หมอเด็ก ไขอาการเด็กอยู่บ้านนาน จนกลัวคนแปลกหน้า กลัวเข้าสังคม

หมอเด็ก ไขอาการเด็กอยู่บ้านนาน จนกลัวคนแปลกหน้า กลัวเข้าสังคม

หลายครอบครัวที่มีเด็กเล็กสะท้อนออกมาคล้ายๆ กัน ว่าสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก ตลอดรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา เด็กๆ ไม่ค่อยได้ไปเรียนออนไซต์เลย ส่วนใหญ่เรียนออนไลน์อยู่บ้าน วันๆ เจอแต่หน้าพ่อแม่และคนในครอบครัว พูดคุยก็อยู่แค่วงนี้ จนเด็กบางคนเริ่มมีอาการกลัวคนแปลกหน้า และกลัวการเข้าสังคม
เรื่องนี้เป็นอย่างไร แก้ไขได้หรือไม่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และแพทย์จิตเวชเด็กและวัยรุ่น มีคำตอบ

พญ.อัมพร กล่าวว่า โดยปกติแล้วโรงเรียนถูกเข้าใจและจัดวางให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของวัยเรียน แต่พอมีวิกฤตโควิด-19 ขึ้นมา ทำให้หลายอย่างชะงักงันไป การจะไปมองอย่างโกรธเคือง แสดงว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย และเอาประสบการณ์ตรงนี้ทำลายครอบครัว

“หมออยากชวนมองอีกมุมว่า เราสามารถเข้าใจและเรียนรู้เรื่องนี้ได้ ปรับตัว และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างการที่เด็กไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เจอครู ไม่ได้เจอสิ่งแวดล้อมที่มีกฎระเบียบ ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะขาดโอกาสพัฒนา เหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมและพัฒนาได้ อย่างทักษะทางสังคม จริงอยู่ว่าโอกาสที่เด็กจะได้เห็นอกเห็นใจเพื่อน ระมัดระวังความรู้สึกของเพื่อน โอกาสที่จะได้แบ่งปันขนมจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมดไป

เพราะโชคดีว่าทุกวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามามากมาย เด็กสามารถพูดคุยกับเพื่อนแบบเห็นหน้าเห็นตา ส่งข้อความทิ้งไว้ สื่อสารกันเป็นกลุ่ม เหล่านี้เป็นโอกาสให้เด็กได้สื่อสารและเพิ่มพูนทักษะทางสังคมของเขา เพียงแต่พ่อแม่ต้องสอดส่องว่าพื้นที่เหล่านั้น เป็นไปได้ด้วยดีหรือไม่ รวมถึงดูว่าเด็กได้เรียนรู้ บอกเล่า รับฟัง ตลอดจนสามารถแสดงออกอย่างเหมาะสมหรือไม่”

Advertisement

คุณหมออัมพรเชื่อว่าทักษะชีวิตและทักษะการเรียนรู้ที่ดี ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในบ้าน โดยพ่อแม่นี่แหละต้องเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุน แต่หลายบ้านอาจพลาดพลั้งไปคือ บางบ้านที่มีลูกน้อย การอยู่บ้านนานๆ ลูกเสมือนเป็นใหญ่ขึ้นทุกที เด็กจึงอาจอยู่แบบไร้ระเบียบวินัย จากความรักและละเลยของพ่อแม่

ขณะที่บางครอบครัวก็สุดโต่งว่าเด็กต้องเคร่งครัดในกฎระเบียบ ตรงนี้ก็ต้องบาลานซ์ ทำอย่างไรจะส่งเสริมเด็กให้มีความรับผิดชอบ มีวินัย เป็นสิ่งที่ไม่ว่าเรียนอยู่บ้าน หรือโรงเรียนก็ทำได้หมด ซึ่งพ่อแม่ต้องทำตนเองให้เป็นต้นแบบที่ดี ด้วยการมีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดี มองโลกในแง่บวก มีพื้นฐานจิตใจที่สงบสุข รู้จักบริหารจัดการอารมณ์ ไม่นำความเครียดมาสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัว

Advertisement

ส่วนเรื่องทักษะทางสังคมที่ขาดไป จากการไม่ได้ไปโรงเรียน พญ.อัมพร มองว่า จริงๆ ทักษะทางสังคมไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะเด็กจะมีทักษะที่ดีได้ จะต้องมีพัฒนาการทางกายและจิตใจที่ดี อย่างเด็กมีพัฒนาการทางกายและจิตใจดี พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า จะไม่หวาดกลัวกับสถานการณ์แปลกใหม่ สถานการณ์ไม่คุ้นชิน

“เด็กต้องมีร่างกายแข็งแรง จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเล่น ต้องใช้กีฬา เพื่อทำให้เขามีสมรรถภาพทางกาย อย่างบางคนตอนไปเรียนรูปร่างผอม ก็อาศัยช่วงเวลาอยู่บ้านฝึกฝนเล่นกีฬา พัฒนาความสามารถตัวเอง ซึ่งพ่อแม่สามารถพาลูกออกไปเล่นตามสวนสาธารณะได้ หรืออยู่บ้านก็ทำได้ พอเปิดเรียนครั้งหน้า จากเด็กรูปร่างผอมก็กลายเป็นเด็กที่ชู้ตบาสเกตบอลแม่นมาก เหล่านี้จะบอกว่าหากเด็กรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ เวลาเจอคนแปลกหน้า นอกจากไม่กลัว เขายังแทบแนะนำตัวเองให้คนอื่นรู้จักด้วยซ้ำ”

พญ.อัมพรเชื่อว่าหากทำอย่างนี้ได้ ช่วงเวลาอยู่บ้านจะเป็นเวลาทอง พ่อแม่จะเป็นครูที่ดีที่สุดของเด็กได้

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image