พลิกโฉมอาหารไทยโบราณ ปรุงจากใจเชฟร้านดัง เพื่อนักกินรุ่นใหม่

บรรเจิดไอเดียสุดปังจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่ล่าสุดไปจับมือกับเชฟร้านดังกว่า 20 ร้าน แปลงโฉมอาหารไทยโบราณกว่า 20 เมนู นำเสนอด้วยรูปแบบทันสมัยเอาใจคนรุ่นใหม่ หวังให้อาหารตำรับไทยโบราณกลับมามัดใจคนรุ่นใหม่ไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา

อัจฉราพร พงษ์ฉวี อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม บอกว่า อาหารไทยเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้วหลายอย่าง เช่น กาละแม ข้าวหลาม ขนมเบื้อง กระยาสารท มังคุดคัด น้ำตาลมะพร้าว เป็นต้น โดยอาหารเหล่านี้มาจากทั่วทุกภูมิภาค ที่สำคัญต้องเป็นอาหารที่อยู่ในวิถีชีวิต

“ก็คิดว่าจะทำยังไงให้เมนูที่เราขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเป็นเมนูที่คนรุ่นใหม่รู้จัก อย่างข้าวหลามถามว่าเด็กสมัยนี้จะมาฉีกกินไหมก็ไม่ทำกันแล้ว เราเลยจับมือกับพันธมิตรหน่วยงานเอกชน เป็นร้านอาหารชื่อดังที่วัยรุ่นรู้จัก ให้เชฟมาปรุงแล้วนำเสนอในรูปแบบใหม่ให้กลับมานิยมอีกครั้ง”

การเปิดตัวโครงการสุดเก๋นี้ จัดขึ้นที่ “whispering café” หนึ่งในร้านอาหารที่เข้าร่วมโปรเจ็กต์ New Thai Dish for new gen รอบนี้ด้วย

Advertisement

อาหารที่เปิดตัวครั้งนี้มีทั้งหมด 8 จาน จาก 6 ร้านอาหาร

เริ่มจาก “ข้าวยำดอกไม้ใบไม้ในสวน” จากการรังสรรค์ของ เชฟแป๊ะ-จาตุรงค์ ขุนกอง แห่ง whispering café

จุดเด่นของเมนูนี้ คือน้ำบูดูจากปัตตานีที่ปรับสูตรใหม่ให้รสชาติจัดจ้านจี๊ดจ๊าดเพื่อให้คนรุ่นใหม่กินง่ายขึ้น นำเสนอด้วยการจัดวางดอกไม้ใบไม้ปลอดสารพิษที่ปลูกเองในสวนให้ดูมีสีสันสวยงามน่าถ่ายภาพอัพโซเชียลตามเทรนด์ยุคนี้

Advertisement

“พืชผักสมุนไพร และดอกไม้ มาจากแปลงเกษตรอินทรีย์ของเราเอง รับประทานคู่กับข้าวซ้อมมือมะลิ และ น้ำบูดูรสชาติเข้มข้นจากปัตตานี เป็นเมนูที่อร่อยครบเครื่อง สวยงามดั่งงานศิลปะ อยากให้ทุกคนได้มาลิ้มลอง” เชฟแป๊ะกล่าว

ต่อมา “ข้าวยำทอด” ฝีมือ เชฟนัท-ณัฐวัฒน์ เจริญราษฎร์ จากร้านแก้วแกงใต้ ผุดไอเดียนำข้าวก้นหม้อ หรือข้าวแฉะ มาเป็นวัตถุดิบทำข้าวยำสมุนไพรปรุงรสชาติให้มีความละมุนแล้วนำไปทอด กินกับน้ำจิ้มอาจาดเพื่อตัดเลี่ยน พลิกโฉมข้าวยำให้กลายเป็นของกินเล่น รสชาติละมุนถูกใจคนรุ่นใหม่แน่นอน

จานถัดมา “แสร้งว่ายำไข่เต่ามังคุด” และ “น้ำพริกกากหมูพริกไทยอ่อน” จากร้านแสนสำราญที่แสนแสบ ฝีมือการปรุงของ เชฟติ๊ก-สุทธิพันธ์ บุษปนิกรกุล ถือเป็นสองจานที่รสชาติจัดจ้านกินกันหมุบหมับเอร็ดอร่อยอย่างยิ่ง

เมนู แสร้างว่ายำไข่เต่ามังคุด เป็นยำตำรับโบราณที่อดีตใช้ไข่เต่าในการทำ แต่ปัจจุบันเต่าเป็นสัตว์สงวน จึงปรับมาใช้ไข่ไก่ต้มแบบออนเซ็นเพื่อให้ได้ไข่แดงสีเหลืองทองมีไข่ขาวบางๆ ห่อหุ้มไว้ น้ำยำจะเน้นครบรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด กลมกล่อม ใส่เนื้อมังคุดคัดที่เนื้อสัมผัสกรอบเด้ง และสมุนไพร เป็นเมนูที่น่าจะถูกปากทุกเพศทุกวัย

ส่วน น้ำพริกกากหมูพริกไทยอ่อน เป็นน้ำพริกจากสูตรโบราณของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นำมาปรุงรสชาติและจัดวางให้ทันสมัย รสชาติมีความละมุนไม่เผ็ดมาก แต่มีความซ่าจากพริกไทยอ่อน คุณสมบัติคล้ายหมาล่าที่กำลังฮิตกันตอนนี้พอดี

