เฮลท์แคร์ 2019 ‘เรียนรู้ สู้โรค’ มหกรรมสุขภาพแห่งปี

ว่ากันว่า ฝนจะตก แดดจะออก เป็นเรื่องห้ามไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันหรือยับยั้งโรคภัยที่เกิดจากปัจจัยเหล่านี้ได้แน่นอน

โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ที่คนไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากโรคติดต่อช่วงฤดูฝนกว่า 11 โรค โดยมี 5 กลุ่มโรคที่พบได้บ่อยคือ โรคติดต่อทางระบบหายใจ โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคติดต่ออื่นๆ เช่น โรคมือ เท้า ปาก และโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู

ยิ่งเมื่อดูข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา ที่รายงานสถานการณ์ล่าสุด โรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562 ว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม (1 มกราคม-5 มิถุนายน 2562) รวม 26,430 ราย เสียชีวิต 41 ราย เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน มีผู้ป่วย 14,973 ราย เสียชีวิต 19 ราย นับว่ามีอัตราเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า และ 2.15 เท่าตามลำดับ

เขยิบมาดูสถานการณ์ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ โดยองค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ว่า ขณะนี้ประเทศในเขตอบอุ่นของซีกโลกใต้เกิดสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ส่วนประเทศไทยเอง นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ 2562 วันที่ 1 มกราคม-6 มิถุนายน ระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยาเปิดเผยว่า ไทยมีจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศรวม 167,377 ราย เสียชีวิต 13 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยสะสมในภาพรวมพบว่าสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และสูงกว่าปีที่ผ่านมา

Advertisement

ด้วยความห่วงกังวลและอยากให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพ พร้อมรู้เท่าทันโรคในปี 2019 ครบทุกมิติ เครือมติชน ร่วมกับพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 แห่ง จัดงาน เฮลท์แคร์ 2019 ภายใต้คอนเซปต์ “เรียนรู้ สู้โรค 2019” เพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

งานนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน 2562 เวลา 10.00-20.00 น. ที่ อิมแพค เมืองทองธานี ฮอลล์ 5 มีบริการรถรับส่งพิเศษฟรีทั้ง 4 วัน จากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางออก 2 และ 4) ถึงเมืองทองธานี เวลา 08.00 น. และ 11.00 น. และจากเมืองทองธานี ถึงสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เวลา 13.00 น. และ 17.00 น.

ใช่ อ่านไม่ผิดว่าย้ายสถานที่จัดจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ไปที่อิมแพค เมืองทองธานี จริงๆ แถมยังมีบริการรถรับส่งฟรีด้วย!

Advertisement

เครือมติชนและพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 แห่ง ถือฤกษ์ดีวันที่ 12 มิถุนายน 2562 จัดงานแถลงข่าวเฮลท์แคร์ “เรียนรู้ สู้โรค 2019”

ห้องประชุม “ข่าวสด” เล็กลงถนัดตา เมื่อบรรดาโรงพยาบาลชั้นนำร่วมออกบูธตรวจสุขภาพ อาทิ บูธตรวจสุขภาพตาจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) บริการเลเซอร์บำบัดอาการออฟฟิศซินโดรม จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) นิทรรศการสวนสมุนไพรในสภาวะโลกร้อน สมุนไพรไล่ยุง สมุนไพรดูแลผิว ตา ผม ตลอดจนสาธิตการนวดไทยอภัยภูเบศร จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

สมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวขอบคุณหน่วยงานพันธมิตร พร้อมเน้นย้ำว่า ตลอดการจัดงาน 10 ปีที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง มีผู้ร่วมงานและเข้ารับบริการทางการแพทย์จำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้คนสนใจรักษาสุขภาพและดูแลตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดงานเฮลท์แคร์ทุกครั้งที่ผ่านมามุ่งสร้างความตระหนักให้คนไทยใส่ใจ ป้องกัน ดูแล รักษาสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ แนวคิดการจัดงานในปีนี้คือ เรียนรู้ สู้โรค 2019

“ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการเปลี่ยนสถานที่จากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ไปที่อิมแพค เมืองทองธานี ฮอลล์ 5 ทำให้พื้นที่บริการมากขึ้น ทว่า อาจมีปัญหาเล็กน้อยเรื่องการเดินทาง แต่ทางผู้จัดมีบริการรถรับส่ง อำนวยคามสะดวกเต็มที่ โดยกิจกรรมไฮไลต์ นอกจากการบริการด้านสุขภาพและบริการทันตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยโดยแพทย์และบุคลากรที่มากที่สุด พร้อมการตรวจรักษากว่า 30 รายการแล้ว ยังมีกิจกรรมเฮลท์ทอล์กจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั่วประเทศ การออกบูธจำหน่ายสินค้าภายใต้แนวคิด “สุขภาพดี อาหารเด่น”

“การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และพันธมิตรหลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ในนามของผู้บริหารเครือมติชนจึงขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะสร้างความสำเร็จและสร้างพลังแห่งความร่วมมือให้สังคมไทยแข็งแรงและยั่งยืน”

และบรรทัดต่อจากนี้จะช่วยเน้นย้ำว่า เพราะอะไรถึงควรไปงานเฮลท์แคร์ 2019

‘เวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล’
จัดเต็มตั้งแต่ครั้งแรก

บอกก่อนว่า หนนี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งเข้าร่วมงานมติชนเฮลท์แคร์เป็นครั้งแรก เลยจัดมาทั้งการให้ความรู้เรื่องโรคเขตร้อน เพื่อให้ประชาชนไทยเตรียมพร้อมรับมือ และบริการสุขภาพมากมาย อาทิ ฉีดวัคซีนฟรี บริการเลเซอร์ พร้อมนวดคอ บ่า ไหล่ บำบัดอาการออฟฟิศซินโดรม บริการฝังเข็ม บริการฟีเวอร์คลินิกสำหรับโรคเขตร้อน

รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มม. กล่าวว่า คณะเวชศาสตร์เขตร้อนร่วมงานเฮลท์แคร์เป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งมีธีมงานที่ถูกใจ นั่นคือเรียนรู้ สู้โรค โดยโรคไข้เลือดออกถือเป็น 1 ในโรคเขตร้อนที่ไม่มียารักษาโรค มีเพียงการป้องกัน และการป้องกันยังทำได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะ 6 เดือนแรกในปีนี้ เรามีผู้ป่วยแล้วกว่า 2.7 หมื่นราย มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 40 คน คาดว่าจะมีอัตราการตายมากขึ้น

สำหรับ “ทรอปิคอล” หรือ “เขตร้อน” นั้น หมอประตาปอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายว่า หากเราแบ่งโลกเป็น 2 ซีก โดยใช้เส้นศูนย์สูตรเป็นตัววัด เมื่อขยับขึ้นไปทางเหนือ 23.5 องศา ให้ขีดไว้เส้นหนึ่ง จากนั้นให้ลงไปทางใต้อีก 23.5 องศา แล้วขีดอีกเส้นหนึ่ง จะพบว่า “เขตร้อน” คือพื้นที่ทั้งหมดที่อยู่ระหว่าง 2 เส้นนี้ กินพื้นที่กว่า 140 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือ “ไทย”

ที่สำคัญคือ โรคติดต่อทั้งหลายอยู่ในพื้นที่เขตร้อนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ไข้เลือดออก รวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย

หมอประตาปกล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายเป็นพาหะ โดยยุงลายตัวเดียวกันนี้ยังสามารถนำโรคซิก้า ชิคุนกุนยา และไข้เหลืองได้อีก ทั้งนี้ ความน่ากังวลคือในจำนวนประชากรโลก 7,300 ล้านคน เสี่ยงเป็นไข้เลือดออกถึง 2,500 ล้านคน และผู้ติดเชื้อกว่า 70% จะไม่มีอาการ

รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์

“โรคไข้เลือดออกไม่มียารักษา แต่มีวัคซีนป้องกัน โดยวัคซีนตัวแรกนำออกมาใช้แล้ว มีประสิทธิภาพเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้ได้กับคนอายุ 9-45 ปี และไม่แนะนำให้คนที่ยังไม่เคยเป็นไข้เลือดออกไปฉีด อย่างไรก็ดี ขณะนี้คณะเวชศาสตร์เขตร้อนกำลังทดสอบและพัฒนาวัคซีนตัวที่ 2 เพื่อนำออกใช้

“ในงานเฮลท์แคร์ เราจะให้ความรู้เรื่องโรคที่นำโดยพาหะต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร หากทานของดิบจะเจอพยาธิอะไรบ้าง แม้โรคเขตร้อนจะมีปัญหาน้อยลงกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ตอนนี้มันเข้ามาในเมืองแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเมืองโตขึ้น ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด หากมีการระบาดของโรคก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น โรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน เพราะคนนิยมนำสัตว์แปลกๆ มาเลี้ยง หรือทานเนื้อสัตว์ป่ามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีบริการทางการแพทย์อื่นๆ ที่พลาดไม่ได้คือ เรายังมีอีก 1 สาขาที่สำคัญคือเวชศาสตร์การท่องเที่ยว โดยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวว่าเมื่อเดินทางไปต่างประเทศต้องต้องฉีดวัคซีนหรือทานยาแบบไหนบ้าง เพราะเมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว นักท่องเที่ยวเหล่านั้นนำโรคเขตร้อนที่ไทยไม่มีกลับมามากขึ้น เช่น เวลาเที่ยวแถบประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้”

