พม.เปิดผลสำรวจคนเจนแซด อยากเห็น ศก.ไทยดีขึ้น-ไร้คอร์รัปชั่น ยึดพ่อแม่เป็นไอดอล

พ่อแม่เป็นไอดอล

พม.เปิดผลสำรวจคนเจนแซด อยากเห็น ศก.ไทยดีขึ้น-ไร้คอร์รัปชั่น ยึดพ่อแม่เป็นไอดอล

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการแถลงข่าวเปิดผลสำรวจเรื่อง “Gen Z มีอะไรจะบอกต่อสังคมไทย” ว่า พม.ได้ร่วมกับนิด้าโพล จัดสำรวจความคิดเห็น เพื่อนำมาพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และออกแบบมาตรการที่สอดรับกับสถานการณ์ ในหัวข้อ “Gen Z มีอะไรจะบอกต่อสังคมไทย” โดยได้สำรวจเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 12-24 ปี หรือคนเจนเนอเรชั่นแซด จำนวน 4,472 หน่วยตัวอย่าง จากข้อมูลปี 2563 มีประชากรช่วงวัยดังกล่าวจำนวน 10.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.4 ของประชากรทั้งประเทศ และจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ปลัด พม. กล่าวอีกว่า ผลสำรวจพบว่าไอดอล หรือบุคคลต้นแบบที่เด็กส่วนใหญ่ยึดถือมากที่สุด คือ พ่อและแม่ ร้อยละ 42.06 รองลงมา ได้แก่ ครู อาจารย์ ร้อยละ 19.43 และญาติ คนรู้จัก ร้อยละ 15.47 ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าเด็ก เยาวชนรุ่นใหม่จะใช้เวลาอยู่กับโลกดิจิทัลมากกว่าคนรุ่นก่อน แต่ยังยึดถือพ่อและแม่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต

ส่วนเป้าหมายในชีวิตของเด็กและเยาวชนมากที่สุด คือ เรียนจบมีงานทำ ร้อยละ 38.29 รองลงมา คือ การประสบความสำเร็จ มีความก้าวหน้าในที่ทำงาน ร้อยละ 18.74 ขณะที่การมีครอบครัวที่สมบูรณ์อยู่ในลำดับที่สาม ร้อยละ 15.78 นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่คนเจนแซดอยากจะบอกผู้ใหญ่ในบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่เด็กมีความกังวลต่อสังคมไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.ปัญหาทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 31.02 2.ปัญหาโรคระบาด ร้อยละ 18.92 และ 3.ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 16.08 ส่วนเรื่องที่เด็กอยากให้คนไทยพัฒนามากที่สุด คือ เรื่องความมีระเบียบวินัย/เคารพกฎหมาย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากเห็นในประเทศไทยอีก 10 ปีข้างหน้า 3 อันดับแรก คือ 1.เศรษฐกิจดีขึ้น 2.การไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น และ 3.ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ จากผลการสำรวจ พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่มีมุมมองที่น่าสนใจในหลาย ๆ อย่าง เช่น การมองว่าผู้ปกครองเป็นบุคคลต้นแบบ แต่มีความคิดว่าพวกเขาต้องดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ เป็นกลุ่มที่เริ่มวางแผนการออมเงินเร็วที่สุด และเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนหารายได้เร็วที่สุดเช่นกัน และแม้สนใจใกล้ชิดกับโลกเทคโนโลยี แต่ก็มีความใส่ใจทำอะไรเพื่อสังคม

Advertisement
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ปลัด พม.กล่าวต่ออีกว่า ดังนั้น จึงควรมีการวางแนวทาง นโยบายในการสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งการพัฒนาทักษะชีวิต การให้โอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการทำงาน การเสริมสร้างสวัสดิการที่เหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว เพื่อให้เด็กและเยาวชน Gen Z เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างมีศักยภาพต่อไป

นอกจากนี้ มีการจัดทำจดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ พม. (E – newsletter) เป็นรายเดือน ทุกวันที่ 5 ของเดือน เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานให้ประชาชนได้รับรู้ รับทราบ และเข้าถึงบริการด้านสวัสดิการสังคมของกระทรวง พม. โดยได้เริ่มฉบับที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน 2564 มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางของกระทรวง พม. ในสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย แนวโน้มสถานการณ์ทางสังคม, ด้านบริการใหม่ของกระทรวง พม., ด้านนโยบายสำคัญ เร่งด่วน, กระทรวง พม. กับงานด้านการต่างประเทศ, ข้อมูลครัวเรือน กลุ่มเปราะบางที่กระทรวง พม. ช่วยเหลือ, การขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญในภูมิภาค, ข้อคิดในการปฏิบัติงานจากปลัดกระทรวง พม.

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารใน พม. โพล และจดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ พม. ในหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์และ เพจ เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชั่น Line Official และห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ของกระทรวง พม.

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image