องค์การเภสัชฯ เตรียมจ่ายน้ำมันกัญชาผู้ป่วยสิ้นเดือนก.ค. เล็ง ผลิตกึ่งอุตสาหกรรมปีหน้า

องค์การเภสัชฯ คาด จ่าย น้ำมันกัญชาผู้ป่วยปลายเดือนก.ค. ปีหน้าเล็งผลิตกึ่งอุตสาหกรรม ขยายพื้นที่ปลูก 1,000 ตร.ม.

เวลา 15.00 น.วันนี้ (28 มิ.ย.)  ที่ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี ในงานเฮลแคร์ 2019 เรียนรู้ สู้โรควันที่ 2 ของการจัดเวทีได้มีการจัดกิจกรรมทอล์ก เกี่ยวกับประเด็นกัญชา โดยมี ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ รศ.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และที่ปรึกษาอภ. ถึงความคืบหน้าในการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ของ อภ.

ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า สำหรับแผนดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 วิจัยและพัฒนา ซึ่งมีการนำของกลาง 100 กิโลกรัม (กก.) มาตรวจวิเคราะห์ใช้ทางการแพทย์เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 และผลพบการปนเปื้อนโลหะหนักและยาฆ่าแมลง ไม่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ ซึ่งในการตรวจวิเคราะห์ของกลางดอกกัญชาจากประเทศ คาดมีการนำมาใช้ในงานฟูลมูนปาร์ตี้เพื่อการสูบสันทนาการ แม้เป็นสารพันธุ์ต่างประเทศแต่พบสารทีเอชซี หรือสารเมา มากกว่าซีบีดี ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์ของกลางกัญชาอััดแท่ง ที่ยึดได้ตามชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะของกลางที่บอกว่าเป็นพรีเมียมเกรดก็พบการปนเปื้อนทั้งสิ้น โดยพบทีเอชซีสูงมาก คำกล่าวที่ว่าพันธุ์ไทยที่บอกว่าดีที่สุดอาจเป็นดีที่สุดในแง่ของการสูบเพื่อความมึนเมา รวมถึงผลวิเคราะห์ในน้ำมันกัญชา ยังพบสารทีเอชซี สูงกว่ากัญชาอัดแท่งด้วย ดังนั้น เมื่อใช้ต้องหยดทีน้อยและต้องเจือจาง ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการเมาและต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งนี้ ของกลางแต่ละล็อตมีผลตรวจวิเคราะห์ไม่เท่านั้น จึงเป็นที่มาทำให้ต้องปลูกเอง ปัจจุบันได้ดำเนินการปลูกไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานับเป็นการปลูกกัญชาที่ถูกกฎหมายครั้งแรกในประเทศอาเซียน ปัจจุบันเริ่มเกี่ยวผลผลิตบางส่วนแล้ว โดยบริเวณส่วนไตรโครม (Trichomes) จะมีสารสกัดซีบีดีเป็นส่วนสำคัญ

“โดยการผลิตยาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี มีคุณภาพสม่ำเสมอ แต่ละขวดต้องรู้ว่ามีปริมาณสารทีเอชซี ซีบีดีเท่าใด เพราะปริมาณจะส่งผลต่อการรักษาโรคแตกต่างกัน และสิ่งสำคัญต้องมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค” ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

Advertisement

ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า ส่วนระยะที่ 2 คือ การขยายการผลิตเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม ด้วยการขยายจาก 100 ตารางเมตร (ตร.ม.) พื้นที่ปลูกเป็น 1,000 ตร.ม. พร้อมมีการปลูกแบบในโรงเรือน เพิ่มการปลูกแบบกรีนเฮาส์ เพื่อปรับปรุงสายพันธ์ให้ได้สารที่เหมาะสม และให้สามารถปลูกในสภาพอากาศของไทยด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ และอนาคตระยะที่ 3 จะขยายการผลิตเป็นอุตสาหกรรม ดำเนินการปลูกและผลิตสารสกัดระดับอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร สำหรับสายพันธุ์โดยทั่วไป สายพันธุ์ซาติว่า (Sativa) พันธุ์กัญชาโดยทั่วไปที่พบในไทยมีสารเมาทีเอชซีมากกว่าซีบีดี ขณะที่สายพันธุ์อินดิก้า (Indica) ที่พบในยุโรปและประเทศเขตหนาว จะมีสารทีเอชซีต่ำกว่าซีบีดี แต่พันธุ์ที่อภ.นำมาปลูกเป็นพันธุ์ผสมที่มีทีเอชซีเด่น ซีบีดีเด่นและมีสัดส่วน 1:1 เพื่อนำใช้ในการทางการแพทย์

ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า เบื้องต้น อภ.จะผลิตเป็นยาน้ำมันหยดใต้ลิ้นก่อน เพื่อให้นำไปใช้ต่อผู้ป่วย ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ได้เป็นอย่างดี คาดจะได้ผลผลิตปลายเดือนกรกฎาคมนี้ และคาดจะได้ผลผลิตมากกว่า 2,500 ขวดกระจายเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาล ส่วนระยะที่ 2 อภ.จะปลูกและเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000-200,000 ขวด อย่างไรก็ตาม ในร่างกายของมนุษย์จะมีเอนโดแคนนาบินอยด์ เมื่อมีอายุมากขึ้นสารเหล่านี้จะลดลงทำให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ หากมีการเติมสารซีบีดีจะช่วยปรับสมดุลของร่ายกาย โดยต้องได้รับการวินิจฉัยเฉพาะราย

ด้าน รศ.วิเชียร กล่าวว่า ในอดีตกัญชาเป็นพืชต้องห้ามและเป็นจัดเป็นสารเสพติดห้ามปลูก ห้ามเสพ เนื่องจากมีฤทธิ์ให้เกิดความมึนเมาและมีโทษทางระบบประสาท แต่ขณะนี้ในต่างประเทศพบผู้ป่วยที่สามารถรักษาโรคด้วยกัญชาแล้วได้ผล ดังนี้ 1.โรคลูคีเมีย (Leukemia) 2.โรคลมชักในเด็ก (Dravet Syndrome) 3.โรคมะเร็งที่สมองและระบบประสาท (Optic pathway glioma brain tumor) และ 4.โรคลมชัก (Epilepsy) ซึ่งเป็นการพิสูจน์แล้วว่ากัญชาไม่ใช่พืชที่ให้โทษแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้รักษาอาการของโรคได้ ในกรณีการใช้กัญชาในแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันออกไปตามสภาพร่างกาย กล่าวคือ ความทนต่อการใช้กัญชาไม่เท่ากัน ดังนั้น การควบคุมการใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรรมผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนั้น สารสำคัญในกัญชาที่สกัดออกมาแล้วต้องสะอาด ได้มาตรฐานเมดิคัลเกรดในลักษณะเดียวกันทุกขวด และมีส่วนผสมของสารทีเอชซีและซีบีดีที่สามารถระบุสัดส่วนความเข้มข้นได้อย่างชัดเจน

Advertisement

รศ.วิเชียร กล่าวถึงข้อสงสัยการใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง ว่า ยังไม่มีการยืนยันว่ารักษาได้ เพียงแค่สามารถบรรเทาอาการจากโรคเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าการไม่ใช้กัญชา ในด้านการปลูก แน่นอนว่าปลูกคนเดียว ผลผลิตที่ได้ย่อมไม่เพียงพอ แต่การปลูกในโรงเรือนลงทุนมาก ซึ่งปัจจุบันยังมีการปลูกแบบกรีนเฮาส์ ที่สามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวถ่ายทอดสู่เกษตรกร ทั้งนี้ ยืนยันว่าทางอภ.ไม่ได้ปิดกั้นแก่เกษตรกร เพียงแต่การปลูกให้ได้มาตรฐานตามกำหนดคือ ปราศจากสารปนเปื้อน เป็นสายพันธุ์ดี เมื่อนำไปสกัดแล้วได้สารสำคัญตามต้องการ ดังนั้น การควบคุมการปลูกให้ได้มาตรฐานค่อนข้างทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากปลูกแล้วได้ผลตามต้องการยินดีส่งเสริมเกษตรกรและพันธมิตรให้ร่วมปลูก เพราะทางเราเองคงไม่อยากให้เกษตรกรปลูกแล้วเจ๊ง โดยการส่งเสริมให้เกษตรการปลูกเป็นหนึ่งในแผนของอภ.ที่ต้องดำเนินการด้วย ขณะนี้ อยากเน้นการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศอย่างเพียงพอ ลดการนำเข้า เพื่อให้ราคาถูกลง ประชาชนสามารถเข้าถึงตัวยาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image