เดินลุยน้ำขังหน้าฝน น่ากังวลกว่าตาเห็น! เปิดวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพจาก @Gujajang

เดินลุยน้ำขังหน้าฝน น่ากังวลกว่าตาเห็น! เปิดวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหมือนเป็นสัญญาหน้าฝน ว่าฝนตกทีไรน้ำท่วม หรือน้ำขังรอการระบายทุกครั้ง อย่างล่าสุดตกตลอดช่วงเช้ารับเดือนกันยายน ทำให้หลายพื้นที่น้ำท่วมขัง การจราจรติดขัด

หลายคนต้องเผชิญน้ำท่วม อาจมีบ่น ท้อ แต่ก็ต้องเดินลุยต่อไป เพื่อไปเรียนและทำงานตามหน้าที่ต้องรับผิดชอบ โดยอาจไม่ได้ใส่ใจสุขภาพและความสะอาด

ก่อนจะมีโรคภัยไข้เจ็บมาให้ชีวิตลำบากยิ่งกว่า จึงต้องรู้วิธีอยู่ให้ได้กับสภาพอากาศเช่นนี้ และวิธีชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเคล็ดลับดีๆ จากกรมการแพทย์ ดังนี้

ฤดูฝนที่แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค จะปนเปื้อนมากับกระแสน้ำ ซึ่งจะพัดพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค ของเสียต่างๆ สารเคมีกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ส่งผลให้สัตว์และแมลงออกจากรังมาอาศัยอยู่บริเวณต่างๆ พาหะนำโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดีแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย

Advertisement

ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อจากอาหารเป็นพิษ โรคเล็บโตสไปโรสิส (หรือโรคฉี่หนู) และที่สำคัญคือโรคผิวหนังที่เกิดจากการประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ โรคผิวหนังจากการสัมผัสกับสารเคมีสิ่งสกปรกหรือติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือหนอนพยาธิ โรคผิวหนังจากแมลง สัตว์มีพิษกัดต่อย

ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับอันตรายจากการถูกกัดต่อยแล้ว ภายหลังหากได้รับเชื้อโรคเข้าไปด้วย อาจทำให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้ และโรคน้ำกัดเท้า เมื่อเดินย่ำน้ำบ่อย ๆ หรือยืนแช่น้ำนาน ๆ จะทำให้เท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า ซึ่งบริเวณผิวหนังที่เปื่อยนี้ เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำเพราะอาจถูกของมีคมทิ่ม ตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อบาดทะยักตามมาได้ เมื่อประสบเหตุดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุขทันที และถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักมาก่อนควรปรึกษาแพทย์ทันที

Advertisement

สำหรับการดูแลผิวหนังสำหรับเมื่อต้องลุยน้ำท่วม

-ให้หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ เพื่อป้องกันของมีคมในน้ำทิ่ม ตำ เท้า และรีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งเมื่อเสร็จธุระนอกบ้านทันที หากมีบาดแผลตามผิวหนังไม่ควรสัมผัสน้ำสกปรก เมื่อมีแผล ผื่นที่ผิวหนัง ให้พบแพทย์ ทายาหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญหากรู้สึกไม่สบายให้รีบปรึกษาแพทย์ที่ใกล้บ้านทันที

-ในแต่ละบ้านควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้อุปโภคหรือบริโภค ถ้าหาแหล่งน้ำสะอาดไม่ได้ควรต้มน้ำให้เดือดก่อนใช้อย่างน้อย 10 นาที ถ้าอาศัยอยู่ใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งสารเคมี พึงระลึกเสมอว่าแหล่งน้ำดังกล่าวอาจปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งความร้อนไม่สามารถทำให้น้ำเหล่านี้สะอาดพอสำหรับการบริโภคได้ จึงควรจัดหาน้ำสะอาดไว้ใช้ในครัวเรือนให้เพียงพอเสมอ

-ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ สวมเสื้อผ้ามิดชิด ป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย นอนในมุ้งหรือที่มิดชิดและพึงระลึกเสมอว่าแมลงหรือสัตว์มีพิษก็อาจหนีน้ำมาอาศัยอยู่ในที่สูงเช่นกัน

-ควรตรวจสอบบริเวณบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ และผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานที่ยังเล็ก เพราะเด็กๆ จะสนุกกับการเล่นน้ำและไม่ใส่ใจเรื่องการรักษาความสะอาดและอันตรายที่แฝงมากับน้ำท่วม ตลอดจนตรวจสอบระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านด้วยความระมัดระวัง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีอันตรายถึงชีวิตได้

ข้อมูลจากกรมการแพทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image