หมออดิศักดิ์ เผยรอ กม.คาร์ซีตมา 20 ปี จี้เร่งมีมาตรการช่วยให้เข้าถึงง่าย “ตั๋วคืนเงิน คนละครึ่ง ลดภาษีนำเข้า คลังยืมใช้”

หมออดิศักดิ์ เผยรอ กม.คาร์ซีทมา 20 ปี จี้เร่งมีมาตรการช่วยให้เข้าถึงง่าย “ตั๋วคืนเงิน คนละครึ่ง ลดภาษีนำเข้า คลังยืมใช้”

หมออดิศักดิ์ เผยรอ กม.คาร์ซีตมา 20 ปี ไม่ควรยืดอีก แต่ควรมีมาตรการช่วย ผปค.เข้าถึงได้ “ตั๋วคืนเงิน คนละครึ่ง ลดภาษีนำเข้า คลังยืมใช้”

จากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การจราจรทางบกฉบับที่ 13 พ.ศ.2565 ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญกำหนดให้ คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และคนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 120 วันข้างหน้านั้น

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในการแถลงข่าว “120 วันบังคับใช้กฎหมายที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ใครต้องทำอะไร” ว่า ศูนย์วิจัยติดตามและเตรียมความพร้อมเรื่องนี้กับภาคีเครือข่ายมา 20 ปี ช่วงเวลา 120 วันก่อนกฎหมายบังคับใช้ เราไม่อยากให้มีการยืดเวลา เพราะจากข้อมูลพบว่าเด็กตายจากอุบัติเหตุในรถยนต์ปีละ 140 ราย ฉะนั้นจึงอยากเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการระดมให้เกิดการใช้ที่นั่งนิรภัยในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ หรือให้เกิดคลังที่นั่งนิรภัยที่ประชาชนสามารถยืมใช้ได้

รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด นี่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ขณะที่การอุ้มเด็กนั่งบนตักแล้วพ่อแม่คาดเข็มขัดนิรภัย ในความเป็นจริงก็ไม่ปลอดภัย เพราะเวลาเกิดเหตุจะมีพลังงานการเคลื่อนที่ จนทำให้อ้อมกอดของแม่ไม่สามารถรั้งลูกไว้อยู่ ทำให้เด็กกระเด็นออกนอกรถและเสียชีวิตหลายรายต่อปีจากความเข้าใจผิดดังกล่าว ยิ่งรถยนต์ที่มีถุงลมนิรภัย การอุ้มเด็กนั่งบนตักทำให้เด็กเข้าใกล้ถุงลมนิรภัยเกินไป เวลาเกิดเหตุจะมีพลังงานย้อนกลับ จึงทำให้อันตรายมากเช่นกัน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

ทั้งนี้ เข็มขัดนิรภัยภายในรถยนต์ไม่ได้ออกแบบมาให้คาดพอดีกับเด็ก อย่างควรอยู่ที่ที่บริเวณเอวก็ไปอยู่ที่บริเวณท้อง ส่วนบริเวณหน้าอกก็ไปอยู่ที่บริเวณดวงตา เกิดเหตุจึงทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ ฉะนั้นเด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ หรือสูงน้อยกว่า 135 เซนติเมตร จึงควรได้นั่งในที่นั่งนิรภัย ซึ่งก็มีแนะนำเป็นกลุ่มช่วงอายุกับที่นั่งนิรภัยที่เหมาะสม แต่กรณีกฎหมายบังคับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบไปแล้ว ก็ว่ากันไป ขณะที่เด็ก 13 ปีขึ้นไป ให้นั่งเบาะหลังจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 2 เท่า

Advertisement

“ในเวลา 120 วัน ก่อนกฎหมายบังคับใช้ ควรเป็นเวลาที่รัฐบาล หน่วยงาน ชุมชนต้องเตรียมตัว ตั้งแต่การให้ความรู้และสร้างทัศนคติประชาชนให้มีความปลอดภัยในการใช้รถ รวมถึงสนับสนุนการซื้อด้วยมาตรการตั๋วคืนเงิน มาตรการคนละครึ่ง เพราะการสนับสนุนตรงนี้รัฐสามารถไปลดค่าใช้จ่ายดูแลเด็กพิการ และลดการสูญเสียทรัพยากรในอนาคต สนับสนุนให้เกิดการผลิตในประเทศ ตลอดจนต้องลดต้นทุนผู้ขายด้วยการลดภาษีนำเข้า”

รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ตาม อยากให้โรงพยาบาลและโรงเรียนสนับสนุนจุดบริการยืมใช้ที่นั่งนิรภัย ทั้งนี้ กรณีรถรับส่งนักเรียน ก็สามารถออกแบบให้ใช้ที่นั่งนิรภัยทุกที่นั่งได้ อาทิ รถตู้ แต่ปัจจุบันหลายโรงเรียนใช้รถสองแถวรับส่งนักเรียน ตรงนี้ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยข้อง

Advertisement

– ‘คาร์ซีท’ เพื่อเด็ก ตอบโจทย์ปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image