‘พูดช้า’ หรือ ‘ปกติ’ เช็กไทม์ไลน์พัฒนาการเด็ก

‘พูดช้า’ หรือ ‘ปกติ’ เช็กไทม์ไลน์พัฒนาการเด็ก

ตั้งแต่เสียง “ร้องไห้” ดังขึ้นในห้องคลอด นับเป็น “การสื่อสารแรก” ของลูกน้อยที่เติบโตขึ้นทุกวันโดยมีคุณพ่อคุณแม่เฝ้าดูแลไม่ห่าง การสื่อสารที่ว่ายังรวมไปถึงการมองหน้า ยิ้ม หรือแสดงท่าทางเมื่อคุยกับเขา เกิดการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้ยินกับสิ่งที่เห็นจนเกิดเป็น “การเรียนรู้เรื่องภาษา” ในเวลาต่อมา

ทว่าไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีพัฒนาการทางภาษาเกิดขึ้นที่อายุเดียวกัน บางคนพูดเร็ว เริ่มที่ 1 ขวบกว่าๆ บางคนก็เริ่มที่อายุใกล้ 2 ขวบ ขณะที่บางคนแม้จะอายุ 2 ขวบแล้วก็ยังไม่พูด ทำเอาพ่อแม่ร้อนใจ ซึ่งหากสังเกตว่าลูกน้อยมีพัฒนาการทางการพูดที่สงสัยว่าจะ “พูดช้า” ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อประเมินและให้คำแนะนำต่อไป

โดย พญ.สินดี ตันศิริ (จำเริญนุสิต) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.นวเวช ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กปกติ ไว้ดังนี้

Advertisement

1.ช่วงแรกเกิด – 4 เดือน สามารถตอบสนองเมื่อมีเสียงดัง เช่น ร้อง กระพริบตา หยุดฟังเสียงหรือหยุดร้องไห้ เมื่อได้ยินเสียงคนเลี้ยง สามารถร้องด้วยเสียงที่ต่างกัน เมื่อหิว หรือเจ็บ ฯลฯ

2.ช่วงอายุ 5-7 เดือน เริ่มหันหาที่มาของเสียง มีปฏิกิริยาที่ต่างกันต่อน้ำเสียงหรืออารมณ์ของผู้ใหญ่ หยุดฟัง มองหน้า เล่นเสียงได้หลากหลายขึ้น

3.ช่วงอายุ 9-12 เดือน เริ่มเข้าใจคำสั่งห้าม เช่น ไม่-หยุด มองตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ชี้ให้ดู ทำตามสั่งง่ายๆ ได้ เช่น บายบาย จำชื่อคนในบ้านพอได้ สามารถใช้เสียงคล้ายคำ เพื่อเรียกชื่อหรือสิ่งที่คุ้นเคย เริ่มเรียก ปาปา มามา ได้

Advertisement

4.ช่วงอายุ 15 เดือน ทำตามสั่งได้มากขึ้น เช่น “ไปเอารองเท้า” หันมอง หรือชี้คนหรือสิ่งของเมื่อถูกถาม เช่น “ไหนแม่” พยายามร้องเพลงหรือพูดตามแบบ พูดได้ 4-6 คำ หรือพูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย 1 คำ เช่น หม่ำ ไป เอา เป็นต้น

5.ช่วงอายุ 18 เดือน ชี้อวัยวะตามสั่งได้ตอบสนองถูกต้องกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น “ไปอาบน้ำ” ทำตามสั่งที่ไม่มีท่าทางประกอบได้ ด้พูดโต้ตอบด้วยพยางค์เดียวได้ เล่นเสียงได้ เช่น เสียงรถ บรืนบรืน เสียงสัตว์ร้อง ใช้ท่าทางร่วมกับคำพูดเพื่อถาม เช่น ชี้ “อะไร” บอกความต้องการง่ายๆ ได้ เช่น “เอา” “ไป”

6.ช่วงอายุ 2 ปี ชี้อวัยวะได้ 3-6 อย่าง ทำตามสั่งได้ 2 ขั้นตอน เข้าใจคำถามมากขึ้น เช่น “นี่อะไร” พูดเป็นคำที่มีความหมายได้มากขึ้น ประมาณ 50 คำ เรียกชื่อของในบ้านได้มากขึ้น พูดเป็นวลีสั้นๆ ได้ เช่น “ไปเที่ยว” “ไม่กิน”

7.ช่วงอายุ 2 ปีครึ่ง เริ่มทำตามสั่งที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ชี้ภาพในหนังสือได้ถูกต้องมากขึ้น บอกชื่อตัวเองได้ บอกความต้องการได้ เล่าเรื่องที่สนใจแต่อาจจะยังไม่เชื่อมโยง

ขณะเดียวกัน พญ.สินดี ยังได้แนะนำการพัฒนาด้านภาษาของลูกง่ายๆ ไว้ว่า

1. มีเวลาพูดคุยหรือเล่นกับลูก งดการดูจอทุกชนิด ยกเว้นการ video call

2.ออกเสียงพูดให้ชัดเจน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก

3. ถ้าลูกพูดช้า คนเลี้ยงควรพูดในสิ่งที่เขาสนใจหรือกำลังทำ เพื่อให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ร่วมกับฝึกให้เขาทำตามสั่ง ซึ่งเราอาจจะต้องจับมือทำไปด้วย เพื่อให้เขาเชื่อมโยงคำพูดกับการกระทำ รอและเปิดโอกาสให้ลูกได้เปล่งเสียงตามด้วย

4. มีการเล่น ชี้ชวนดูรูปภาพในหนังสือ หรือสิ่งของรอบตัว ร้องเพลง เล่นสมมติ เพื่อเพิ่มคำศัพท์

5. ฝึกให้ลูกพูดในสถานการณ์จริง โดยการตั้งคำถาม เช่น “อะไร” “ที่ไหน” ควรเป็นผู้ฟังที่ดี หยุดรอให้ลูกสบตา ขยับปากจะพูด อาจจะถามซ้ำถ้าไม่เข้าใจ หรือพูดแทนไปก่อน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ และขยายความคำตอบของลูก ตลอดจนชื่นชมเขา เมื่อเห็นว่าพยายามสื่อสาร

เพียงเท่านี้ พ่อแม่ก็สามารถพัฒนาทักษะทางภาษาของลูกเบื้องต้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image