‘ห้องผ่าตัดไฮบริด’ รพ.จุฬาภรณ์ ความไฮเทคที่ ‘ทุกคน’ เข้าถึงได้เท่าเทียม

ภายในห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริด

เป็นเรื่องน่าแปลกที่คนกลัวมะเร็งมากกว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ

ผู้ป่วยบางรายเข้ามารักษามะเร็งแต่ไม่แจ้งรายละเอียดว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการรักษามะเร็ง โชคดีที่ระหว่างผ่าตัด คุณหมอเห็นจังหวะการเต้นหัวใจที่ผิดปกติเสียก่อนจึงสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที…

เป็นคำบอกเล่าของคนที่ทำงานอยู่กับข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งน่าอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนปัจจุบันนับเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยมากเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย รองจากมะเร็ง

“ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 ราย มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ 20,855 ราย หรือเฉลี่ยวันละเกือบ 60 ราย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป”

Advertisement

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าบนเวทีในงานเปิดตัว “ห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริด” นวัตกรรมการผสมผสานห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด รวมเข้ากับห้องผ่าตัดที่ทันสมัย เพื่อการทำงานร่วมกันของทีมสหสาขาวิชาชีพของศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ อายุรแพทย์หัวใจ วิสัญญีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคอย่างเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนให้ได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากโดยปกติเมื่อผู้ป่วยทำการขยายหลอดเลือดหรือตรวจรักษาอื่นๆ ในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้น ก็จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังห้องผ่าตัดเพื่อทำการผ่าตัดรักษาในระดับที่ซับซ้อนต่อไป ซึ่งจะเสียเวลาในการเคลื่อนย้ายรวมถึงเสี่ยงต่อความปลอดภัยในขณะเคลื่อนย้ายด้วย

ทั้งนี้ ก็ด้วยพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีพระประสงค์ให้ รพ.จุฬาภรณ์เป็นที่พึ่งของคนไทยทุกระดับ ให้ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน ทรงมีพระดำริให้ขยายการให้บริการจากโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งเป็นสถาบันการแพทย์ครบวงจร และสร้างโรงพยาบาลส่วนต่อขยายมายังอาคาร ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ ภายในพื้นที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 โดยมีศูนย์หัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในศูนย์แห่งความเป็นเลิศ ที่มีศักยภาพในการรองรับดูแลผู้ป่วยหัวใจครบทุกสาขาและครบวงจร

ศ.นพ.นิธิบอกว่า ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการเปิดดำเนินงาน เพื่อรองรับผู้ป่วยได้อย่างครบวงจรมากขึ้น จึงเปิดตัว “ห้องผ่าตัดหัวใจและหอลดเลือดไฮบริด” เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนทางหัวใจ หอลดเลือด และทรวงอก ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยสูงสุด

Advertisement
มองจากห้องมอนิเตอร์

“ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เนื่องจากที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐ สามารถใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยเรามีหมอหัวใจสแตนบายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน”

สำหรับความอัจฉริยะของห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริด รศ.นพ.วรวงศ์ ศลิษฏ์อรรถกร ที่ปรึกษาประจำศูนย์หัวใจและหลอดเลือด บอกว่า เราสามารถเปลี่ยนฟังก์ชั่นการทำงานเป็นห้องผ่าตัดและให้การผ่าตัดรักษาต่อได้เลย โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยใดๆ ไม่เสียเวลา ลดความเสี่ยงอันจะเกิดจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริด ยังมีระบบนำทางที่สามารถกำหนดตำแหน่งการรักษาได้อย่างแม่นยำ และจดจำตำแหน่งจากการถ่ายภาพรังสีครั้งล่าสุดได้เมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งผู้ป่วย ก็สามารถอ้างอิงจากจุดเดิมได้โดยไม่ต้องถ่ายภาพทางรังสีใหม่ ลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับ

“เป็นเทคโนโลยีเครื่องตรวจสวนหลอดเลือดชนิดระนาบเดียวเครื่องแรกในอาเซียน คมชัด สร้างภาพแบบ 3 มิติ ทำให้สะดวกและแม่นยำมากขึ้น การผ่าตัดลิ้นหัวใจทำได้ในห้องนี้โดยไม่ต้องเปิดหน้าอก”

(จากซ้าย) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์, รศ.นพ.วรวงศ์ ศลิษฏ์อรรถกร และ นพ.สุขสันต์ กนกศิลป์

ขณะที่ นพ.สุขสันต์ กนกศิลป์ แพทย์ที่ปรึกษาอาวุโสและศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก บอกว่า ด้วยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงบคลากรสหวิชาชีพที่ร่วมปฏิบัติงาน ทำให้เรามีศักยภาพในการทำหัตถการทั้งในกลุ่มผ่าตัดโรคหัวใจที่เป็นแบบการผ่าตัดแบบเปิด และยังสามารถครอบคลุมไปถึงการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกและในช่องท้อง การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกแบบไม่ต้องเปิดหน้าอก

รวมทั้งการผ่าตัดมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กมาก ด้วยเทคโนโลยีนี้สามารถกำหนดตำแหน่งของก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้สามารถเก็บรักษาเนื้อปอดที่ดีไว้ได้ ไม่เพียงลดอัตราการเสียชีวิตและพิการหลังผ่าตัด ยังช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น

“การผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองจากเดิมใช้เวลา 12-18 ชั่วโมง แต่สามารถลดระยะเวลาเหลือเพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ความเหนื่อยล้าก็ลดลง นี่คือข้อดีของเครื่องนี้”

สอบถามรายละเอียดหรือนัดหมายเข้ารับบริการได้ที่สายด่วนโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทร 06-4585-5197

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image