มิติใหม่ แฟชั่น ‘ลาหู่’ สไตล์โมเดิร์น

มิติใหม่ แฟชั่น ‘ลาหู่’ สไตล์โมเดิร์น

ปัจจุบันเทรนด์แฟชั่นสไตล์ชาติพันธุ์ได้รับความนิยมมากขึ้น เกิดแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ชนเผ่าหลากหลาย แบรนด์ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์การออกแบบที่แตกต่างกันไปโดยส่วนใหญ่ชูลายผ้าปักที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชนเผ่ามาผสมผสานกับแฟชั่นปัจจุบัน

เช่นเดียวกับวิสาหกิจชุมชนแบรนด์ไอ แอม ลาหู่ ตำบลแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาต่อยอดงานหัตถกรรมชนเผ่าในรูปแบบผ้าปัก งานจิกมือ การต่อผ้า เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หมวก กระเป๋า เพื่อกระจายรายได้ให้กับชุมชน

แต่ที่ผ่านมาพบว่าทางกลุ่มประสบปัญหาด้านการออกแบบ ชาวบ้านคุ้นชินกับการตัดเย็บเสื้อผ้ารูปแบบเดิมๆ ไม่มีความรู้ในการประยุกต์นำจุดเด่นของลายผ้าปักของชนเผ่าต่างๆ มาขึ้นรูปให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่มีหลากหลายกลุ่มและขาดการพัฒนาสินค้าให้มีความโดดเด่นทันสมัย ทำให้ผู้ปักผ้าในพื้นที่ยังมีรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร

Advertisement

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรชร.) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) หรือ U2T จึงนำความรู้ด้านการออกแบบโดยชู “ทุนทางวัฒนธรรม” ของพื้นที่ซึ่งเป็นลายผ้าปักลาหู่ที่มีความโดดเด่นตรงการสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายเอกลักษณ์ที่มีการเคลื่อนไหว

การใช้เส้นจะเป็นไปในลักษณะขึ้น ลง ทแยงมุม ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา การใช้สีเป็นไปในโทนสดใสเน้นสีแดง เหลือง มาออกแบบงานหัตถกรรมให้ร่วมสมัยเพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

อาจารย์ทัตพงศ์ นามวัฒน์ หัวหน้าโครงการการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ประเภทหัตถกรรมฯ กล่าวว่า จากปัญหาที่เราพบเรื่องการขาดทักษะในการออกแบบเครื่องแต่งกายให้ดูทันสมัยซึ่งผลต่อต่อยอดขาย คณะวิทยาการจัดการ จึงร่วมกับอาจารย์รัชนิกร กุสลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนมาพัฒนาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้ดูร่วมสมัยแต่ยังคงมีกลิ่นอายความเป็นชนเผ่าลาหู่เพื่ออนุรักษ์งานศิลปะที่สืบทอดต่อกันมาอย่างช้านาน

โดยเป็นการออกแบบภายใต้แนวคิด ทันสมัย เรียบง่าย ใส่สบายสไตล์ลาหู่ มีการดึงสีของเส้นด้ายมาออกแบบชุด ใช้เทคนิคการต่อผ้าลายลาหู่แบบดั้งเดิมให้โดดเด่นขึ้น ซึ่งในชุดผู้หญิงได้ใช้ลายผ้าลาหู่ ชื่อว่า “คะป่าว้อย” (คะป่า แปลว่า ลายต่อผ้า , ว้อย แปลว่า วงกลม) สื่อถึงความรัก สามัคคี ความร่วมมือในชุมชน ส่วนชุดผู้ชายใช้เทคนิคลายปักลาหู่ประยุกต์บนตัวเสื้อผ้ากับกางเกง เช่น การปักเส้นคล้ายภูเขา ต้นไม้ สายน้ำ สะท้อนถึงธรรมชาติอันงดงาม

ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นที่ไหนเนื่องจากเทคนิคเหล่านี้ต้องใช้ช่างปักที่มีฝีมือละเอียดและเข้าใจธรรมชาติของชนเผ่าลาหู่ จึงจะสามารถสะท้อนอัตลักษณ์หรือตัวตนของลาหู่ออกมาบนผืนผ้าได้อย่างงดงามนั่นเอง

จุดเด่นของคอลเล็คชั่นนี้คือ เน้นความสบาย ทันสมัย สวมใส่ได้หลายโอกาส สามารถมิกส์แอนด์แมทกับเสื้อผ้าที่มีอยู่หรือจะปรับเปลี่ยนตามเครื่องประดับได้อย่างลงตัว สำหรับคุณผู้ชายสายแฟชั่นก็ไม่น้อยหน้า เพราะเราออกแบบให้เป็น Unisex เน้นความเก๋ที่รายละเอียดของงานปัก

เช่น การเล่นกับลวดลายผ้าปักบริเวณพื้นที่เล็กๆ อย่างแขนเสื้อกับกระเป๋าให้โดดเด่นขึ้น เรียกได้ว่า น้อยแต่มาก ใส่ได้ทั้งเที่ยวและทำงาน ดังนั้นเสื้อผ้าลาหู่คอลเล็กชั่นนี้จึงโดดเด่นที่มีการประยุกต์เทคนิคการต่อผ้าลายผ้าลาหู่ผสมผสานกับลายปักลาหู่ เป็นมิติใหม่ของแฟชั่นชุดลาหู่ที่ใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส

ทั้งยังได้นำผลงานต้นแบบมาจัดแสดงแฟชั่นโชว์ ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดเชียงราย หรือสวนอุ้ย ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายในช่วงฤดูหนาว

นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) หรือ U2T ที่ทางคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ส่งเสริมชุมชนให้เกิดการพัฒนาความรู้ด้านการออกแบบและต่อยอดศิลปหัตถกรรมชนเผ่าในรูปแบบผ้าปัก เพื่อยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน

ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นประธานในพิธีกิจกรรมนำเสนอผลงานโครงการ U2T
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image