ดีไซเนอร์รูม เปิดความลับความสำเร็จ แบรนด์ ‘แฟชั่นไทย’

ดีไซเนอร์รูม เปิดความลับความสำเร็จ แบรนด์ ‘แฟชั่นไทย’

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 19 สำหรับโครงการ Designers’ Room & Talent Thai จัดโดยสํานักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โครงการนี้เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ได้แสดงความสามารถดึงศักยภาพที่มีสร้างสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนตัวตน ก้าวสู่การเป็นแบรนด์นักออกแบบหรือผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศระดับมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

โดยในปีนี้ดำเนินการภายใต้คอนเซ็ปต์ “MAXIMIZE DIVERSITY SHIFT CREATIVITY BEYOND BORDERS พลังแห่งความหลากหลาย ยกระดับความคิดสร้างสรรค์ให้เหนือขอบเขต” จัดงานเปิดตัวที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยมี สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, ประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ร่วมเปิดงาน

ประอรนุช ประนุช กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีนักออกแบบเข้าร่วมโครงการกว่า 528 แบรนด์ และได้สร้างนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักออกแบบไทยที่พัฒนาทุกปี

Advertisement

ภายในงาน ได้นักออกแบบรุ่นใหม่ “ลูกหม้อ” ของโครงการ ที่ปัจจุบันสร้างแบรนด์แฟชั่นโด่งดังเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มาแชร์ประสบการณ์สร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ

บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ หรือ เก๋ สาวรุ่นใหม่เจ้าของแบรนด์ 31 THANWA แบรนด์ไทยที่ต่อยอดธุรกิจจากโรงงานรองเท้ารุ่นคุณปู่กว่า 70 ปี มาเป็นแบรนด์กระเป๋าหนังคุณภาพพรีเมียมจากช่างระดับอาจารย์ที่มีประสบการณ์กว่า 70 ปี

บุณยนุช เล่าว่า เธอต่อยอดองค์ความรู้ที่ส่งต่อจากรุุ่นคุณปู่ด้วยความคิดสร้างสรรค์นำมาพัฒนาให้เกิดเครื่องหนังรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงและเข้าใจ จึงเป็นแบรนด์กระเป๋าที่ทำมาจากช่างรองเท้า

Advertisement

“เก๋ทำแบรนด์แฟชั่น เพราะไม่อยากให้คนมองว่า แฟชั่นคือฟาสต์แฟชั่น มาแล้วไป คนใช้แล้วทิ้ง แต่เราคิดว่า แบรนด์แฟชั่นมีคุณค่ามากกว่านั้น”

“มันจะดีกว่าไหมที่ทำให้คนกล้าที่จะเป็นตัวเอง แล้วทุกคนก็จะพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น จะใช้ของ จะเลือกของ ก็เอาแค่เหมาะกับตัวเอง ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย ซึ่งกระเป๋าของเราก็จะมีความพิเศษว่า เป็นกระเป๋าที่มีใบเดียวก็พอแล้วสำหรับคุณ”

แบรนด์ 31 THANWA จึงเป็นแบรนด์ที่กระเป๋า 1 ใบ สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือ 1 คน ส่งต่อลูกค้าเพียง 1 คนเท่านั้น

โดยกระเป๋าทุกใบจะมีคิวอาร์โค้ดบอกเล่าเรื่องราวชีวิตประสบการณ์ของอาจารย์ที่ทำกระเป๋า เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้ว่า อาจารย์ใช้เวลาครึ่งชีวิต กว่าจะออกเป็นกระเป๋าหนึ่งใบ

“แฟชั่นมีกลุ่มใหญ่ๆ เป็นฟาสต์แฟชั่น ทุกคนอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ อยากอยู่ในสปอร์ตไลท์ แต่ไม่มีใครเลยที่จะลุกขึ้นมาทำให้แฟชั่นช่วยเหลือสังคม ทำให้แฟชั่นเกิดความยั่งยืนมากกว่าที่คนๆ เดียวจะบอนด์ทูบี”

“แต่เราบอนด์ทูบีไปด้วยกันไหม เรายั่งยืนไปด้วยกันไหม ซึ่งแบรนด์ของเราได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ จึงทำให้เราลุกขึ้นมาบอกว่า กระเป๋าใบเดียวก็พอแล้วสำหรับคุณ”

