‘หมอ รพ.เวชธานี’ เผย โรคพบบ่อยในสตรี ชี้ คนดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุน้อย เสี่ยงกระดูกบางกว่ากลุ่มอื่น

‘หมอ รพ.เวชธานี’ เผย โรคพบบ่อยในสตรี-กลุ่มเสี่ยงกระดูกสะโพกหัก ชี้ คนดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุน้อย เสี่ยงกระดูกบางกว่าคนทั่วไป

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองธานี เครือมติชน พร้อมด้วยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลกว่า 30 แห่ง จัดงานเฮลท์แคร์ “เรียนรู้ สู้โรค 2019” ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันที่ 2 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศผู้เข้าร่วมงานเป็นไปอย่างคึกคัก พบประชาชนเดินทางมาร่วมงานตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อรอลงทะเบียนตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลชั้นนำ อาทิ บริการทันตกรรมของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 7 กลุ่มเสี่ยงของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริการตรวจและให้คำปรึกษาสุขภาพกับแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เวลา 11.00 น. บริเวณเวทีกลางจัดกิจกรรม “อัพเดตเรื่องสุขภาพกับโรงพยาบาลเวชธานี” โดย พญ.จุฑาธิป พูนศรัทธา สูติ-นรีเวชวิทยา และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ร่วมอัพเดตในหัวข้อ โรคทางสตรีและนรีเวชกรรม ว่า สำหรับโรคพบบ่อยในสตรี ได้แก่ เนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ (ซีสต์ในรังไข่) และมดลูกหย่อน ซึ่งผู้หญิงทุกคนมีโอกาสจะเป็นโรคเหล่านี้ โดยการรักษาสามารถรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยผ่าตัดในที่แคบๆ ได้ง่ายขึ้น คือ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการเจาะผิวหนังบริเวณที่รักษาด้วยการเปิดปากแผล 0.5-1 เซนติเมตร (ซม.) ก่อนจะใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเพื่อทำการรักษา โดยข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง คือ มีแผลหลังผ่าตัดขนาดเล็ก อาการเจ็บน้อยกว่าและใช้ระยะเวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดเร็วขึ้น ปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้หญิงให้ความสนใจเรื่องแผลหลังการผ่าตัดขึ้นมากขึ้น รักสวยรักงามมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนแผลหลังผ่าตัดจะเป็นแผลยาว ลักษณะสามเหลี่ยมและแผลกล้ามเนื้อ

“เนื่องจากผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้ทุกคน โดยอุบัติการณ์เกิดโรคเจอได้บ่อย เจอได้ทุกวันในการผ่าตัด โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐที่แพทย์จะทำการผ่าตัด 3 โรคนี้ในทุกวัน ส่วนการป้องกันเรียนว่ายังไม่มี มีแต่วิธีการทำให้เป็นโรคน้อยลง เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี บางรายที่ยังไม่แต่งงาน แนะนำให้ตรวจภายในและตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพราะหากเจอเร็วก็ยิ่งผ่าตัดได้เร็ว เช่น การผ่าตัดเนื้องอกขนาด 5 ซม.ดีกว่าการผ่าตัดเนื้องอกขนาด 15 ซม.” พญ.จุฑาธิปกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ปณิธาน เรืองศิลป์สุวิทย์ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ การผ่าตัดข้อและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี บรรยายหัวข้อ กระดูกสะโพกหัก ว่า เนื่องจากกระดูกสะโพกจะเป็นบริเวณแรกที่สัมผัสกับพื้นเมื่อหกล้ม กลุ่มเสี่ยงกระดูกสะโพกหัก คือ กลุ่มคนเริ่มมีอายุมากขึ้น กลุ่มผู้หญิงที่เริ่มหมดประจำเดือนจะมีภาวะเสี่ยงกระดูกบาง และกระดูกพรุน รวมทั้งกลุ่มคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุน้อยจะมีภาวะเสี่ยงกระดูกบางมากกว่ากลุ่มอื่น วิธีการป้องกัน ได้แก่ 1.ป้องกันไม่ให้ล้ม คือ ป้องกันการลื่นล้มในบ้านด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในบ้าน เช่น ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ ผู้สูงอายุควรนอนชั้นล่างของบ้าน ไม่ควรเดินขึ้นบันได และ 2.ป้องกันไม่ให้สะโพกหัก ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยง แนะให้ตรวจสุขภาพทุกปี ทานยาเสริมเพิ่มแคลเซียมกระดูก ลดปัจจัยเสี่ยง โดยการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาแน่นอน

นพ.ปณิธานกล่าวว่า หากล้ม ก่อนอื่นดูว่าหมดสติ หรือถามตอบได้หรือไม่ เมื่อกระดูกสะโพกหักจะมีอาการปวดบริเวณรอบสะโพก ขยับตัวแล้วปวด เมื่อลุกเดินแล้วขาไม่เท่ากัน ส่วนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง เพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อนตัวมากขึ้น แนะนำให้โทรเรียกเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยทำการเคลื่อนย้ายและส่งต่อยังโรงพยาบาล ซึ่งกระดูกสะโพกหักเป็นกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดภายใน 24-48 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจะมีมาก โดยพบคนไข้ 1 ใน 3 เสียชีวิตภายหลังได้รับการรักษาหลัง 72 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดแล้วพบเกือบร้อยละ 100 กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ บางรายกลับมาใช้ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนกรณีคนไข้ไม่ได้รับการผ่าตัด เพราะมีโรคอื่นแทรกซ้อน ต้องนอนติดเตียงในช่วงแรก เพื่อรอให้กระดูกฟื้นตัว และใช้ไม้เท้าค้ำพยุงตัวไปก่อน ซึ่งบางรายต้องใช้ไม้เท้าระยะยาว ทั้งนี้ ภาวะจิตใจของคนไข้มีส่วนสำคัญทำให้คนไข้กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะกำลังจากคนในครอบครัว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image