‘เป่ายิ้งฉุบ’ กระตุ้นสมองเด็ก วอร์มอัพก่อนเรียน

‘เป่ายิ้งฉุบ’ กระตุ้นสมองเด็ก วอร์มอัพก่อนเรียน

โควิดที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่นั้นทำให้ชีวิตของหลายๆ คนเหมือนถูกแช่แข็งไว้ในห้องสี่เหลี่ยม โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เปรียบเหมือน “เมล็ดพันธุ์” ซึ่งต้องเติบโตภายใต้แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแสงแห่งธรรมชาติ

กลับต้องมา “โตหน้าจอ” รับแสงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์แทน แม้ว่าขณะนี้จะมีมาตรการคลายล็อคในหลายพื้นที่ ทว่าโรงเรียนในอีกหลายพื้นที่ก็ยังมิสามารถเปิดเรียนตามปกติได้

ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) ได้ร่วมกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น จัดทำ “คู่มือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กด้วยแนวคิด ACP (Active Child Program)” ซึ่ง ให้เห็นว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ของเยาวชนเกิดจากสมองขาดการกระตุ้นให้พร้อมต่อการเรียนรู้

ซึ่งผลจากการวิจัยได้พิสูจน์แล้วต่อความเชื่อเดิมที่ว่า “ช่วงเวลาตื่นนอน” เป็นเวลาที่เยาวชนพร้อมต่อการเรียนรู้มากที่สุดนั้น “ไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องที่สุด” เพราะการจะทำสมองให้พร้อมต่อการเรียนรู้ เปรียบเหมือนกับการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการออกกำลังกาย

Advertisement

โดยจะต้องมีการ “วอร์มอัพ” กันเสียก่อนจึงจะทำให้เกิดสมรรถนะสูงสุดได้

ซึ่งการให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมก่อนการนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เชิงวิชาการจะช่วยให้เด็กๆ มีสมาธิได้มากขึ้น
ทั้งนี้ช่วงเวลาของสมาธิจะนานเพียงใดขึ้นอยู่กับอายุของเด็กด้วยโดยยิ่งเด็กๆ ที่มีอายุน้อย พบว่าจะสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นานเท่าเด็กโต หรือผู้ใหญ่ จึงต้องมีการจัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวคั่นตารางเรียน หรือปรับให้เป็นไปในลักษณะของการ “เรียนปนเล่น” เพื่อให้เด็กๆ เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และไม่ปฏิเสธที่จะเข้าสู่บทเรียนซึ่งต้องใช้การคิดแบบวิเคราะห์ได้ต่อไป

กิจกรรมแนว “เรียนปนเล่น” ที่ ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ แนะนำสำหรับผู้ปกครองเพื่อใช้สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์และผ่อนคลายได้ที่บ้านทั้งในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์หรือปกติ ได้แก่ กิจกรรม “เรื่องเล่าเป่ายิ้งฉุบ” ที่ให้เด็กๆ ได้เล่นเป่ายิ้งฉุบสลับกับการแสดงท่าทาง เพื่อฝึกประสาทสัมผัสและการเชื่อมโยงของระบบประสาทสั่งการต่างๆ หรือ กิจกรรมการเล่นทายคำ โดยใช้ถ้วยกระดาษโยนเพื่อให้เด็กๆ ได้สลับกันทาย เป็นต้น

Advertisement

ซึ่งจากการที่ TPAK ได้ร่วมวิจัยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการออกแบบกิจกรรมทางกายสำหรับเยาวชนที่ผ่านมาพบว่า รูปแบบการส่งเสริมการเล่นของไทยยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีความเหมาะสมในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ออกแบบกติกาในการเล่น การจัดตารางเวลาการเล่น การสอดแทรกทักษะตามช่วงวัยและความรับผิดชอบ และการให้ความสำคัญกับความปลอดภัย

ติดตามตัวอย่างกิจกรรม Active Child Program อื่นๆ พร้อมข่าวสารที่น่าสนใจได้จาก Facebook: TPAK หรือทาง www.tpak.or.th

ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image