พม.ช่วยเด็กได้รับผลกระทบโควิด ฮึ่มทำทัณฑ์บนพ่อแม่ ปล่อยเด็กต่ำกว่า 15 ปี ขายของตามสี่แยก

ภาพประกอบ

พม.ช่วยเด็กได้รับผลกระทบโควิด ฮึ่มทำทัณฑ์บนพ่อแม่ ปล่อยเด็กต่ำกว่า 15 ปี ขายของตามสี่แยก

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเป็นประธานแถลงข่าว “ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย” โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ เข้าร่วมว่า สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกช่วงวัยอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเด็กเร่ร่อนหรือเด็กเปราะบางที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน มีทั้งที่สมัครใจ ถูกบังคับ อีกทั้งประสบความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความยากจน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบการศึกษาที่สูงมาก

รมว.พม. กล่าวอีกว่า ฉะนั้นเพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชและครอบครัว พม.จึงได้ร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อให้การช่วยเหลือ อาทิ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อตรวจสอบและช่วยเหลือเด็กที่ถูกใช้แรงงาน, ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำความเข้าใจกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ไม่ปล่อยละเลย หรือรู้เห็นเป็นใจ และแสวงประโยชน์จากเด็ก, ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้คำแนะนำการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในครอบครัว อีกทั้งติดตามเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามวัย เป็นต้น

“พม.ยังได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ที่มีเจ้าหน้าที่จาก 50 เขต และสายด่วนตำรวจ โทร.191 คอยดูแลปัญหาเด็กและเยาวชน อีกทั้งให้โอกาส ใครก็ตามที่มาใช้โอกาสโดยไม่ชอบก็ต้องจัดการ หากประชาชนเกิดปัญหาสามารถติดต่อ สายด่วน พม. โทร. 1300 หรือสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 ผมเชื่อว่าถ้าเราทำตรงนี้ได้ เด็กเหล่านี้จะไม่ถูกเอาเปรียบและไม่ถูกหลอกใช้” นายจุติกล่าว

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ด้าน พล.ต.อ. จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เด็กขายพวงมาลัยตามสี่แยก หากอายุต่ำกว่า 15 ปี ตามกฎหมายพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ดูแลเข้าข่ายการกระทำที่ขัดขวางต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ถือเป็นความผิด แต่ต้องยอมรับว่าบางครอบครัวอยู่ให้สภาพยากจนที่มีความจำเป็น หากเข้มงวดเกินไปก็อาจจะเป็นการทำลายสถาบันครอบครัว รวมถึงกระทบต่อจิตใจ จึงได้กำชับทุกจังหวัดถึงการกวดขันบังใช้กฎหมายกับเด็กที่ขายของตามสี่แยกให้คำนึงผลด้วย เน้นใช้มาตรการทางปกครอง เช่น การทำทัณฑ์บน ขณะเดียวกันก็ให้ประสานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ซึ่งมีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยดูแล ยกเว้นกรณีที่มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลอื่นที่เป็นการค้ามนุษย์ ก็ต้องดำเนินการ

Advertisement

 

คุ้มครองเด็ก
คุ้มครองเด็ก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image