แบรนด์เปิดตัวครั้งแรก เมื่อปี 2012 ปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีทั้งตลาดไทยและเทศ โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมไปถึง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน

บุณยนุช แนะนำคนรุ่นใหม่ว่า ถ้าอยากเปิดแบรนด์ของตัวเอง อย่างแรก อย่าลืมว่า วันแรกที่เริ่มทำแบรนด์ คุณรู้สึกอย่างไรกับมัน เพราะวันหนึ่งเวลาเจอปัญหาหรือท้อ เราจะได้ย้อนกลับมาว่า แพชชั่นที่ทำวันแรก เราทำเพราะอะไร จึงทำให้มันไปต่อได้

บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์

อีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่น Q DESIGN AND PLAYอาร์ต-ประพัฒน์ สมบูรณ์สิทธิ์” เผยกุญแจสำคัญของการทำแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จว่า อย่างแรก ความเป็นตัวของตัวเอง เซนส์ในการถ่ายทอดไอเดียลงบนผลิตภัณฑ์ หรือผลงานต่างๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ อันนี้สำคัญ

“100 คนเล่าไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าจะมีคนไหนที่เล่าเรื่องแล้ว ไปสู่โปรดักซ์แล้วจับใจคนได้ อันนี้สำคัญมาก”

ประพัฒน์ ยกตัวอย่างวิธีเล่าเรื่องราวของตนเองว่า ทุกๆ คอลเลคชั่นที่ทำ เป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับสังคมไทย เช่น คอลเลคชั่นเกี่ยวกับถุงยางอนามัย รู้สึกว่า คนไทยอายที่จะหยิบถุงยางอนามัย ก็ตั้งคำถามว่า แล้วจะอายทำไม ในเมื่อถุงยางอนามัยปกป้องคน ช่วยเหลือคน จึงทำคอลเลคชั่นถุงยางเป็นกระเป๋าคลัช ก็ประสบความสำเร็จมาก

จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบไปทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่น ที่ประพัฒน์ระบุว่า เหมือนทุกคนเซ็ทซีโร่ใหม่กันหมด ซึ่งแบรนด์ของเขาเองก็ต้องปรับตัวเยอะ เพื่อให้อยู่ต่อไปได้

สำหรับใครที่อยากทำแบรนด์ของตัวเอง ประพัฒน์ แนะนำว่า การสร้างแบรนด์ ตอนนี้ทุกคนทำกันได้หมดแล้ว เพียงมีไอจี เฟซบุ๊ก ก็เปิดได้แล้ว เพียงแต่ว่า เราจะทำยังไงให้แบรนด์ยั่งยืนอยู่ในตลาดได้นาน ทำให้แบรนด์มูฟออน ขยับตัวไปได้ตลอด อันนี้ก็อยู่ที่โจทย์ของคนสร้างแบรนด์ว่า มีโจทย์อะไร

“ถ้าอยากให้แบรนด์ยั่งยืน ต้องทำหลายอย่าง อย่างแรกต้องมีเงินที่พร้อมในการทำ ต้องมีแรงขับเคลื่อนในการทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ สุดท้ายคือจริยธรรมในการทำธุรกิจ ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ซื่อสัตย์กับลูกค้า คู่ค้า ซื่อสัตย์กับสิ่งที่ตัวเองสร้างมา มันจะทำให้เราอยู่ได้ยาวนาน” ประพัฒน์ทิ้งท้าย

ประพัฒน์ สมบูรณ์สิทธิ์
Q DESIGN AND PLAY

ปิดท้าย อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง หรือ เฟิร์น จากแบรนด์ Arty&Fern Eyewear แบรนด์แว่นตาแฮนด์เมดที่มีถึง 260 ขั้นตอน โดยดีไซน์แว่นตามโครงหน้าของผู้สวมใส่ เล่าว่า หัวใจสำคัญของการสร้างแบรนด์คือ เราต้องรู้ว่า เรามีอะไร ไม่ว่าจะเป็นสกิลทางด้านไหนก็ตาม และเราต้องรู้ว่า สิ่งนั้นลุูกค้าต้องการหรือเปล่า และลูกค้าไม่ต้องการไหม สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เป็นคีย์แมสเซสที่ทำให้แบรนด์แข็งแรง

