เปิดใจ 2 ดีไซเนอร์ไอเดียเก๋ กับสมการ ‘แฟชั่น+ปัญญา=กระเป๋าหรู’ รักษ์โลก

ทับทิม-จิตริณี และเพชร-ภิพัชรา

เปิดใจ 2 ดีไซเนอร์ไอเดียเก๋ กับสมการ ‘แฟชั่น+ปัญญา=กระเป๋าหรู’ รักษ์โลก

แม้จะมีความพยายามนำ ‘ขยะพลาสติก’ กลับมารีไซเคิล เช่น ขวดน้ำพลาสติก ที่ให้ตามครัวเรือนรวบรวมนำมาขายได้ อย่างน้อยๆ เพื่อลดขยะตามสิ่งแลดล้อม แต่ขยะพลาสติกบางชนิด เก็บไว้ก็ไม่มีประโยชน์ เช่น ฝาขวดน้ำพลาสติก ช้อนซ่อมพลาสติก ทัพเพอร์แวร์พลาสติก เพราะไม่มีค่า ไม่มีราคา ขายไม่ได้

ฉะนั้นจะดีแค่ไหน หากมีนำขยะพลาสติกเหล่านี้ กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง และเพิ่มมูลค่ากว่าพลาสติกทั่วไป ดั่งเช่นแบรนด์คนไทย PIPATCHARA นำโดย 2 สาวพี่น้อง ‘เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา’ และ ‘ทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา’ ผู้ก่อตั้งฯ รังสรรค์กระเป๋าคอลเลคชั่น ‘Infinitude’ โดยจัดงานเปิดตัว ณ ร้าน PIPATCHARA ชั้น G สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม

เพชร-ภิพัชรา และทับทิม-จิตริณี เล่าจุดเริ่มต้นว่า เริ่มจากทับทิมมีโอกาสได้เข้าไปคลุกคลี กับปัญหาสิ่งแวดล้อมกับขยะพลาสติกเมื่อ 3-4 ปีก่อน จึงมีความคิดอยากเอาแฟชั่นมาจับกับปัญญานี้ อยากรู้ว่าจะไปได้ขนาดไหน จึงมีโปรเจ็กต์นี้

Advertisement

ทั้งคู่เริ่มโปรเจ็กต์นี้เมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยการนำขยะพลาสติกกำพร้า หรือขยะพลาสติกที่ไม่มีมูลค่าทางการตลาด อย่างฝาขวดน้ำดื่ม ช้อนซ่อมพลาสติก ทัพเพอร์แวร์พลาสติกสีต่างๆ เช่น สีเหลือง สีเขียว สีม่วง สีทอง สีขาว สีดำ ตลอดจนแบบใส มาปั๊มขึ้นรูปใหม่ ซึ่งพวกเธอตั้งชื่อว่า ‘Infinitude’ มาจากคำว่า ‘Infinite’ ที่แปลว่า นิรันดร์ ก่อนนำชิ้นส่วนต่างๆ มาร้อยเรียงถักกับห่วงสีทองเป็นกระเป๋าดีไซน์สวยงาม ห่อหุ้มภายในเป็นหนังวัวแท้สุดหรูนำเข้าจากอิตาลี

อาจฟังดูเหมือนจะง่าย แต่กว่าจะคอมพลีทได้ ทั้งคู่ยอมรับว่าไม่ง่ายเลย ช่วงแรกที่ทำพบว่าสียังไม่ตอบโจทย์ด้านดีไซน์ จึงต้องศึกษาอีกจนรู้ว่าสามารถผสมกับพลาสติกใส ซึ่งเป็นพลาสติกข้ามชนิดได้ ทำให้เกิดสีใหม่ๆ ก็ใช้เวลาถึง 9 เดือน แต่ก็ไม่ง่ายอีก เพราะเจอปัญหาต่ออีกว่า พลาสติกบางชนิดหลังจากหลอมขึ้นรูป พบว่าแตกคามือ จึงต้องศึกษาจนค้นพบว่าต้องหลอมเหลวในอุณหภูมิลงตัวที่เท่าไหร่ พลาสติกที่ขึ้นรูปใหม่ถึงจะแข็งแรงดี ก็ใช้เวลาอีก 4 เดือน

“ทุกอย่างเป็นงานแฮนเมดหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการเอาพลาสติกมาบด มิกซ์สี และหลอม จะเห็นว่าการหลอมบังคับสีไม่ได้ แต่ละตัวจึงออกมาไม่เหมือนกัน หลอมเสร็จแล้วต้องเอามาหัก และเจียร์ไม่ให้บาด ก็เป็นงานที่ค่อนข้างยูนีคจริงๆ”

ไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ทั้งคู่ยังพยายามให้โปรเจ็กต์นี้ตอบโจทย์เรื่องชุมชนยั่งยืน ตั้งแต่สร้างความตระหนัก สร้างมีรายได้เพิ่ม และสร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยเลือกพื้นที่เชียงราย ก่อนเดินทางไปสอนครูให้สามารถใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน มาทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

“การทำแพทเทิร์นคล้ายๆ กับการต่อเลโก้ แต่ค่อนข้างฟิกซ์ว่าต้องต่อตามมุมที่กำหนดไว้ ไม่ใช่ต่ออย่างไรก็ได้ จึงใช้เวลาต่อนานมากกับกระเป๋า 1 ใบ อย่างช่วงแรกที่สอน 10 ชั่วโมง ทำได้แค่ฝั่งเดียว แต่พอช่วงหลังที่หลายคนเริ่มคุ้นๆ คราวนี้สอน 10 ชั่วโมงทำได้ 2 ใบแล้ว”

“ทั้งนี้ ก็เป็นการช่วยชุมชน นอกจากเขาจะได้รายได้พิเศษ ยังเป็นการฝึกสมาธิ ได้ความสุข และรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับแบรนด์ ที่ต้องการเป็นแฟชั่นที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน” ทับทิม-จิตริณี กล่าวทิ้งท้าย

สวยหรูใส่ใจสิ่งแวดล้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image