100 วัคซีนฟรีผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ถวายเป็นพระราชกุศล

หันมาที่ขาประจำอย่าง คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานไม่เคยขาด

ครั้งนี้รามาฯรับผิดชอบเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยมีกิจกรรมพิเศษคือ บริการฉีดวัคซีนฟรี จำนวน 100 เข็มแรกให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือไม่มีความสามารถเสียค่าบริการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกดีขึ้นในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะว่าองค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง แต่ไทยเอง นับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 อัตราการเป็นไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 2 แสนคน ถือว่าเยอะมาก นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมองว่าการเป็นไข้หวัดธรรมดา ทำไมถึงทำให้คนเสียชีวิตได้ นั่นเป็นเพราะว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีภาวะ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง การเป็นไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เสี่ยงถึงชีวิตได้ จึงรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์

“ภายในงานเฮลท์แคร์ 2019 รพ.รามาธิบดีมีบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ วันละ 200 เข็ม ราคา 300 บาท และจะฉีดวัคซีนฟรี จำนวน 100 เข็มแรกให้กับผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง หรือไม่มีความสามารถเสียค่าบริการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ทั้งนี้ เรามองว่ายังมีคนไทยที่ป่วยภาวะซึมเศร้ามากขึ้น จึงเชิญแพทย์ด้านจิตเวชให้ความรู้เรื่องการจัดการกับโรคซึมเศร้า พร้อมจัดทำรามาแชนแนล ส่วนในโรคเขตร้อน เรามีมินิสเตจที่ให้ความรู้เรื่องไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งการสอนและให้คำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง”

ก่อนจากกัน รศ.ดร.พูลสุขเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมงานตั้งแต่เช้า เพราะคิวให้บริการฉีดวัคซีนเต็มเร็วมาก!

‘บ้านแพ้ว’ จัดลอกต้อเนื้อฟรี 66 ราย

ขณะที่ รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) นำโดย พญ.พัทธศรัณย์ ธนะสุพรรณ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุและต้อกระจก ขึ้นเวทีเปิดเผย 4 โรคตายอดฮิตของคนไทย ประกอบด้วย ต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ และต้อลม ตามลำดับ ตัวกระตุ้นสำคัญคือแสงแดดหรือยาบางชนิด สามารถชะลอได้โดยการหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือยาบางชนิด หากจำเป็นต้องออกแดด ควรสวมแว่นกันแดดป้องกัน

ปัจจุบัน โลกเราอยู่ในยุคดิจิทัล ผู้คนหันมาใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น โดยแสงสีน้ำเงินของอุปกรณ์เหล่านั้นสามารถทำร้ายสายตาคนเราได้ ก่อให้เกิดอาการตาแห้ง รวมทั้งทำให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้น หมอพัทธศรัณย์จึงแนะนำให้พักสายตา ควรมองไปในพื้นที่ที่มีสีเขียว หรือมองไปไกลๆ ก็จะช่วยลดอาการตาแห้งลงได้

“รพ.บ้านแพ้วกับมติชนเป็นพันธมิตรกันมาตลอด ปีนี้เรามีกิจกรรมเหมือนทุกปีคือ ตรวจสุขภาพตาฟรี ให้ความรู้เรื่องสุขภาพตาและต้อเนื้อในวันที่ 28 มิถุนายน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษ ตรวจคัดกรองความเสี่ยงต้อเนื้อ และรับไปผ่าตัดต้อเนื้อด้วยเนื้อเยื่อ ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แก่ผู้ป่วย 66 รายแรกที่จำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล”

พญ.พัทธศรัณย์ ธนะสุพรรณ

เมื่อ ‘กัญชา’ ไม่ใช่ยาวิเศษ?

ปิดท้ายด้วยประเด็นฮอตฮิตอย่าง “กัญชา” ที่ ภญ.วัจนา ตั้งความเพียร เภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า มีผู้สอบถามเข้ามาทุกวัน โดยมองว่ากัญชาเป็นยาวิเศษ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่!

