สปอร์ตไลท์ยังฉายไปไม่ถึง ‘เด็กข้ามชาติ’ ยิ่งสาหัสกลาง ‘โควิด’

ภาพประกอบ เด็กข้ามชาติ

สปอร์ตไลท์ยังฉายไปไม่ถึง ‘เด็กข้ามชาติ’ ยิ่งสาหัสกลาง ‘โควิด’

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดเป็นระลอกที่ 3 หนนี้สร้างผลกระทบหนักและยาวนานกว่าครั้งก่อนๆ ลำพังคนไทยที่มีรายได้น้อยยังสะท้อนว่าเดือดร้อนหนัก กับแรงงานข้ามชาติที่มีรายได้น้อยในประเทศไทยอาจยิ่งสาหัสกว่า ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยัง ‘เด็กข้ามชาติ’

ถูกถ่ายทอดสถานการณ์ผ่านงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “สถานการณ์การคุ้มครองเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด-19 : สถานการณ์ ผลกระทบ และทางออก : ไม่ได้เรียน ไม่เข้าถึงบริการ ไม่มีบ้านให้กักตัว และคนทั่วไปมองไม่เห็น” จัดโดย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย

งานเสวนาปูพื้นยอดเด็กข้ามชาติในประเทศไทย มีประมาณ 300,000 กว่าคน มีติดโควิด-19 แล้ว จำนวน 4,202 คน แต่แยกเฉพาะโควิด-19 ระลอก 3 หรือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ติด จำนวน 4,035 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กพม่า 2,640 คน รองลงมาเด็กกัมพูชา 1,183 คน และเด็กลาว 212 คน

เริ่มที่ อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เล่าว่า จากข้อมูลจะเห็นว่าโควิด-19 ระบาดระลอก 3 เด็กข้ามชาติติดเชื้อจำนวนมาก เป็นหนึ่งในผลกระทบจากทั้งหมด 3 ด้าน ที่เด็กข้ามชาติได้เผชิญ ดังนี้ 1.ด้านสุขภาพ พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพช่วงโควิด-19 ระบาดค่อนข้างสูง ทำให้เข้าไม่ถึงการตรวจ ขาดอุปกรณ์ป้องกันโรค ส่งผลให้มีการติดเชื้อในครอบครัวเยอะมากขึ้นในระลอก 3

Advertisement

อดิศรเล่าอีกว่า 2.ด้านการศึกษา พบว่าการเรียนออนไลน์เป็นอุปสรรค ทั้งจากอุปกรณ์ไม่พร้อม ภาระที่ผู้ปกครองต้องมาดูแลเด็กระหว่างไม่ได้เรียนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ปกครองบางส่วนต้องหยุดทำงานเพื่อดูแลลูก ขณะเดียวกันทำให้เด็กออกเรียนกลางคันเพื่อมาทำงานใช้แรงงาน ขณะที่ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กข้ามชาติถูกปิดอย่างไม่มีกำหนด

และ3.ด้านการคุ้มครองเด็ก พบการชะลอการแจ้งเกิดจากการะบาดโควิด-19 อีกทั้งความจำเป็นในการข้ามพรมแดนโดยผ่านนายหน้า เด็กมีความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดและถูกแสวงหาประโยชน์

เสวนาเด็กข้ามชาติ
อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

ขณะที่ หลินฟ้า อุปัชฌาย์ ผู้จัดการโครงการสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโควิดในประชากรข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เล่าว่า การสั่งปิดแคมป์คนงานเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2564 หรือเป็นเวลา 4 เดือน ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กข้ามชาติมากกว่าแค่เรื่องการจัดการอาหาร เพราะทำให้เด็กบางส่วนอาศัยอยู่ในห้องขนาด 3×3 ตารางเมตร หรือขนาดเทียบเท่าเสื่อโยคะ 8 ผืน ร่วมกับผู้ปกครอง และอาจมีผู้อาศัยคนอื่นๆ ทั้งนี้ กลุ่มคนดูแลกันเองได้สำรวจเด็กข้ามชาติในแคมป์คนงานพื้นที่กรุงเทพฯ มีประมาณ 3,928 คน

  “เด็กต้องเผชิญความเครียดจากผู้ปกครองที่จัดการความเครียดไม่ได้ เพราะขาดรายได้ และมีความกังวลเรื่องการเจ็บป่วยจากโควิด-19 เด็กข้ามชาติไม่ได้เรียนหนังสือ และทำให้เกิดการออกจากการเรียนกลางคัน นอกจากนี้ ยังเผชิญความเครียดจากการไม่ได้เล่น”

ในส่วนของผู้หญิงต่างชาติที่ตั้งครรภ์ภายในแคมป์ก่อสร้างบางส่วนเริ่มตั้งครรภ์ ปัจจุบันมีอายุครรภ์ถึง 4 เดือนแต่ไม่สามารถออกไปพบแพทย์ได้ ไม่สามารถฝากครรภ์ได้ รวมถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ 8-9 เดือน ที่ยังไม่ทราบว่าตนเองจะออกไปคลอดตามที่ตนเองวางแผนไว้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ใหญ่ไปสู่เด็กจากภายในแคมป์งานก่อสร้างอีกด้วย

แคมป์คนงาน
หลินฟ้า อุปัชฌาย์ ผู้จัดการโครงการสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโควิดในประชากรข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

วงเสวนาสรุปถึงมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างโดยที่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ว่าไม่ได้ช่วยลดการระบาดของโรคเลย เพราะสุดท้ายแล้วก็มีปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง นำเชื้อไปแพร่ระบาดตามภูมิภาค ก่อนร่วมกันเสนอว่า ควรจัดพื้นที่ดูแลเด็กข้ามชาติ ทั้งการดูแลผู้ติดเชื้อ และภาครัฐควรมีการวางแผนที่ครอบคลุมเพื่อให้เกิดการดูแลแม่ และเด็กที่ทั่วถึง

หลากหลายสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กข้ามชาติ ซึ่งต้องย้อนขึ้นไปถึงแรงงานข้ามชาติ วงเสวนาร่วมกันมองทองออก ไว้น่าสนใจ เช่น เสนอภาครัฐให้ประกาศมาตราการไม่จับกุมแรงงานข้ามชาติ ที่เข้าสู่ระบบคัดกรองและรักษา เพื่อให้ทุกคนเข้าสู่ระบบคัดกรองโรคมากที่สุด, ยกระดับมาตรการปกป้องคุ้มครองเด็ก เปิดให้คนแจ้งเหตุมากขึ้น มีการช่วยเหลือหรือส่งต่อเด็กอย่างรวดเร็วได้ตลอด 24 ชั่วโมง, ช่วยเหลือเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์เรียนออนไลน์และต้องช่วยผู้ปกครองทำงาน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

อีกเรื่องสำคัญที่สปอร์ตไลท์ยังฉายไปไม่ถึง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image