ส่อง ‘ลอยกระทง’ สีสันแห่งสายน้ำ ท่องเที่ยว ‘เมืองรอง’

วันลอยกระทง ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน แม่งานใหญ่อย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หยิบเที่ยวงานลอยกระทง มาเป็นจุดขายท่องเที่ยวไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเน้นไปที่เมืองรอง และเปิดตัว “เทศกาลสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทงปี 2561”

สำหรับเมืองรองที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี พะเยา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ

ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก 12 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี

Advertisement

และภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี

“มติชน” ได้ลองสำรวจกิจกรรมในเมืองรองช่วงเทศกาลลอยกระทงที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้

เริ่มที่จังหวัดสุโขทัย เริ่มแล้ววันที่ 16-25 พฤศจิกายน จัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย กิจกรรมภายในงาน อาทิ พิธีรับอรุณแห่งความสุข ณ สะพานบุญ วัดตระพังทอง ถึงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตลาดโบราณสมัยกรุงสุโขทัย การแสดงกีฬาพื้นบ้าน การแสดงกระบี่กระบอง สาธิตมวยคาดเชือก

ณ บริเวณศาลาสี่หลัง เวทีการแสดงร่วมสมัย ตลาดจำหน่ายสินค้าชุมชน ณ บริเวณวัดสรศักดิ์ (โซนสมัยใหม่) ลานเทศน์ ลานธรรม (เทศน์มหาชาติ) ณ วัดตระพังเงิน การแสดงดนตรีไทย ณ บริเวณลานหน้าวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย การแสดงแสงเสียงในงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ณ บริเวณลานหน้าวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

การประกวดนางนพมาศ ณ เวทีดงตาล การแสดงโขน ณ บริเวณด้านหลังวัดชนะสงคราม การแสดงตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และกิจกรรมลอยกระทง ณ บริเวณสระน้ำวัดสระศรี (ตระพังตระกวน) การจัดแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ณ บริเวณสระน้ำวัดสระศรี (ตระพังตระกวน) ขบวนอัญเชิญไฟพระฤกษ์และพระประทีปแห่รอบเมืองสุโขทัย ขบวนหลวง ขบวนแห่ประเพณีวัฒนธรรม 9 อำเภอ

และขบวนแห่นางนพมาศ พิธีอัญเชิญพระประทีปลงลอยเป็นปฐมฤกษ์ ณ บริเวณสระน้ำวัดสระศรี (ตระพังตระกวน) เป็นการเผาเทียน เล่นไฟ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์

จังหวัดลำปาง วันที่ 21-23 พฤศจิกายน ณ ท่าน้ำบ้านสิงห์ชัย อ.เมือง พบกับบรรยากาศการตกแต่งบ้านเรือนของชาวลำปาง ด้วยตุงและโคมไฟ พร้อมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองและการจัดทำกระทงเป็นรูปเรือสำเภา ขบวนประกวดสะเปารถ การประกวดสะเปาน้ำ การประกวดแม่หญิง สะเปาแก้ว-สะเปาคำ การจำหน่ายสินค้าโอท็อป การแสดงดนตรีพื้นเมืองและอลังการโคมล้านนา ณ บริเวณถนนบ้านเชียงราย

จังหวัดตาก ช่วงวันที่ 18-22 พฤศจิกายน จัดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง พร้อมกับการลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อ.เมือง จ.ตาก

กิจกรรม อาทิ ขบวนแห่ถ้วยพระราชทาน ขบวนแห่เชิญพระประทีป กระทงพระราชทาน พร้อมขบวนแห่กระทงสายและขบวนแห่การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนต่างๆ ณ บริเวณหน้าศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อ.เมือง จ.ตาก กิจกรรมดินเนอร์อาหารพื้นเมือง ชมการลอยเคราะห์บูชาพระแม่คงคา ชิมอาหารพื้นเมืองของชาวจังหวัดตาก ณ ลานครัวกระทงสาย สวนคนเดินกาดกระทงสาย ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 60 พรรษา ชมนิทรรศการและการออกร้านจำหน่ายสินค้าของโรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ การจำหน่ายสินค้าโอท็อป