“พืชกัญชาเป็นสมุนไพรที่รักษาโรคได้กว้างและหลากหลายก็จริง แต่ผู้ใช้จำเป็นต้องมีข้อบ่งใช้ แม้จะมีข้อมูลระบุว่ากัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็ง อาการนอนไม่หลับ อาการปวด หรือพาร์กินสันได้ เพราะช่วยปรับสมดุลร่างกายบางอย่าง บางภาวะ ทว่าการใช้กัญชาก็ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่รู้ที่มาที่ไปของน้ำมันกัญชา ดังนั้น หากทานเข้าไปอาจเกิดอาการชัก เมา ซึม หรือมีอาการข้างเคียงที่บ่งบอกว่าได้รับปริมาณ THC (tetrahydrocannabinol) มากเกินไปขึ้นได้” ภญ.วัจนาบอกโดยละเอียด

สำหรับใครที่อยากรู้เรื่องราว “กัญชา” แบบลงลึกทุกมิติ ไปฟังกันได้ในงานเฮลท์แคร์วันที่ 29 มิถุนายน ในหัวข้อ “เจาะลึกเรื่องกัญชาทางการแพทย์และสถานการณ์ในประเทศไทย” โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์, ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม และ รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตรศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม

สำหรับกัญชากับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ภญ.วัจนาเปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ขออนุญาตปลูกเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอผลผลิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพ โดยระหว่างนี้ได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ แพทย์แผนไทย เภสัชกร เข้าอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้อง เพื่อให้เป็นบุคคลที่สามารถสั่งจ่าย สั่งใช้ยากัญชาได้

ภายหลังขั้นตอนการผลิตซึ่งไม่น่าเกิน 6 เดือน คาดว่าจะมี “น้ำมันกัญชา” ออกมาให้ใช้ ซึ่งปัจจุบันมียาตำรับไทยที่ใช้ประโยชน์จากกัญชารวม 16 ตำรับ โดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทำการวิจัยในมนุษย์ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างถูกต้องครบถ้วน

ภญ.วัจนา ตั้งความเพียร

“เราตั้งเป้าใช้กัญชารักษาในหลายอาการ ไม่ว่าจะอาการปวด โรคทางสมอง พาร์กินสัน มะเร็งในระยะต่างๆ รวมทั้งเครื่องสำอางซึ่งยังอยู่ในขั้นวางแผน ทว่า ทั้งหมดนี้เราพุ่งเป้าไปที่การรักษาโรคมะเร็งเป็นหลัก”

ของดีจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะมีแจกพืชสมุนไพรวันละ 100 ต้น แบ่งเป็น 2 รอบ รวมทั้งจัดสวนสมุนไพรในสภาวะโลกร้อนให้ความรู้ สาธิตการทำธูปหอมไล่ยุง สาธิตนวดไทยอภัยภูเบศร บริการตรวจธาตุเจ้าเรือนฟรี ตลอดจนผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพในราคาพิเศษ

รถบริการฟรี กิจกรรมดีๆ เพียบ

อย่างที่บอกว่า งานนี้ย้ายสถานที่จัดไป อิมแพค เมืองทองธานี แล้ว ทำให้พื้นที่เมืองสุขภาพกว้างกว่า 2,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย Tropical Health Center โดยคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล เมืองสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข Tropical Herbs Garden โดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

นอกจากนี้ยังมีบริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลชั้นนำต่างๆ อาทิ ตรวจสุขภาพสายตากับ รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง), บริการตรวจหัวใจจากเครื่องมือทันสมัยโดย รพ.ยันฮี, ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม โดยมูลนิธิถันยรักษ์ฯ, ตรวจหาภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบของ รพ.รามคำแหง, บริการด้านทันตกรรมจากคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล

ยังไม่รวมกับ “เฮลท์ทอล์ก” ประเด็นสุขภาพดีที่สุดแห่งปี จากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระดับประเทศ กิจกรรมเวิร์กช็อป การออกบูธจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพด้วยแนวคิด “สุขภาพดี อาหารเด็ด” กิจกรรมบริจาคเงินเพื่อการกุศล

ส่วนเรื่องเดินทางก็ไม่ต้องกังวลเลย เพราะผู้ใหญ่ใจดี สุรวุฒิ เชิดชัย จากบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จํากัด จัดบริการรถรับส่งพิเศษฟรีทั้ง 4 วัน จากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตถึงเมืองทองธานี เพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

“ยินดีที่มีโอกาสร่วมงานกับมติชนเฮลท์แคร์ ผมเห็นมติชนทำงานเพื่อมวลชนหรือตอบแทนสังคมมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมองว่าสัมพันธ์กับธุรกิจที่เรามีคือการเดินรถโดยสาร ผมเห็นว่า บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีมุมมองที่อยากจะเห็นว่าการมีส่วนร่วมครั้งนี้สามารถสร้างความสุข ทำให้คนเดินทางไปสู่งานสะดวก และเข้าถึงเฮลท์แคร์ได้มากขึ้น” สุรวุฒิกล่าว

แต่ที่พิเศษยิ่งกว่าคือ วันที่ 29-30 มิถุนายน รถบริการจะเข้าไปรับเด็กพิการจากบ้านปากเกร็ดไปทำฟันที่งานเฮลท์แคร์ด้วย

เตือนกันก่อนจากว่า งานดีๆ แบบนี้มีเพียง 4 วัน ไม่ไป..ไม่ได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image