บอกมาคืนนี้ ‘ปัสสาวะ’ ไปกี่ครั้ง เช็กสาเหตุปัสสาวะกลางคืนบ่อย เกี่ยวกับระบบประสาทยังไง?
ปัสสาวะกลางคืนบ่อย – เรียกว่าเป็นปัญหาชวนหงุดหงิดไม่น้อย กับการที่ต้องตื่นบ่อยๆ เวลากลางคืนเพื่อปัสสาวะ ซึ่งแยกได้เป็น ปัสสาวะบ่อยกลางคืนที่ผิดปกติ หรือ มีภาวะปัสสาวะรดที่นอน
ทราบหรือไม่ว่า ปกติการนอนสามารถเกิดได้ต่อเนื่อง 6-8 ชม. โดยที่ไม่ต้องลุกมาปัสสาวะเลย ทั้งยังมีบางการศึกษาพบว่าการตื่นมาปัสสาวะตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป สามารถทำให้เกิดอาการง่วงเพลียกลางวัน
พญ.ณิรัชดา ทรัพย์อนันต์ แพทย์ระบบประสาทวิทยา เชี่ยวชาญเฉพาะทางการนอนหลับผิดปกติและลมชัก โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยไว้ในบทความสุขภาพ ‘คุณปัสสาวะกลางคืนกี่ครั้ง ปัสสาวะกลางคืนผิดปกติหรือไม่ ‘ ไว้ตอนหนึ่งว่า สาเหตุของการปัสสาวะบ่อยกลางคืน มีหลายปัจจัย อาทิ มีปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะโดยตรง มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เนื้องอกต่อมลูกหมากหรือเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ หรือมีปัญหาหูรูดกระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ดี รวมถึงเบาหวาน เบาจืดหรือโรคหัวใจ หรือแม้เต่การบริโภคคาเฟอีนก่อนนอน
แต่สิ่งที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยมากกว่า แต่มักไม่ได้รับความสาคัญคือ ‘ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ’ (Sleep Apnea)
Sleep apnea เป็นภาวะการหยุดหายใจ หรือมีการหายใจแผ่วเบาขณะหลับ ที่สืบเนื่องจากภาวะทางเดินหายใจส่วนต้นในช่องคอมีการยุบตัวระหว่างการหลับ เป็นเหตุให้ความดันในช่องอกเพิ่มขึ้น เลือดดำจะไหลกลับเข้าหัวใจมากกว่าปกติ ร่างกายเกิดการเข้าใจผิดว่า ปริมาตรน้ำในร่างกายเยอะเกินไป แต่แท้จริงแล้วปริมาตรน้ำในร่างกายยังเท่าเดิม การรับรู้ที่ผิดไปนี้ จึงกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีที่มีผลต่อการทำงานของไต ลดการดูดกลับของสารน้ำและเกลือโซเดียมจากท่อไต ดังนั้นจึงทำให้มีปัสสาวะออกเป็นจำนวนมาก
โดยสรุปคือ ในภาวะ sleep apnea ระบบประสาทและการสร้างสารเคมีที่มีผลต่อการผลิตปัสสาวะทำงานผิดพลาด จึงทำให้มีการสร้างปัสสาวะออกมาจำนวนมาก จนทำให้ต้องสะดุ้งตื่นเพื่อเข้าห้องน้ำกลางคืน แต่มีหลายการศึกษาพบว่า การรักษา sleep apnea โดยใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (CPAP) ช่วยลดปัญหาปัสสาวะบ่อยกลางคืนได้ เนื่องจากเครื่องช่วยหายใจ ช่วยให้การหายใจขณะหลับเป็นปกติ ความดันในช่องอกปกติ จึงไม่เกิดการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ ระบบประสาท และการทำงานของไต
ดังนั้น หากตื่นเข้าห้องน้ำบ่อยตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปต่อคืน อาจจำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเรื่องการนอนหลับ เพื่อพิจารณาตรวจการนอนหลับ (polysomnogram study) หาสาเหตุว่า มีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ด้วยหรือไม่ และเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจตามมาจากการหยุดหายใจขณะหลับ เช่น หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น