จุดเด่นของน้ำพริกคือตำจนเนื้อเนียนละเอียด มีความเปรี้ยวกลมกล่อมจากมะดัน และโรยกากหมูเจียวอย่างดี นอกจากกินกับข้าวสวยร้อนๆ ผักสด ไข่ต้มยางมะตูม ไข่เจียว ปลาย่าง ปลาทอดแล้ว ยังสามารถนำไปคลุกกับเส้นสปาเก็ตตี้ก็ได้ คุณสมบัติเหมือนเป็นเพรสโตซอส จึงน่าจะเป็นเมนูที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจไม่น้อย

เมนูที่ 5 “หมูทอดสุดคั่วราดซอสฉู่ฉี่ไข่เค็มแดง” โดย เชฟเอ่ง-นันท์นภัส อิรทรชิต จากร้านสุดคั่ว by สุพรรณิการ์

เมนูนี้จุดเริ่มต้นคือ “แกงเผ็ดฉู่ฉี่” เอามาผสมกับอาหารยุคใหม่อย่างหมูทอดเข้ากันลงตัวกับซอสฉู่ฉี่ไข่เค็มแดงสูตรใหม่ ที่เอาตำรับเดิมจากห้องทานข้าวสุพรรณิการ์ มานำเสนอในรูปแบบใหม่ ชิมแล้วครบรสคาดว่าน่าถูกใจเหล่าเยาวรุ่นของชาติเป็นแน่แท้

เมนูที่ 6 “ข้าวผัดหมูฮ้องซอสคาราเมล” จาก เชฟฟา-ณัฐิกานต์ สุยะเรือนแก้ว จากร้าน ari café & bistro เมนูนี้เน้นเครื่องแกงหมูฮ้องรสชาติเช้มข้น แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์โบราณของหมูฮ้องไว้ โดยใช้หมูคุโรบูตะชั้นดี เอาไปตุ๋นจนนุ่มชุ่มฉ่ำละมุนลิ้น แต่ยังคงความหนึบอันเป็นเสน่ห์ของหมูสามชั้นเอาไว้ จัดจานให้เก๋ไก๋น่ารับประทาน พร้อมสำหรับถ่ายรูปลงโซเชียล

อีก 2 เมนู เป็นของหวาน ได้แก่ “ข้าวหลามสามหน้า” จาก เชฟแป๊ะ whipering café ที่ต้องการนำของดีเมืองนครปฐมคือข้าวหลาม จะมีเอกลักษณ์ต่างจากหนองมน คือไม่ชุ่มกะทิแบบหนองมน แต่จะมีความแห้งนำมาตัดเป็นแว่นบางๆ แล้ววางด้วยสังขยา หน้ากุ้ง หน้าปลา ปรับปรุงจากสูตรที่เคยช่วยอาอี๊ทำสมัยยังเป็นเด็ก เสิร์ฟขนาดพอดีคำ จัดจานให้ดูน่ารักน่าถ่ายรูป

อีกเมนู “ยูกิกาละแม” โดย เชฟปริ๊นซ์-เสาวรส ศรีสุริยาพัฒน์กุล ร้าน Club Anda

เมนูนี้จะฉีกกฎความเป็นกาละแมแบบดั้งเดิมมากหน่อย โดยตัวเชฟที่ไปเรียนทำขนมที่ญี่ปุ่นได้รับแรงบันดาลใจจากขนมโมจิที่มีส่วนประกอบคล้ายกับกาละแม เลยมีความคิดว่าถ้าลองรื้อส่วนประกอบทั้งหมดออกมา เช่น กาละแม มีส่วนประกอบเป็นข้าวเหนียว มะพร้าว เอามาทำในรูปแบบใหม่ได้ยังไง

ด้วยไอเดียนี้จึงได้ยูกิกาละแมสไตล์เจแปนออกมา ชั้นแรกจะเป็นเนื้อโมจิแผ่นบางห่อหุ้มขนมทั้งลูกไว้ ถัดมาเป็นมูสที่ทำจากมะพร้าวและกะทิ ด้านล่างเป็นสปันจ์เค้กเนื้อนุ่ม ด้านในสุดเป็นก้อนกาละแม เวลาเสิร์ฟวางบนครัมเบิ้ลมะพร้าว ขนมเป็นลูกกลมสีขาวเกลี้ยงเกลาเหมือนหิมะ จึงตั้งชื่อว่ายูกิกาละแม โดยยูกิแปลว่าหิมะนั่นเอง

ด้านรสชาตินั้นละมุนลิ้น หวานกำลังดีกินแล้วหยุดไม่อยู่

ส่วนเครื่องดื่มวันนี้มี 2 ตัว จาก whispering café ได้แก่ น้ำมะปี๊ดโซดา ที่มีความเปรี้ยวเป็นเอกลักษณ์ และ ชากุหลาบกลิ่นหอมละมุน

นี่เป็นแค่เปิดตัวอาหารชุดแรก โปรดติดตามเมนูอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.thaidishcovery.com ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

ใครสนใจสามารถตามไปชิมได้แล้วที่ร้านตั้งแต่วันนี้ หรือสามารถสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เป็นพันธมิตรได้แก่ foodpanda และ Robinhood ทำหน้าที่ผู้ส่งต่อความอร่อยถึงบ้านได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image