‘โอเมบอส’ นวัตกรรมทางอาหาร เพื่อคนรัก ‘ผัดกะเพรา’

ผัดกะเพราโป๊ะแตก คอลัมน์ กฤช เหลือลมัย

เพื่อให้คนไทยได้ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ วันนี้ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นนวัตกรรม “โอเมบอส” ซอสปรับสมดุลไขมันโอเมก้าสำหรับเมนูผัดกะเพราโดยเฉพาะ

นอกเหนือจากจะเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว “โอเมบอส” ยังได้รับความสนใจอย่างมากในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ปี 2562 จนคว้ารางวัลเหรียญเงินจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษามาครองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

ดร.สุกฤต ศิริขวัญพงศ์ จากภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า อาหารประเภทผัดต่างๆ ซึ่งมีไขมันเป็นส่วนประกอบ มักจะมีปริมาณไขมันมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ โอเมก้า 6 เป็นไขมันที่คนเรารับประทานมากเป็นปกติ ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด และเนื้อสัตว์ โดยการรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 6 มากเกินไปจะสร้างสารที่กระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ทำให้ลิ่มเลือดจับตัวกันมาก จนอาจไปอุดตันในหลอดเลือดได้ ขณะที่โอเมก้า 3 ซึ่งอยู่ในอาหารประเภทปลาทะเลหรือน้ำมันปลาจะช่วยลดการอักเสบและป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ หากทานโอเมก้า 3 มากเกินไปจะส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดช้าเมื่อเกิดบาดแผล

สำหรับที่มาของ “โอเมบอส” ซอสปรับสมดุลไขมันโอเมก้าสำหรับเมนูผัดกะเพรานั้น ดร.สุกฤตบอกว่า “ผัดกะเพรา” ถือเป็นเมนูอาหารจานโปรดของคนไทยและเป็นที่นิยมของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ขนาดเป็น 1 ใน 15 อาหารต่างชาติที่ชาวญี่ปุ่นนิยมทำในครัวเรือนเลยทีเดียว

Advertisement
ดร.สุกฤต ศิริขวัญพงศ์

“ความพิเศษของซอสกะเพราที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นซอสที่ช่วยปรับสมดุลไขมันโอเมก้าให้ได้อัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างไขมันโอเมก้า 6 กับไขมันโอเมก้า 3 โดยมีโอเมก้า 6 ในปริมาณ 2 ส่วน และโอเมก้า 3 ในปริมาณ 1 ส่วน เมื่อนำซอสกะเพรามาผัดกับเนื้อสัตว์ อัตราส่วนของไขมันโอเมก้า 6 ต่อไขมันโอเมก้า 3 ในผัดกะเพราจะถูกปรับให้มีความสมดุลและเหมาะสมต่อสุขภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับซอสผัดกะเพราทั่วไป

“โอเมบอสมีส่วนประกอบของน้ำมันงาขี้ม้อนซึ่งผลิตได้ในประเทศไทย และเป็นน้ำมันที่มีไขมันโอเมก้า 3 สูงที่สุด การนำซอสกะเพรามาผัดอาหารจะใช้ปริมาณซอส 3 ช้อนโต๊ะ สามารถใช้ผัดกับน้ำมันพืชและเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ได้โดยที่อัตราส่วนไขมันโอเมก้า 6 ต่อ 3 ยังคงความสมดุลและเหมาะสมต่อสุขภาพ”

แต่กว่าจะเป็นผลงานนวัตกรรมที่คว้ารางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติปีนี้ได้ ดร.สุกฤตกล่าวว่า ต้องผ่านการศึกษาวิจัยมาเป็นเวลานานนับปี นิสิตเจ้าของงานวิจัยต้องทุ่มเทในทุกขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การสำรวจผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสในท้องตลาด ผ่านกระบวนการการทดสอบในขั้นตอนต่างๆ กว่า 7-8 การทดลอง เมื่อนำซอสบรรจุขวดไปใส่ตู้อบอุณหภูมิ 55 องศา เป็นเวลา 7 สัปดาห์ พบว่าคุณภาพของซอส รสชาติ และองค์ประกอบต่างๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคสามารถเก็บซอสไว้ได้อย่างน้อย 1 ปี

ปัจจุบันผลงานนวัตกรรมนี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรผ่านสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาฯแล้ว คาดว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดโดยผู้ประกอบการเพื่อนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

คิดอะไรไม่ออก บอก “ผัดกะเพรา” หนึ่งจาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image