ปั่นหู ไม่ฟินอย่างที่รู้สึก เสี่ยงขี้หูอุดตัน ทำหูอื้อ แพทย์ชี้วิธีที่ถูกต้องที่สุด (คลิป)

ปั่นหู

ปั่นหู ไม่ฟินอย่างที่รู้สึก เสี่ยงขี้หูอุดตัน ทำหูอื้อ แพทย์ชี้วิธีที่ถูกต้องที่สุด (คลิป)

เป็นกิจวัตรประจำวันของหลายคน กับการปั่นหู ซึ่งมีหลายวิธี ทั้งใช้ไม้ค่อยๆ บรรจงแคะ ใช้คอตตอลบัตค่อยๆ หมุน หรือล่าสุดมีเครื่องดูดขี้หูกันแล้ว

แน่นอนส่วนใหญ่เลือกใช้คอตตอลบัตปั่นหูอยู่ เพราะทำได้สะดวกรวดเร็ว หาซื้อง่าย ราคาเป็นมิตรกว่าวิธีการอื่นๆ ซึ่งในทางการแพทย์แนะนำ ดังนี้

 

ปั่นหู ยิ่งปั่น ยิ่งตัน?

Advertisement

ส่วนใหญ่เวลาที่เราปั่นหู เรามักจะเข้าใจว่า เมื่อคอตตอนบัตเข้าไปแล้ว จะควักตัวขี้หูออกมาได้ แต่ในความเป็นจริง เมื่อปั่นเข้าไปปุ๊บ ขี้หูก็อาจจะยิ่งเข้าไปตันในหูไปอีก อาจจะทำให้เกิดภาวะขี้หูอุดตันได้มากขึ้นจริง

ส่วนเวลาอาบน้ำ หากมีน้ำเข้าหู ก็ไม่แนะนำให้ปั่นหูเหมือนกัน แนะนำว่าอาจจะใช้คอตตอนบัตซับตรงปลายรูหู แล้วก็เอียงนิดนึง เพื่อซับตรงบริเวณปลายรูหูให้น้ำออก แค่นั้นก็พอ แต่ถ้าเรายิ่งปั่นเข้าไป มันมีโอกาสที่ขี้หูจะเกิดการอุดตันได้มากขึ้น แล้วถ้ายิ่งอุดตันแน่น การได้ยินก็อาจจะยิ่งมีปัญหาได้มากขึ้น

ปั่นหู

หูอื้อ ขี้หูอุดตัน?

Advertisement

หากที่ขี้หูอุดตันมาก ๆ จะทำให้มีภาวะการได้ยินบกพร่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการนำเสียงบกพร่อง เพราะฉะนั้น คนไข้อาจจะรู้สึกหูอื้อ หรือการได้ยินที่ลดลงได้ หลังจากที่เกิดภาวะขี้หูอุดตันได้ เวลาที่เราปั่นหู อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดแค่ขี้หูอุดตันอย่างเดียวก็ได้

อาจทำให้มีภาวะการถลอก หรือเกิดเป็นแผลของบริเวณรูหูชั้นนอก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การติดเชื้อ เกิดภาวะหูชั้นนอกอักเสบ หรือถ้ายิ่งกว่านั้น เราแคะแล้วลึกเกินไป เช่น กรณีที่เราใช้ไม้แคะหูแหลม ๆ แล้วเกิดเราลึกเกินไป อาจจะไปเกิดการบาดเจ็บของบริเวณเยื่อแก้วหูตามมาได้ ซึ่งก็จะมีผลเสียได้เช่นกัน

 

แคะขี้หู จำเป็นหรือไม่?

การเขี่ยเอาขี้หูออก ถ้าทำโดยผู้เชี่ยวชาญหรือหมอจะไม่ค่อยอันตราย เพราะว่าคุณหมอจะมีกล้องที่จะส่องดูว่าเราเขี่ยถึงไหน หรือว่าโดนแก้วหูหรือยัง หรือว่าเอาออกหมดไหม และเขี่ยแค่ตรงบริเวณตัวขี้หู ก็จะไม่ได้ไปโดนตัวเยื่อบุหรือผนังหู แต่ถ้าเราทำเองแล้วไปเขี่ยโดนแก้วหูหรือเขี่ยโดนผนังรูหู ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะการบาดเจ็บของหูชั้นนอกได้

ถ้ารูหูปกติดี ช่องหูปกติดี ไม่ได้มีภาวะผิดปกติของช่องหู เช่น มีภาวะรูหูแคบ หรือว่ามีภาวะติดเชื้อของรูหูชั้นนอก หมอแนะนำว่าไม่ต้องทำความสะอาดรูหูเลย เพราะว่าลักษณะของขี้หู เทียบง่าย ๆ ก็คล้าย ๆ กับขี้ไคล มันหลุดลอกออกเองได้

หู ลักษณะทางกายวิภาค

โดยเฉพาะเวลาที่เราขยับใบหน้า เราเคี้ยวอาหาร มันหลุดลอกออกเองได้ ยกเว้นแต่ว่าบางคนมีปัญหาผิดปกติ อย่างเช่น ไปดำน้ำ ว่ายน้ำมา แล้วมีน้ำสกปรกเข้าไป ทำให้กลไกการขับขี้หูเสียไป ซึ่งการสังเกตก็คือ ดูว่าหากมีการได้ยินที่ผิดปกติ มีปวดหู มีหนองออกหู หรือมีกลิ่นที่ผิดปกติ อันนี้ควรมาพบแพทย์

เราไม่จำเป็นที่จะต้องแคะหรือปั่นขี้หูเพราะโดยปกติแล้ว ขี้หูจะมีการหลุดออกเองโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะเวลาที่เราเคี้ยวอาหาร หรือเรามีการขยับของใบหน้า โดยส่วนใหญ่แล้วมันมักจะหลุดออกเองได้

 

ข้อมูลโดย อ. พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และรายการ Rama Channel

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image