สร้างภูมิคุ้มกันก่อนเดินทาง 9 วัคซีนจำเป็น เรื่องใหญ่ที่ละเลยไม่ได้

ภาพโดย Katja Fuhlert จาก Pixabay

แม้ว่าวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่จะหมดลงไปแล้ว ทว่าอาจมีคนอีกจำนวนมากที่เตรียมแพลนหาวันหยุดท่องเที่ยวไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ

และหนึ่งในแพลนที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ หรือมองข้ามไปคือ การฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ไม่ต้องพบกับความเจ็บป่วย อีกทั้งยังช่วยลดความรุนแรงหากต้องเผชิญกับโรคที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุควรตรวจร่างกายและฉีดวัคซีนก่อนออกเดินทางเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปตามแพลน และได้พักผ่อนอย่างแท้จริง

นพ.ไพฑูรย์ บุญมา แพทย์อายุรกรรมโรคติดเชื้อ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า วัคซีนที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวมีรายละเอียดดังนี้ 1.วัคซีนโรคไข้เหลือง ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (WHO IHR) แนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศในแถบแอฟริกากลางและอเมริกาใต้ต้องรับวัคซีนไข้เหลืองก่อนเดินทางอย่างน้อย 10 วัน เนื่องจากประเทศดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ส่วนการรับเข็มกระตุ้นนั้นจะทำได้ทุก 10 ปี 2.วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอด ในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนช่วงฤดูฝน สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวควรฉีดก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์

3.วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ คุณหมอไพฑูรย์แนะนำว่า ให้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์เมื่อต้องไปในพื้นที่เสี่ยงภัยและต้องพักอาศัย หรือทำงานอยู่กับชาวพื้นเมือง หรือต้องอาศัยอยู่ในที่ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดีพอ อาหาร น้ำดื่มไม่สะอาด โดยพื้นที่ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่ อินเดีย แอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลาง วัคซีนชนิดนี้จะรับเพียงเข็มเดียวและควรได้รับก่อนที่จะออกเดินทางประมาณ 1 เดือน และควรได้รับการกระตุ้นซ้ำทุก 3 ปี หากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน

Advertisement

4.วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ แนะนำฉีดในประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง เนื่องจากมีโอกาสสูงในการเกิดโรครุนแรง ผู้ประกอบอาหาร กลุ่มชายรักชาย ผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีสุขอนามัยไม่ดีพอ โดยควรฉีดเพียง 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน 5.วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โรคนี้ก่อให้เกิดการติดเชื้อเรื้อรังนำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ นพ.ไพฑูรย์จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ติดยาเสพติด รักร่วมเพศ ผู้ป่วยโรคไตที่ทำการฟอกไต ผู้ป่วยที่รับเลือดบ่อย ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ โดยฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 6 เดือน

นพ.ไพฑูรย์ บุญมา

สำหรับวัคซีนชนิดที่ 6 คือ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางแต่ละครั้งเราอาจพบเจอสัตว์เร่ร่อนจำนวนมาก และถ้าต้องอยู่ในประเทศนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หรือต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับสัตว์นำโรคแล้ว ฉะนั้น ควรแบ่งการให้วัคซีนออกเป็น 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 จะแบ่งให้หลังจากรับเข็มแรก 7 วัน และครั้งที่ 3 จะรับหลังจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 14-21 วัน ทั้งนี้ การรับเข็มกระตุ้นหรือเข็มที่ 4 ไม่จำเป็นต่อผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ นอกเสียจะเคยได้รับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ามานานกว่า 10 ปีแล้ว

นพ.ไพฑูรย์กล่าวว่า วัคซีนชนิดที่ 7 คือ วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น นักท่องเที่ยวควรรับวัคซีนชนิดนี้หากต้องอาศัยอยู่กับประชากรของประเทศซึ่งมีการระบาดเป็นเวลานาน เช่น แอฟริกา ซาอุดีอาระเบีย โดยผู้ที่ต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประเทศซาอุดีอาระเบียจะต้องรับวัคซีนนี้ก่อนทุกคน ซึ่งเป็นการฉีดเพียงครั้งเดียวก่อนออกเดินทางประมาณ 2-3 สัปดาห์

Advertisement

8.วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค การให้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคเป็นวัคซีนที่ผู้ที่ต้องเดินทางส่วนใหญ่ควรได้รับ ส่วนมากโรคนี้จะระบาดในพื้นที่ที่ไม่สะอาดและไม่ถูกสุขลักษณะ มีน้ำที่ไม่สะอาด เช่น เขตแอฟริกา เอเชียใต้ หรือตะวันออกเฉียงใต้ วัคซีนชนิดนี้จะเป็นวัคซีนชนิดรับประทานแบ่งให้ 2 ครั้ง โดยให้ห่างกันในระยะเวลา 1-6 สัปดาห์ เด็กอายุ 2-6 ปี ควรได้รับ 3 ครั้ง โดยระยะห่าง 1-6 สัปดาห์เช่นกัน ผู้รับวัคซีนต้องมั่นใจว่าได้รับวัคซีนครบถ้วนก่อนจะออกเดินทางอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และ 9.วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม จะได้รับในเด็กทุกคนตั้งแต่เกิด แต่หากยังไม่ได้รับวัคซีนนี้และต้องเดินทางไปยังประเทศที่โรคกำลังแพร่ระบาด ควรจะรับวัคซีนก่อนออกเดินทาง โดยวัคซีนจะแบ่งเป็น 2 เข็ม ทั่วไปจะได้รับในเด็กอายุ 12-13 เดือน และเริ่มเข้าโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่สามารถรับได้ 2 เข็มเช่นกัน โดยเว้นระยะห่างระหว่างเข็มเป็นเวลา 1 เดือน โดยควรจะได้รับเข็มที่ 2 ก่อนออกเดินทางประมาณ 2 สัปดาห์” นพ.ไพฑูรย์กล่าว

อย่างไรก็ดี แพทย์จะพิจารณาการฉีดวัคซีนให้กับนักท่องเที่ยวตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากข้อมูลสุขภาพ ผลการตรวจร่างกาย สถานที่หรือประเทศที่ไปท่องเที่ยว ระยะเวลาในการท่องเที่ยว ตลอดจนกิจกรรมที่ทำขณะท่องเที่ยว ฉะนั้นการฉีดวัคซีนก่อนท่องเที่ยวคือหนึ่งในแพลนที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image