ชอบกินไข่ต้องรู้ ประโยชน์และข้อควรระวังของ 3 ไข่ ‘นกกระทา-ไก่-เป็ด’

ชอบกินไข่ต้องรู้ ประโยชน์และข้อควรระวังของ 3 ไข่ ‘นกกระทา-ไก่-เป็ด’

ไข่ เป็นวัตถุดิบคุ้นเคยของคนทุกชาติ ทั้งยังดัดแปลงได้หลายเมนู ทว่าหลายคนอาจจะยังสงสัยความแตกต่างระหว่างไข่ชนิดต่างๆ อาทิ ไข่นกกระทา ไข่ไก่ และไข่เป็ด ว่ามีประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร
เว็บไซต์โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “3 ไข่ อะไรดีนะ?” ระบุว่า

ไข่นกกระทา

พลังงาน 158 Kcal. โปรตีน 13 g. ไขมัน 11 g.

ปัจจุบันไข่นกกระทา ได้รับความนิยมนำมาประกอบอาหารและทำเป็นอาหารว่าง จากขนาดที่เล็กรับประทานได้ง่าย ซึ่งความเล็กนั้นเต็มไปด้วยสารอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ทั้งโปรตีน ไขมัน โคลีน โฟเลต วิตามิน A วิตามิน B12 เหล็ก ฟอสฟอรัส ไรโบฟลาวิน และซีลีเนียม ซึ่งไรโบฟลาวินเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยในการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับร่างกาย ซีลีเนียมช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ทำงานได้ดี วิตามินB12 และธาตุเหล็ก ช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาทและรักษาระดับพลังงานให้เหมาะสม สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง โคลีนมีความสำคัญต่อการสร้าง acetylcholine สารสื่อประสาทที่ส่งข้อความจากระบบประสาทที่ลดความเมื่อยล้าของร่างกาย

Advertisement

ข้อควรระวัง
ไข่นกกระทาส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นั่นหมายความว่ายังมีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอยู่บนผิวเปลือก ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรหลีกเลี่ยง ก่อนรับประทานควรแน่ใจว่าได้ผ่านการปรุงสุกที่ถูกวิธีเรียบร้อยแล้ว

ไข่ไก่

พลังงาน 143 Kcal. โปรตีน 12.5 g. ไขมัน 9.5 g.

การรับประทานไข่ไก่เป็นส่วนช่วยให้อิ่มยาวนาน เนื่องจากไข่ไก่มีส่วนประกอบไปด้วย ไขมัน โปรตีน ที่สามารถเพิ่มความรู้สึกอิ่ม และยังส่วนในการควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ในไก่ไข่ 1 ฟอง มีโปรตีนถึง 6 กรัม ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ดี ให้เติบโต และซ่อมแซมร่างกาย ยังมีกรดไขมันฟอสโฟลิพิด (Phospholipid) จะเกิดเป็นสารเลซิทิน (Lecithin) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง จึงเชื่อกันว่าไข่อาจช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง และช่วยให้ระบบประสาทแข็งแรงได้ มีงานวิจัยที่แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารโคลีนเพื่อเพิ่มการพัฒนาด้านความทรงจำและการเจริญเติบโตของสมองทารก ซึ่งในไข่ไก่มีโคลีนถึง 251 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม และ ลูทีน ซีแซนทีน มีสารแคโรทีนอยด์ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพดวงตา

ข้อควรระวัง
ไข่ไก่เป็นที่นิยมในการรับประทานกึ่งสุกกึ่งดิบ ทว่าความจริงการดูดซึมโปรตีนจะลดลงจากระดับความดิบของไข่ไก่ และเพิ่มความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ สู่การติดเชื้อ ซาลโมเนลลา (Salmonella) หากท่านมีความต้องการรับประทานไข่ที่ไม่สุก 100 เปอร์เซ็นต์ แนะนำให้เลือกซื้อไข่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ จะป้องกันเชื้อได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรหลีกเลี่ยงการทานไข่ดิบโดยไม่จำเป็น

ไข่เป็ด

พลังงาน 185 Kcal. โปรตีน 12.8 g. ไขมัน 13.7 g.

ไข่เป็ดมีแคลอรีสูงกว่าไข่ไก่ และไข่นกกระทา เพราะมีขนาดใหญ่ เนื่องจากส่วนของไข่แดงที่มากกว่า ทำให้ค่าเฉลี่ยแล้วไข่เป็ดจึงมีโปรตีนสูง วิตามินเอ แคโรทีนอยด์ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 สูงกว่าราว 3 – 12 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับไข่ไก่ และไข่นกกระทา

ข้อควรระวัง
ไข่เป็ดมีข้อเสีย เนื่องจากมีคอเลสเตอรอลสูงในไข่แดงราว 3 – 12 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกันไข่ไก่ และไข่นกกระทา ตามลำดับ สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพในเรื่องคอเลสเตอรอล ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง ไข่เป็ดจะมีลักษณะของไข่ขาวเนื้อแน่น เหมาะนำมาทำไข่ต้ม ไข่ทอด หรือทำเป็นไข่พะโล้ เพราะไข่เป็ดมีกลิ่นคาวค่อนข้างแรงจึงไม่เหมาะนำมารับประทานแบบไม่สุก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image