รู้ทันภัย ‘ล่วงละเมิดทางเพศเด็กเล็ก’ อย่าคิดว่าไม่มีฮอร์โมนแล้วจะรอด!

รู้ทันภัย 'ล่วงละเมิดทางเพศเด็กเล็ก' อย่าคิดว่าไม่มีฮอร์โมนแล้วจะรอด!

รู้ทันภัย ‘ล่วงละเมิดทางเพศเด็กเล็ก’ อย่าคิดว่าไม่มีฮอร์โมนแล้วจะรอด!

ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งกับประเด็น ‘ความรุนแรงทางเพศ’ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ประสบการณ์ชีวิตน้อย เมื่อพลาดพลั่งถูกกระทำไป อาจทำให้เกิดบาดแผลยาวนานไปตลอดชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักและรู้ได้ ในงานประชุมวิชาการ หัวข้อ “การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเล็ก : ผู้ใหญ่ต้องปกป้อง เด็กต้องเรียนรู้” จัดโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย งามตา รอดสนใจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบูรณาการเครือข่าย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เกริ่นว่า ปัจจุบันเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศเด็กอยู่ตลอด มีผู้เสียหายที่เป็นทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย เหตุเกิดในสถานที่ที่ทุกคนคิดว่าจะปลอดภัยคือ โรงเรียน โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดเด็ก บางเคสเป็นผู้อยู่ในบ้านเดียวกับเด็กด้วยซ้ำ ทำให้เด็กไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ร่างกาย และบุคลิกภาพเด็กอย่างต่อเนื่องไปจนเติบโต ฉะนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และครูที่ดูแลเด็ก จะต้องรู้วิธีปกป้อง และสอนเด็กให้เรียนรู้การป้องกันตัว

ภายในงานชวนตระหนักถึงพิษภัยความรุนแรงทางเพศในเด็กเล็ก ไม่ได้ส่งผลเพียงร่องรอยบอบช้ำตามร่างกายที่ตาเห็น แต่ยังฝั่งลึกในสมองที่กำลังเติบโต เป็นความทรงจำอันเลวร้าย และอาจเปลี่ยนคนๆ นึงไปตลอดกาล

ภาพจาก www.feelingyesnothailand.com

ผศ.พญ.พลิศรา ธรรมโชติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า กับเรื่องทั่วไปในความทรงจำ จะจำได้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นวันที่เท่าไหร่ อธิบายได้ แต่กับเรื่องบาดแผลทางจิตใจ จะเป็นความทรงจำที่มีส่วนผสมหลายอย่างรวมกัน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ซึ่งไม่แปรเปลี่ยนแม้เวลาจะผ่านไป คนไข้บางคนเรื่องราวผ่านไปกว่า 40 ปี ก็ยังจำได้แม่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอน 6 ขวบ

Advertisement

โดยบาดแผลทางจิตใจ มีผลต่อประสาทสัมผัส อารมณ์ และความคิด เช่น มีอารมณ์เศร้า มีความคิดมองโลกในแง่ลบ รู้สึกไม่ไว้วางใจ ตลอดจนยังมีประสาทสัมผัสที่ยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่เลย อย่างเคยเจอเคสเด็กถูกพ่อบังคับกินอาหารแมว แล้ววันหนึ่งต้องไปเดินซุปเปอร์มาร์เก็ต เพียงกลิ่นอาหารแมว ความทรงจำที่มีต่อพ่อก็ผุดขึ้นมาทันที ทำให้รู้สึกกลัว ใจสั่น และตกใจ

  “บางครั้งพ่อแม่บอกลูกว่า ลืมมันเถอะ มันผ่านไปแล้ว เพื่อให้เด็กก้าวข้าม แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจทางจิตใจเขา ต้องอาศัยการเยียวยา ไม่ใช่เพียงลืมๆ มันไป”

คุณหมอพลิศราแนะนำให้นำเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีบาดแผลทางจิตใจ เข้ารับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และหากยังเสี่ยงถูกกระทำซ้ำ สามารถใช้กลไก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ เข้าจัดการอย่างเป็นระบบได้

Advertisement
ภาพประกอบ

ด้าน ทองไพรำ ปุ้ยตระกูล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเด็กและครอบครัว มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า มายาคติที่คิดว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีแต่เด็กมัธยมเท่านั้น เพราะเด็กวัยก่อนหน้ายังไม่มีฮอร์โมนเพศ เป็นเรื่องไม่จริงทั้งหมด เพราะจากสถิติมูลนิธิช่วยเหลือผู้เสียหาย ระหว่างปี 2561-2564 ในกรณีล่วงละเมิดทางเพศ พบว่า เด็กหลายคนถูกกระทำมาตั้งแต่ชั้นประถมแล้ว และพบผู้เสียหายอายุน้อยสุด 2.2 ขวบ ขณะที่ผู้เสียหายส่วนใหญ่จะเป็นช่วงมัธยมต้น

ที่ผ่านมามูลนิธิพยายามทำงานกับโรงเรียนและผู้ปกครอง เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น อย่างกิจกรรม ‘ตัวฉันเป็นของฉัน’ ที่สอนให้ตัวเด็ก ครู และผู้ปกครองรู้ว่าอะไรคือการล่วงละเมิดทางเพศ เนื้อหาสอนถึงสัมผัสดี สัมผัสไม่ดี เช่น จับหน้าอก จับอวัยวะเพศ หรือไม่ได้สัมผัส แต่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยทางเพศ เช่น เปิดหนังโป๊ให้ดู ถ้ำมอง การใช้คำพูดต่างๆ

  “ในบทเรียนปกติยังไม่มีสอนเพียงพอ ทำให้เด็กไม่รู้ถึงอันตรายที่กำลังมาถึงตัว ไม่มีทักษะการป้องกันตัว เราจึงต้องสอนและฝึก 4 ทักษะให้เด็กๆ ตั้งแต่ทักษะการประเมินความเสี่ยง ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการตัดสินใจ และทักษะการขอความช่วยเหลือ ค่อยสอนจากเรื่องง่ายๆ ไปก่อน เด็กเล็กอาจทำไม่ได้ทุกเรื่อง แต่ทำบางเรื่องก่อนได้ อย่างทักษะการขอความช่วยเหลือ และการปฏิเสธ”

สนใจเรียนรู้ ‘ตัวฉันเป็นของฉัน’ ได้ทางเว็บไซต์ www.feelingyesnothailand.com/

ผศ.พญ.พลิศราธรรมโชติ
ทองไพรำ ปุ้ยตระกูล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image