เช็กสัญญาณ ลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

เช็กสัญญาณ ลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

การที่ลูกเจริญเติบโตสมวัยเป็นเรื่องดี แต่หากลูกตกอยู่ในภาวะ “เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย” อาจไม่ใช่เรื่องดีนัก

พญ.อลิสา กุลปิยะ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ศูนย์กุมารเวช รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย หรือ สภาวะที่เด็กโตเร็วกว่าปกติ (Precocious Puberty) พบได้ในเด็กทั้งเพศหญิงและชาย โดยจะพบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชายประมาณ 8 – 20 เท่า โดยพ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องหมั่นสังเกต เพราะมักมีความผิดปกติแอบแฝงอยู่เกิดจากมีฮอร์โมนเพศมากเกินไป โดยส่วนใหญ่เป็นความเปลี่ยนแปลงทางสรีระ

การเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย ส่งผลผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ โดยในด้านร่างกาย คือ ฮอร์โมนเพศจะทำให้กระดูกโตเร็ว และหยุดการเจริญเติบโต สิ่งที่ตามมาคือ ระยะเวลาการเจริญเติบโตในวัยเด็กจะสั้นลงกว่าเด็กปกติจึงทำให้เตี้ยเมื่อเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้เด็กอาจรู้สึกว่าตัวเองมีรูปร่างแตกต่างไปจากเพื่อนๆ วัยเดียวกัน อาจทำให้โดนล้อเลียนและมีพฤติกรรมแยกตัว

พญ.อลิสา กุลปิยะ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ศูนย์กุมารเวช รพ.กรุงเทพ
เด็กและเยาวชน

ส่วนปัญหาด้านจิตใจในเด็กชาย เนื่องจากการเป็นหนุ่มก่อนวัย ฮอร์โมนเพศชายจะสูงกว่าปกติ นำไปสู่การมีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง มีอารมณ์ทางเพศ วิธีตรวจวินิจฉัยคือ เมื่อสงสัยว่าเด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยให้รีบเข้ารับการตรวจร่างกายกับกุมารแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อในทันที

Advertisement

อย่างไรก็ตาม กุมารแพทย์ฯ ได้แนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้นดังนี้ ร่างกายเด็กผู้ชาย (ก่อน 9 ขวบ) ที่เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย 1.อัณฑะและองคชาตโต 2.เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ 3.นมแตกพาน เสียงแหบห้าว 4.กล้ามเนื้อเป็นมัด สิว หน้ามัน มีกลิ่นตัว 5.ส่วนสูงเพิ่มเร็ว มีหนวด

ร่างกายเด็กผู้หญิง (ก่อน 8 ขวบ) 1.เต้านมโตขึ้น 2.เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ 3.รูปร่างเปลี่ยนไป เช่น เอวคอด สะโพกผาย 4.มีตกขาว มีประจำเดือน 5.สิวเริ่มขึ้น หน้ามัน มีกลิ่นตัว 6.ส่วนสูงเพิ่มเร็ว

ทั้งนี้ นอกจากการสังเกตลักษณะร่างกายภายนอก การตรวจร่างกายและประเมินการเจริญเติบโตแล้ว แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยตามขั้นตอน เช่น

Advertisement

1.ซักประวัติโดยแพทย์ที่ชำนาญการ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เด็กมีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยและรักษาตามสาเหตุนั้น

2.ตรวจอายุกระดูก

3.ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน

4.ตรวจ MRI สมองเพื่อหาสาเหตุของโรค

5.ทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่าง เพื่อหาสาเหตุและประเมินขนาดมดลูกและรังไข่

เด็กและเยาวชน

ซึ่งในส่วนของการรักษาแพทย์จะรักษาตามสาเหตุที่เกิด หรือใช้การฉีดยาควบคุมฮอร์โมนเพศ และประเมินการรักษาเป็นระยะๆ เพราะเด็กเป็นวัยที่ต้องการการดูแล เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พัฒนาการทางด้านจิตใจที่ดี เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตตามวัยอย่างเหมาะสมเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image