อย่าชะล่าใจ ไม่เสี่ยง ‘โควิด’ หมั่นทำความสะอาด แหล่งสะสมโรคที่ถูกมองข้าม

อย่าชะล่าใจ ไม่เสี่ยง ‘โควิด’ หมั่นทำความสะอาด แหล่งสะสมโรคที่ถูกมองข้าม

โควิด-19 กลับมาระบาดหนักระลอกใหม่อีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าเชื้อไวรัสโคโรนา ยังไม่หายไปไหน และยังอยู่รอบตัวเราอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ “การ์ดอย่าตก” สวมแมสก์ ล้างมือ และรักษาความสะอาดข้าวของเครื่องใช้อยู่เสมอ

ทั้งนี้ ยังมีแหล่งเชื้อโรคที่ “ถูกมองข้าม” อีกมากมาย ที่หลายคนละเลย หนังสือชีวิต “วิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา” โดย สสส. ได้รวบรวมมาให้ทราบและแนะนำวิธีทำความสะอาด ดังนี้

1.ชั้นวางรองเท้า เมื่อใส่รองเท้าเหยียบย่ำไปตามสถานที่ต่างๆ พื้นรองเท้าก็จะสะสมเชื้อโรคที่อยู่บนพื้นเหล่านั้นไว้ ดังนั้น หากมีโอกาส ควรล้างทำความสะอาดพื้นรองเท้าและชั้นวางรองเท้า เพื่อไม่ให้เป็นพื้นที่สะสมเชื้อและอาจแพร่เชื้อไไปตามพื้นที่อื่นๆ ได้

Advertisement

2.ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน อย่าคิดว่านอนหนุนหมอนและแค่พลิกไปพลิกมาอยู่บนเตียงนอนทุกคืน ปลอกหมอนกับผ้าปูที่นอนคงไม่สกปรกเท่าไหร่ แต่เหงื่อไคล รังแค เซลล์ผิวที่ตายแล้ว หรือขี้ไคลตามผิวหนัง แม้กระทั่งน้ำลายที่ไหลลงบนหมอน จะตกอยู่ที่ปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนนั่นแหละ

ดังนั้น หากปล่อยไว้นานๆ ไม่ซักทำความสะอาด ก็จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย ถึงจะอาบน้ำ ก่อนเข้านอนไปก็เหมือนล้มตัวลงนอนบนกองเชื้อโรคอยู่ดี ฉะนั้น ควรทำการซักปลอกหมอน และผ้าปูที่นอน “สัปดาห์ละครั้ง” เป็นอย่างน้อย

3.ถังขยะ หลายคนคิดว่าถังขยะใช้รองรับขยะอยู่แล้ว จึงไม่ต้องทำความสะอาดอีก แต่นั่นก็คือเหตุผลที่ถังขยะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี จึงมีกลิ่นเหม็นและเป็นอันตรายต่อผู้สัมผัสถึงขยะ

วิธีทำความสะอาด 1.สวมถุงมือยางก่อนทำความสะอาด 2.ผสมน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 5% ใช้ 1.3 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร ถ้าถังขยะขนาดใหญ่ ให้ผสมเพิ่มตามอัตราส่วน 3.เทน้ำยาที่ผสมไว้ล้างทำความสะอาดถังขยะให้ทั่ว 4.ใช้แปรงหรือฟองน้ำขัดให้สะอาด 5.ล้างน้ำเปล่าแล้วตากแดดผึ่งลมให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ควรมีติดบ้านไว้เสมอ คือ น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาฟอกขาว น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ น้ำส้มสายชู น้ำยาล้างจาน และน้ำยาถูพื้น

โดย “น้ำส้มสายชู” มีสารพัดประโยชน์นอกจากนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหารแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำความสะอาดคราบสกปรกในบ้านได้อย่างดี ใช้เช็ดทำความสะอาดคราบชากาแฟที่ติดถ้วย รอยไหม้บนเตารีด กำจัดคราบน้ำ คราบตะครัน อีกทั้งยังนำมาเช็ดกระจก แช่หัวก๊อกน้ำและฝักบัวที่อุดตัน รวมถึงล้างคราบสกปรกติดแน่นในโถส้วม และกำจัดคราบเชื้อราบนผ้าม่านกั้นอาบน้ำได้อีกด้วย

