลือดูแลครอบครัวที่ประสบความเดือดร้อน ควบคู่ไปกับการทำเกษตรเพื่อมีแหล่งอาหารบริโภคได้เอง ประคองให้รอดไปก่อน ซึ่งครูอ๊อดพูดน้ำเสียงเข้มแข็งว่า “ต้องผ่านไปให้ได้”

ตอนนี้ครูอ๊อดเจอโจทย์ใหม่ท้าทายคือ การเรียนออนไลน์ เพราะกลุ่มเด็กที่ช่วยเหลือดูแลอายุ 5-18 ปี เริ่มเปิดเรียนออนไลน์กันแล้ว ทว่าด้วยเป็นเด็กยากจน จึงไม่มีอุปกรณ์ไอทีไว้เรียน

Advertisement

ครูอ๊อดเล่าว่า จริงๆ ที่มูลนิธิเองยังพอมีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เด็กๆ เรียนออนไลน์ได้ แต่เด็กๆ ในครอบครัวยากจนที่อยู่ตามชุมชน บางคนพ่อแม่เก็บของเก่าขาย เขาไม่มีจริงๆ และการหามือถือมาเรียนว่าลำบากแล้ว การต้องมีเงินเติมอินเตอร์เน็ตทุกวันยิ่งลำบากไม่แพ้กัน

“ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ที่เปิดเทอมนี้ค่าใช้จ่ายเดิม เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ยังต้องจ่ายอยู่ แต่ต้องจ่ายเพิ่มเติมในส่วนค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ตไว้เรียนออนไลน์อีก ยิ่งครอบครัวที่มีลูกหลายคน ก็ต้องมีหลายเครื่อง เราก็พยายามช่วยเหลือ ด้วยการชวนคนมาบริจาคสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตมือสองแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังมีเข้ามาไม่มาก”

“ส่วนเรื่องอินเตอร์เน็ต ที่ตอนนี้พบเด็กๆ ไปจับกลุ่มเรียนตามร้านสะดวกซัก เพราะมีไวไฟฟรี จริงๆ หากรัฐบาลบอกให้เรียนออนไลน์ ก็ควรมีมาตรการไวไฟฟรีรอบกรุงเทพฯ ไหม ลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน ก็จะช่วยพ่อแม่ได้” สุรชัยกล่าวทิ้งท้าย

เข้าชมเฟซบุ๊ก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น

มูลนิธิบ้านนกขมิ้น
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image