เปิดตัว ‘หุ่นยนต์ขนส่งในโรงพยาบาล’ ฝีมือคนไทย ประสิทธิภาพเยี่ยม

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี เครือมติชน พร้อมด้วยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลกว่า 30 แห่ง จัดงาน เฮลท์แคร์ “เรียนรู้ สู้โรค 2019” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศวันแรกเป็นไปอย่างคึกคัก ประชาชนทยอยลงทะเบียนตรวจสุขภาพตั้งแต่ช่วงเช้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะบูธคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้เข้าแถวรอคิวเข้ารับบริการทันตกรรมจำนวนมาก

โดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) นำกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล อาทิ บริษัท เอ.เอ็น.บี.ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช), บริษัท เซฟดรัก เซ็นเตอร์ (Save Drug), บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) ร่วมออกร้านในงานเฮลท์แคร์ 2019

นายวิฑูรย์ อุทัยกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางไกล บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ ตัวแทนจำหน่าย หุ่นยนต์ HAPYBOT หุ่นยนต์บริการขนส่งสำหรับโรงพยาบาล กล่าวว่า หุ่นยนต์ดังกล่าวคือปัญญาประดิษฐ์ที่ผลิตโดยคนไทย ซึ่งเอ็นเฮลท์เห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ของระบบหุ่นยนต์มาใช้ในงานโรงพยาบาล เพื่อช่วยตอบโจทย์เรื่องการประหยัดบุคลากรและเวลา ข้อดีของหุ่นยนต์ตัวนี้คือ สามารถเรียนรู้พื้นที่ได้เองหลังจากเซ็ตอัพครั้งแรก เมื่อทำงานจริงเพียงกดสั่งงานจากหน้าจอ ใส่ของ ป้อนคำสั่งให้ไปส่งยาอีกแผนก กดคำสั่งแค่เดียวก็สามารถเดินออกไปได้เลย โดยระหว่างทางเดินหุ่นยนต์สามารถตรวจสอบตลอดเวลาว่ามีสิ่งกีดขวางหรือไม่ หากเจอคนหรือสิ่งกีดขวางจะหลบเลี่ยงทันที ทั้งนี้ หากเส้นทางหลักที่ใกล้ที่สุดถูกบล็อก หรือมีรถเข็นจอดขวาง หุ่นยนต์จะมีเส้นทางสำรองอยู่ สามารถคิด วิเคราะห์ได้เองโดยอัตโนมัติ รู้ว่าต้องอ้อมไปอย่างไร

นายวิฑูรย์กล่าวว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ทดลองใช้แล้วที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย ในการรับส่งยาจำนวน 5 แผนก ผลการทดลองระยะเวลา 2 อาทิตย์ พบว่า สามารถทำงานตามคำสั่งได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัย มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเป็น 0 รวมทั้งสามารถเป็นผู้นำทางให้ผู้ป่วยเดินไปยังแผนกได้อย่างถูกต้อง

Advertisement

“ตอนนี้มีการทดลองให้หุ่นยนต์เป็นไกด์ เช่น แต่เดิมเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาที่เคาน์เตอร์ บุคลากรต้องพาไปแผนกเอ็กซเรย์ ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว เพราะหุ่นยนต์สามารถพาไปได้เอง หลังจากนั้นหุ่นยนต์จะกลับเข้าที่ชาร์จอัตโนมัติ เพื่อรอคำสั่งต่อไป ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์แต่ละวันมากกว่า 1,000 รายการ ประกอบด้วย ตัวอย่างทางพยาธิวิทยา เลือด เนื้อเยื่อ ของเหลวที่ต้องส่งตรวจ ยา เอกสารต่างๆ ซึ่งต้องขนส่งโดยบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ ทำให้การขนส่งอุปกรณ์ทางกาแรพทย์ดังกล่าวต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ขณะเดียวกัน บุคลากรกลุ่มดังกล่าวยังต้องรับความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ใช้จัดส่ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ หุ่นยนต์ HAPYBOT ที่มีช่องเก็บของขนาด 17 ลิตร พร้อมประตูเลื่อนไฟฟ้า ระบบล็อกอัตโนมัติ จึงตอบโจย์ความต้องการของธุรกิจโรงพยาบาลที่ต้องการลดความสิ้นเปลืองด้านบุคลากร และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อขณะที่บุคลากรกำลังปฏิบัติงานได้ โดยเราคาดว่าจะเริ่มใช้หุ่นยนต์จริงภายในปี 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผน” นายวิฑูรย์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image