โควิด-มือถือ ตัวร้ายทำลาย ‘สุขภาพการนอน’ คนอาเซียน

โควิด-มือถือ ตัวร้ายทำลาย ‘สุขภาพการนอน’ คนอาเซียน

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก ไม่เพียงแต่เรื่องระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพการนอนอีกด้วย เป็นหนึ่งในข้อสรุปหลัง “รอยัล ฟิลิปส์” เผยผลการสำรวจประจำปีเกี่ยวกับการนอนหลับครั้งที่ 6 เนื่องในวันนอนหลับโลก ในหัวข้อ “ค้นหาทางออก : โควิด-19 เปลี่ยนการนอนหลับของคนทั่วโลกอย่างไร” ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่าสองในสามหรือราวๆ 71% มีสุขภาพการนอนที่แย่ลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยรู้สึกกังวลและตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน แม้ผลการสำรวจปี 2563 ประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้เวลาในการนอนเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 7.2 ชม.ต่อคืน (เทียบกับปีก่อนหน้าที่ใช้เวลาในการนอน 7.1 ชั่วโมง) แต่กว่า 41% กลับรู้สึกไม่พึงพอใจต่อคุณภาพการนอน

เมื่อสำรวจต่อไป พบว่าประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 50% รู้สึกว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อคุณภาพการนอนที่แย่ลง โดย 22% รู้สึกว่านอนน้อยลงในตอนกลางคืน และอีก 44% มีอาการง่วงนอนในช่วงกลางวัน ส่วนอีก 38% รู้สึกว่านอนหลับอย่างมีคุณภาพ

ในกลุ่มที่มีปัญหาการนอนหลับสนิทอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน 42% มีปัญหาตื่นนอนในช่วงกลางดึก และ 33% มีอาการเผลอหลับโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่ 26% มีอาการนอนไม่หลับ โดยสาเหตุอันดับแรกของการนอนไม่หลับมาจาก ความเครียดและวิตกกังวล 21% รองลงมาคือ การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต 17% และสภาพแวดล้อมของการนอน 16%

Advertisement

ความเครียดและวิตกกังวลที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนอันดับแรก คือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเงิน 54% รองลงมาคือ เรื่องการทำงาน 52% ต่อมาคือสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว 38% และเรื่องภายในครอบครัว 34% แต่ที่น่าสนใจคือ กว่า 42% ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายในเร็ววัน

อย่างไรก็ตาม “โทรศัพท์มือถือ” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ขัดขวางการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ จากการสำรวจพบว่าประชากร 50% ใช้โทรศัพท์ขณะอยู่บนเตียงนอน และกว่า 50% ยอมรับว่าการเล่นโทรศัพท์เป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาทำก่อนนอน และเป็นสิ่งแรกที่เขาทำเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า โดยส่วนมาก 49% ใช้โทรศัพท์เพื่อความบันเทิง ในขณะที่ 37% ชาร์จโทรศัพท์ข้างเตียงทิ้งไว้ตลอดทั้งคืน ส่วนอีก 22% กล่าวว่า พวกเขามีการตื่นขึ้นมาเพื่อรับสายโทรศัพท์ หรือตอบข้อความกลางดึก

นอกจากนี้ ผู้คนส่วนใหญ่กว่า 78% ยอมรับว่าการเล่นโทรศัพท์บนเตียงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขานอนหลับช้าลง โดยพวกเขามักใช้เวลาไปกับการดูโซเชียลมีเดียต่างๆ 75%,ดูวิดีโอ 67%,เช็กอีเมล์ 39%,ส่งข้อความ 37% และติดตามข่าวสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กว่า 45%

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการนอนที่มีคุณภาพมากขึ้น ประชากรในเอเชียแปซิฟิกได้มีการใช้วิธีต่างๆ เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมการนอนหลับให้ดีขึ้น ทั้งการใช้ดนตรีบำบัด 41%,การอ่านหนังสือ 50%,ดูโทรทัศน์ 39%,การเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา 35%, ลดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน 25% รวมถึงการใช้เครื่องมือตรวจจับภาวะการนอนหลับ 18%

และจากปัญหาเรื่องการนอนหลับที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ 45%,เข้าปรึกษาแพทย์ประจำตัว 41%,ค้นหาข้อมูลสุขภาพออนไลน์ และบนเว็บไซต์ต่างๆ 41% และเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบเทเลเฮลธ์ 40%

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโควิด-19 แม้จะทำให้คุณภาพการนอนแย่ลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนผลักดันให้ประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับมากขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image