รู้ก่อนฉีด ‘วัคซีนโควิด-19’ สรุปอาการหลังฉีด-กลุ่มไหนควรเลี่ยง

(ภาพใช้ประกอบข่าวเท่านั้น)

รู้ก่อนฉีด ‘วัคซีนโควิด-19’ สรุปอาการหลังฉีด-กลุ่มไหนควรเลี่ยง

บทเรียนจากทั่วโลกสะท้อนชัดแล้วว่า สถานการณ์โรคอุบัติใหม่จะคลี่คลายได้ ประการสำคัญคือการมีวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและได้รับอย่างทั่วถึง แม้จะเริ่มเข้าใจตรงกัน แต่คนไทยหลายคนก็ยังลังเลว่าจะฉีดหรือไม่ เนื่องจากวิตกกังวลกับผลข้างเคียงของวัคซีน จากสารพัดข่าวสารอาการหลังฉีด มีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิต

เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องไม่คาดฝัน มาทำความรู้จักการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ผ่านสาระสุขภาพ “เรื่องน่ารู้หลังฉีดวัคซีน COVID-19” ในเว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งแนะนำโดย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกและอาจารย์สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

สรุปอาการหลังฉีดแพ้น้อย-มาก

เริ่มที่ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนจาก 2 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และซิโนแวค (Sinovac) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีไม่ต่างกัน แต่สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลังจากฉีดได้เป็น 2 กรณี คือ

Advertisement

1.อาการที่สามารถคาดเดาได้ พบว่ามีอาการปวด บวม แดงร้อน บริเวณที่ฉีด ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ บางรายซึ่งเป็นส่วนน้อยมีอาการไข้สูง ต้องนอนพัก 2-3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย เมื่อมีอาการ สามารถกินยาลดไข้ได้ตามปกติ

2.อาการที่ไม่สามารถคาดเดาได้ คืออาการแพ้วัคซีน มีทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง อย่างอาการแพ้รุนแรง มักพบได้ภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน เช่น หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีผื่น ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน

“ควรสังเกตอาการหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายใน 30 นาที ในสถานพยาบาลที่ท่านรับการฉีด ซึ่งหากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ก็สามารถทำการฉีดยาแก้แพ้ และให้การรักษาได้ทันที หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว ควรสังเกตอาการต่อที่บ้าน หากเกิดอาการหลังได้รับวัคซีนมากกว่า 30 นาที อาการมักไม่รุนแรง แต่จำเป็นต้องบันทึกความผิดปกติทุกอย่างที่พบ หลังจากการฉีดวัคซีนลงในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม”

Advertisement

‘แพ้ยา-ตั้งครรภ์’ ฉีดดีไหม?

คนทั่วไปยังกังวล แต่กับคนที่มีประวัติแพ้ยาคือยิ่งกังวล ว่าควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่ ตรงนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา แนะนำว่า แม้ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้รุนแรงในอดีต จะสามารถมีอาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ได้มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติแพ้ต่างๆ มาก่อน แต่ไม่ว่าจะมีประวัติแพ้อะไรก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปด้วย ฉะนั้นสามารถฉีดวัคซีนได้ตามปกติ

“สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ต่างๆ สามารถกินยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอน 30 นาที – 1 ชั่วโมง ก่อนการรับวัคซีนโควิด-19 ก็จะสามารถบรรเทาอาการแพ้ได้ แม้จะช่วยได้เล็กน้อย”

ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ ศ.พญ.กุลกัญญาแนะนำว่า หากติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มักจะมีอาการรุนแรง ฉะนั้นกลุ่มนี้ควรฉีดวัคซีนก่อน โดยก่อนการฉีดควรปรึกษาจากแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดด้วย

ต่างจากผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ ศ.พญ.กุลกัญญาแนะนำว่า ในปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง อาจจะพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยวัคซีนบางตัวมีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ แต่สำหรับวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ยังต้องการข้อมูลความปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์เพิ่มเติมก่อน ที่จะอนุมัติให้ใช้ทั่วไป

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่-โควิดก่อนกัน?

ปัจจุบันนอกจากโรคอุบัติใหม่ที่ต้องระวังแล้ว ยังมีโรคตามฤดูกาลที่เป็นกันมาก และมีวัคซีนฉีดป้องกันคือ ไข้หวัดใหญ่ ส่วนจะฉีดวัคซีนไหนก่อน หรือฉีดพร้อมกันไปเลย

ศ.พญ.กุลกัญญา แนะนำว่า ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนเลยหากมีโอกาส เพราะฉีดครบโดสแล้ว จะไม่ป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ภายหลัง และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และแม้จะฉีดครบโดสแล้ว ก็จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะอาจจะมีการติดเชื้อ แบบไม่มีอาการ และไม่รุนแรงเกิดขึ้นได้ จนกว่าจำนวนประชากรในประเทศไทยจำนวนมาก หรือเกือบทั้งหมด จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เราถึงจะถอดหน้ากากพร้อมๆ กันได้

“ไม่ควรรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกัน แนะนำควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ หากสามารถเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ก่อน ควรเลือกฉีดเป็นอย่างแรก หรือหากยังไม่สามารถได้รับวัคซีนในเร็วๆ นี้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปก่อน”

สุดท้ายนี้ แม้บางคนจะติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ศ.พญ.กุลกัญญา แนะนำว่า ก็ยังต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 อยู่ดี โดยให้ฉีดวัคซีนหลังจากหายป่วยอย่างน้อย 3-6 เดือน ฉีดเพียงเข็มเดียวก็เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้อยู่ยาวนาน

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ

รู้อย่างไม่ตื่นกลัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image