4.บัตรจอดรถ เมื่อได้มาแล้ว ให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด ก่อนเก็บแยกจากของส่วนตัว

5.ธนบัตรและเหรียญ เงินทั้งธนบัตรและเหรียญที่ใช้จับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน มีการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนผ่านมือคนมาไม่รู้กี่คนกว่าจะถึงมือเรา ถ้ามีคนไอจามแล้วใช้มือปิดปากเสร็จแล้วมาจับธนบัตร เชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคต่างๆ ก็จะสามารถมีชีวิตอยูบนธนบัตรใบนั้นๆ ได้ถึง 4-9 วัน ไหนจะมือคนอื่นที่จับสิ่งสกปรกต่างๆ มาอีก

ดังนั้น ธนบัตรที่เห็นอยู่อาจจะมีเชื้อโรคสะสมอยู่เป็นหมื่นตัวเลยทีเดียว ฉะนั้น ควรมีการทำความสะอาดเงินที่เพิ่มได้รับมาเสมอ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน

ทั้งนี้ เงินสดที่ได้รับมา ให้เก็บแยกใส่ถุงต่างหาก ไม่เก็บในกระเป๋าสตางค์ และหลังจากหยิบธนบัตรและเหรียญ ต้องล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงทำความสะอาดเงินด้วยการแช่น้ำสบู่น้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาซักผ้าเด็กเพียงไม่นาน (ถ้าแช่ไว้นานระวังเนื้อกระดาษเปื่อย) แล้วตากให้แห้งก่อนนำไปใช้ต่อ

6.เมาส์ คีย์บอร์ด อุปกรณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ อาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่มีใครนึกถึงการล้างมือก่อนทำงาน ซึ่งต่างจากการล้างมือก่อนกินอาหารที่จะระมัดระวังมากกว่า ดังนั้น เมื่อมือไปจับสิ่งของแล้ว มาใช้งานเมาส์และคีย์บอร์ด สิ่งที่ใกล้ตัวนี้จึงสะสมเชื้อโรคไว้มากมาย

วิธีทำความสะอาด 1.ถอดสายอุปกรณ์ สำหรับอุปกรณ์ไร้สายให้นำแบตเตอรี่ออกก่อน 2.ใช้ผ้านุ่มหรือสำลีก้าน ชุบน้ำผสมสบู่ 3.เช็ดพื้นผิวภายนอกเมาส์ ระวังอย่าให้น้ำเข้าอุปกรณ์ 4.แป้นพิมพ์ ใช้แปรงปักเศษฝุ่นในซอกระหว่างปุ่มแล้วเช็ดที่ละปุ่ม 5.ใช้ผ้าล้างน้ำให้สะอาด หรือสำลีก้านชุบน้ำหมาดๆ แล้วนำมาเช็ดอีกครั้ง ระวังไม่ให้น้ำหยดลงอุปกรณ์


7.ฟองน้ำล้างจาน แหล่งสะสมเชื้อโรคที่สุดในบ้าน เรียกได้ว่าสกปรกยิ่งกว่าห้องน้ำในบ้านซะอีก เพราะเราไม่ได้ใช้ฟองน้ำทำความสะอาดแค่จานชามที่ใช้กินอาหารอย่างเดียว แต่บางทีใช้ล้างภาชนะที่ใช้ล้างทำความสะอาดวัตถุดิบ เขียงที่หั่นเนื้อสด ซึ่งเต็มไปด้วยแบคทีเรียหลายชนิด แล้วสภาพของฟองน้ำที่มีความชื้นก็เหมาะกับการเติบโตของแบคทีเรียต่างๆ อีกด้วย

ดังนั้น 1.ควรเปลี่ยนฟองน้ำล้างจานบ่อยๆ เมื่อเห็นว่าเริ่มสกปรก อย่าเสียดายให้ทิ้งทันที 2.แยกฟองน้ำสำหรับล้างแก้ว และฟองน้ำสำหรับล้างจานออกจากกัน เพื่อลดการปนเปื้อน

ป้องกันไว้ก่อน ลดเสี่ยงโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image