สายบุพเฟต์ต้องรู้! 8 เคล็ดลับ กิน ‘ชาบู’ อย่างไรให้ได้ ‘สุขภาพ’

ชาบู
ชาบู

สายบุพเฟต์ต้องรู้! 8 เคล็ดลับ กิน ‘ชาบู’ อย่างไรให้ได้ ‘สุขภาพ’

ชาบู – การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ส่งผลกระทบให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 เปลี่ยนไปอย่างมากในหลายๆ ด้าน ที่แม้ว่าสถานการณ์การติดเชื้อจะมีแนวโน้มที่ขึ้นแต่การแพร่ระบาดของโรคก็ยังไม่หมดไป

หลายคนจึงเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งรวมไปถึงการออกไปกินอาหารที่ร้าน แต่ปรับเป็นทำกินเอง หรือสั่งอาหารดิลิเวอรีก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ซึ่งบริการส่งอาหารที่ได้รับความนิยม ก็ไม่พ้น “อาหารประเภทชาบู” บุฟเฟ่ต์ต่างๆ ที่จัดส่งถึงบ้าน จัดเต็มทั้งวัตถุดิบและอุปกรณ์อย่างหม้อชาบูมาให้พร้อม หรือบางร้านก็ปรุงสุกมาให้พร้อมกัน

ทว่าทัศนคติที่มีต่อการกินอาหารบุฟเฟต์ ทั้งสั่งมากินหรือทำกินเองก็ยังคงเป็น “การกินไม่อั้น” จึงมีโอกาสที่สายกินจะโซ้ยแบบจุกๆ กินทีต้องกินให้คุ้ม ซึ่งอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่สมดุล และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ในระยะสั้น คือ อิ่มจุก ไม่สบายท้อง และระยะยาวคือ ได้รับไขมันสูงอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

เครือข่ายคนไทยไร้พุง ได้แบ่งปัน เคล็ดลับ “กินชาบู” อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจ ทั้งยังไม่ทิ้งหลักการเว้นระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคระบาด ดังนี้

1.สั่งให้มีวัตถุดิบครบถ้วน ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก รับประทานพร้อมกับข้าวไม่ขัดสี หรือวุ้นเส้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายและอิ่มท้องจากอาหารที่ครบถ้วน

2.เนื้อสัตว์ ควรเลือกกินให้หลากหลาย ทั้งหมู ไก่ ปลา กุ้ง ไข่ เพื่อกระจายให้สารอาหารหลากหลาย เพราะเนื้อสัตว์แต่ละชนิดจะมีแร่ธาตุ วิตามินและปริมาณไขมันแตกต่างกัน หากอยากกินเนื้อติดมันบ้าง ก็สั่งมากินได้ แค่ควรคุมปริมาณ โดยกินสลับกับผัก หรือเนื้อสัตว์ประเภทอื่น

3.หลีกเลี่ยงการกินเน้นแต่เนื้อหรือผัก เพราะจะให้ความอิ่มที่ไม่เหมาะสม หากเน้นแต่กินเนื้อจะทำให้ได้รับไขมันแฝงมามากเกินไปได้ อิ่มหนักท้องเกินไป ยิ่งหากรับประทานเป็นมื้อเย็นแล้ว ก็อาจทำให้นอนไม่สบายตัว รวมทั้งอาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารได้ หรือหากอิ่มจากการกินแต่ผัก แม้บางคนจะทำให้อิ่มท้องได้แต่ก็ไม่นาน แต่อาจหิวอีกได้ในเวลาอันสั้น และเพิ่มโอกาสกินจุบจิบในช่วงค่ำได้

4.ควรสั่งให้มีผักหลากหลาย เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ข้าวโพดอ่อน กะหล่ำปลี โดยหากทางร้านให้มาน้อย อาจอุดหนุนซื้อจากแผงผักที่ตลาดมากินเพิ่ม ช่วยกระจายรายได้ให้กับแม่ค้าได้อีกด้วย

5.น้ำซุป ทางร้านมักทำสำเร็จเอาไว้ให้แล้ว โดยเราจะเลือกใช้ของทางร้านก็ได้ หรือหากมีสต๊อกซุปผักหรือไก่ ก็สามารถนำมาใช้ได้ และควรหลีกเลี่ยงการใส่ซุปก้อนสำเร็จเพิ่ม ซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูง และควรซดน้ำซุปแต่น้อยเพื่อลดปริมาณโซเดียมที่จะได้รับเข้าร่างกายในมื้อนั้นๆ ลง

6.ตักน้ำจิ้มกินแต่พอควร อย่าใช้วิธีจุ่มเนื้อในน้ำจิ้มจนฉ่ำ น้ำจิ้มหมดแล้วก็ไปซื้อน้ำจิ้มสำเร็จรูปมากินเพิ่มอีก ซึ่งจะทำให้ได้รับน้ำตาลและโซเดียมเกินในปริมาณสูง

7.หาผลไม้มากินล้างปากปิดท้ายได้ เพื่อลดโอกาสที่จะหาขนมหวานมากินเพิ่ม

และ 8.ควรยึดหลัก “ต้มสุก ตักแยก แทรกกินผัก” กล่าวคือ ต้มส่วนผสมต่างๆ ในน้ำซุปให้สุก ใช้ทัพพีส่วนตัวตักแยกเนื้อสัตว์ ผัก น้ำซุป ใส่ชามแยกกินของใครของมัน และตักผักกินแทรกสลับกับการกินเนื้อสัตว์ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการจากผัก แทนการแย่งกันตักเนื้อสัตว์กินกันอย่างเดียว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินชาบูให้ดีต่อสุขภาพนี้ แรกๆ อาจรู้สึกฝืน แต่ถ้าทำจนเคยชินแล้ว ก็จะกลายเป็น New Normal ในการกินที่ดีต่อสุขภาพได้ในทุกสถานการณ์

ที่มา : เครือข่ายคนไทยไร้พุง, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image