“อย่างแบรนด์ ARTY & FERN เน้นออกแบบแว่นตามโครงหน้าและสไตล์ของแต่ละคน ถ้าพูดถึงมิชชั่นของแบรนด์ เราจะครีเอจแว่นในฝันของแต่ละคนออกมาให้เป็นจริง โดยคำว่า แว่นในฝัน คือแว่นที่ขนาดพอดี หรือแก้ปัญหาโครงหน้า หรือมีดีไซน์ที่แสดงออกถึงคาแรคเตอร์ของผู้สวมใส่”

นับเป็นแบรนด์แว่นตาที่แตกต่างไปจากแบรนด์อื่นๆ จุดเริ่มต้นมาจากที่เธอเดินทางไปเรียนการทำแว่นที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ที่นี่ นอกจากสอนวิธีการทำแว่นดีไซน์แฟชั่นแล้ว ยังออกแบบแว่นเพื่อแก้ไขปัญหาให้คนที่ไม่สามารถหาซื้อแว่นตามท้องตลาดด้วย เช่น อาจจะมีปัญหาเรื่องสรีระ ศีรษะ และโครงหน้า เป็นต้น

“อันนี้เลยเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนว่า 1.เมื่อเรามีสกิลด้านการออกแบบมาแล้วจากการเรียนในมหาวิทยาลัย 2.เราก็มีสกิลด้านการทำแว่นแล้ว เราเข้าใจแล้ว 3.เราได้ใกล้ชิดกับคนที่ใส่แว่น เพราะที่บ้านเป็นธุรกิจร้านแว่น เมื่อเรามี 3 สิ่งนี้ เราน่าจะออกแบบธุรกิจหรืออะไรบางอย่าง เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ทุกคนที่อยากจะเจอแว่นในฝัน ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการทำแบรนด์ขึ้นมา”

หลังจากเรียนจบหลักสูตร เธอใช้เวลาในการเตรียมการ 1 ปีเต็ม ตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงรูปแบบการเซอร์วิส รวมถึงการสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ไอจี

“เราวางแผน 1 ปี เต็มๆ และใน 1 ปีถัดไปก็เริ่มมีลูกค้า เพราะแมสเซส และภาพที่เราพยายามสื่อไปทางโซเชียลมีเดียทั้งความสวยงามและแก้ปัญหาในการสวมใส่ จึงทำให้ตั้งแต่ปีที่ 2 จนถึงปัจจุบันเข้าปีที่ 6 ลูกค้าเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งคีย์ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จคือ การแก้ปัญหาด้วยการดีไซน์

อานิกนันท์ แนะนำผู้ที่มีความฝันอยากสร้างแบรนด์ของตัวเองว่า คนที่เริ่มแบรนด์ใหม่ยุคนี้ มีความสามารถมีสกิลและพร้อมมากๆ เพราะตอนนี้มีชาแนลที่เข้าถึงได้ง่าย แต่สิ่งที่อยากฝาก เป็นเรื่องการเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ต้องคิดด้วยว่า ถ้าถึงจุดหนึ่งที่เราขายไม่ได้ เราจะทำยังไง

“เราอาจจะคิดเผื่อไว้เลยว่า จะต้องทำยังไงให้ร้านค้าเป็นองค์กร และเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมแต่แรกแล้วว่า ใครแผนกอะไร ทีมไหม เราเซ็ทเป็นบริษัทไหม ไดเรคชั่นของบริษัทเป็นยังไง แบรนด์อิมเมจเป็นยังไง คือ เตรียมตัวให้ทุกอย่างพร้อมไว้ก่อน พอโอกาสเข้ามา มันจะรู้เลยว่า โอกาสนี้เป็นของเรา เพราะเราเตรียมตัวมาอย่างดีแล้ว”

“การเตรียมตัวให้พร้อมสำคัญมาก เพราะเมื่อโอกาสเข้ามาแล้ว เราจะรู้เลยว่า นั่นคือของเรา” อานิกนันท์ ทิ้งท้าย

อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง

ตัวอย่างสินค้านักออกแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image