เรียนรู้วัฒนธรรมบนความต่าง วิถีกะหร่าง ‘บ้านโป่งลึกฯ’

เสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคือการได้เรียนรู้วิถีของท้องถิ่นในแบบที่เขาเป็น เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ ไปซึมซับกับความไมตรี เรียนรู้ในความต่างของวัฒนธรรมอย่างให้ความเคารพ

เช่นที่ “บ้านโป่งลึกและบางกลอย” บนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ยังเป็นชุมชนที่อนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อรวมกับธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ของป่าแก่งกระจาน ทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างสมบูรณ์แบบ

ล่าสุด อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เปิดมิติใหม่การท่องเที่ยวธรรมชาติและมรดกวัฒนธรรมกะหร่างแก่งกระจาน เป็นทางเลือกใหม่เพื่อพัฒนาอาชีพชาวกะหร่างโป่งลึก-บางกลอย

การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ บอกว่า ปิดทองหลังพระฯได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อศึกษาและพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมของชาวกะหร่าง ที่บ้านโป่งลึกและบางกลอย ซึ่งในขณะนี้เข้าสู่ปีที่สองและชุมชนมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว

Advertisement

“ชาวบ้านเองก็มีความดีใจที่จะเข้าสู่บริการด้านท่องเที่ยว เพราะภูมิใจที่จะนำเสนอวัฒนธรรมของเขา เด็กเล็กและเยาวชนก็กระตือรือร้นเข้ามาเรียนรู้ด้านดนตรีและการแสดงจากผู้ใหญ่”

ดังนั้น กลุ่มท่องเที่ยวบ้านโป่งลึก บางกลอย จึงมีชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรม 184 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 100% ของประชากรที่อาศัยอยู่ประจำในป่าแก่งกระจาน ทั้งนี้ได้ร่วมกันจัดโครงสร้างการทำงานในด้านต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มล่องแพ 43 คน กลุ่มแม่บ้าน 29 คน กลุ่มกางเต็นท์ 26 คน กลุ่มกล้วยตาก 13 คน กลุ่มการแสดงและดนตรี 34 คน เป็นต้น

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.สุพรรณี บุญเพ็ง อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินงานโครงการบอกว่า การทำงานในกิจกรรมต่างๆ ของพื้นที่บ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย จะดำเนินการไปอย่างเหมาะสม ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบเพื่อป้องกันปัญหาจากบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากการท่องเที่ยววิถีชุมชนในรูปแบบธุรกิจมากเกินไป ชุมชนต้องมีการสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง

บ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอยเป็นพื้นที่ต้นแบบการประยุกต์แนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานราชการในพื้นที่พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยจัดหาแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร ปัจจุบันมีพื้นที่ที่มีน้ำใช้ตลอดปีจำนวน 454 ไร่ และยังสามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนด้วย และเกษตรกรมีรายได้จากการทำการเกษตรและพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่โครงการส่งเสริม เช่น ทุเรียน กาแฟ โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้รวมกว่า 1.8 ล้านบาท

“ที่นี่มีจุดเด่นของการท่องเที่ยวคือโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวปกากะญอ (กะหร่าง) ที่ยังคงรักษาไว้อย่างดั้งเดิม ทั้งบ้านเรือน อาหาร การแต่งกาย ประเพณี และการละเล่น ทั้งยังมีทุนทางธรรมชาติที่งดงาม สามารถมีกิจกรรมล่องแพแม่น้ำเพชรบุรีได้ดีด้วย”

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะได้ร่วมกิจกรรมกับชาวบ้าน เช่น การล่องแพไม้ไผ่ในแม่น้ำเพชรบุรี ชมการแสดงดนตรี รับประทานอาหารพื้นเมือง ชิมกาแฟ กะหร่าง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวของชุมชน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรับเป็นศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โทร 09-1050-4461 และ 0-3277-2311 ในเวลาราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image