จังหวัดร้อยเอ็ด จัดวันที่ 22 พฤศจิกายน กิจกรรมร้อยเอ็ดคืนเพ็ง เล็งประทีป เป็นการลอยกระทงไหลประทีป 1,000 ดวง ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ และบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด งานลอยกระทงของจังหวัดร้อยเอ็ดบ่งบอกสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ของภาคอีสานได้เป็นอย่างดี ในการจัดกิจกรรมลอยกระทง

กิจกรรมสำคัญในปีนี้ ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง การประกวดกระทงประทีปใหญ่ การประกวดกระทงอนุรักษ์ธรรมชาติ การประกวดธิดาสาเกตนคร การประกวดรำวง สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป และขบวนจำลองเหตุการณ์ขบวนแห่กระทงเมืองสาเกตนคร

จังหวัดสมุทรสงคราม ณ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อ.อัมพวา พบงานประเพณีลอยกระทงกาบกล้วย จำนวน 400,000 ใบ สีสันการท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง จากเมืองหลักสู่เมืองรอง นำเสนอประเพณีลอยกระทงท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ เล่าเรื่องราววิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม

จุดเด่นมีการปล่อยเรือไฟล่องสายน้ำ 12 ลำ รวมถึงกิจกรรมสาธิตอาหารคาวหวาน กิจกรรมการทำธูปและปล่อยกระทงกาบกล้วย การแสดงร่วมสมัยและการแสดงทางวัฒนธรรม การออกร้านจำหน่ายสินค้าและอาหาร กิจกรรมการละเล่นสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง การประกวดรำวงพื้นบ้าน ขบวนฟ้อนรำต้อนรับขบวนอัญเชิญพระประทีปพระราชทาน และขบวนนางนพมาศ ขบวนกระทงผ่านเส้นทางตลาดแม่กลอง สิ้นสุดที่วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม การประกวดนางนพมาศแม่-ลูก ตลอดวันและคืนวันที่ 22 พฤศจิกายน

หากยังไม่จุใจต่อได้อีก ณ อุทยาน ร.2 พลบค่ำ 23 พฤศจิกายน มีกิจกรรมการทำธูปและปล่อยกระทงกาบกล้วย การประกวดนางนพมาศแม่-ลูก การประกวดเรือไฟชิงถ้วยพระราชทาน การแสดงบนเวที กิจกรรมการละเล่นสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง การประกวดรำวงย้อนยุค

จังหวัดราชบุรี จัดต่อเนื่อง 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 22-24 พฤศจิกายน งานเทศกาลลอยกระทงสี วัดไทรอารีรักษ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี กิจกรรม อาทิ ร่วมลอยกระทงสีเพื่อขอขมาพระแม่คงคากับชุมชนชาววัดไทรอารีรักษ์ ที่เน้นความเรียบง่ายโดยใช้กระดาษสี วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย นำมาประดิษฐ์ขึ้นเป็นกระทง เป็นภูมิปัญญาของชาวมอญ ลุ่มน้ำแม่กลองที่สืบสานตามดำริของหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ร่วมจุดประทีปรอบโบสถ์ ตามประทีปรอบวิหาร ปิดทองรอยพระบาท บูชาพระสารีริกธาตุบนเจดีย์จำลอง ลอดโคม 12 นักษัตร ถวายพวงมะโหตรต้นโพธิ์ และร่วมพิธีลอยเคราะห์แบบมอญ ณ วัดไทรอารีรักษ์ ชื่องาน : งานสะเปาจาวละกอน ประจำปี 2561

นี่คือส่วนหนึ่งที่จังหวัดรองตระเตรียมดึงดูดนักท่องเที่ยวมาในช่วงเทศกาลลอยกระทง

เทศกาลที่การท่องเที่ยวฯ คาดว่าจะกระตุ้นนักท่องเที่ยว 1.7 ล้านคน ออกมาใช้จ่ายและสร้างเงินสะพัด 5,700 ล้านบาท

พร้อมกับจำจดเมืองรองเอาไว้เพื่อมาท่องเที่ยวในครั้งต่อๆ ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image