หมอเปิด 3 อาการไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีนโควิด แนะวิธีสังเกตอาการ

หมอเปิด 3 อาการไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีนโควิด แนะวิธีสังเกตอาการ

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาล รวมถึงประชาชนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่ได้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี จำนวน 3 ราย ลงทะเบียนขอเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีและยังช่วยกระตุ้นให้กลุ่มผู้สูงอายุกล้าที่จะตัดสินใจเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและลดการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงหากป่วยเป็นโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

 

Advertisement

 

นพ.อชิรวินทร์ จิรกมลชัยสิริ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลวัคซีนโควิด-19, หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม, แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้คำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ว่าควรได้รับการฉีดวัคซีน หากไม่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เนื่องจากผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 ได้

สำหรับอาการแพ้วัคซีนนั้นแยกเป็น 3 ส่วนหลักๆ โดยมีวิธีสังเกตอาการ และวิธีปฏิบัติตัว ดังนี้

Advertisement

1. ภาวะแพ้วัคซีน เป็นปฏิกิริยาของร่างกายผ่านระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 มักเกิดขึ้นภายในเวลา 15-30 นาทีหลังรับวัคซีน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดคือ ผื่นคันคล้ายลมพิษ อาจมีอาการบวม นอกจากนี้อาการที่พบร่วมกันได้แก่ หายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ โดยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นหลายระบบพร้อมกัน ซึ่งจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลด้วยการให้ยาฉีดที่เป็น Adrenaline หรือ Epinephrine แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในเวลา 24 ชั่วโมง

2. ผลข้างเคียงของวัคซีน มักจะเกิดขึ้นหลังฉีดไปหลายชั่วโมง จนถึง 3 วัน อาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด อาการมักหายไปเองได้ โดยไม่ต้องให้การรักษา หรือรักษาตามอาการ แต่หากมีอาการปวดมาก อาจประคบด้วยความเย็นบริเวณที่ฉีดวัคซีน แล้วให้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล

3.อาการเป็นลม เป็นอาการหน้ามืดที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายหรือจิตใจอ่อนแอ เช่น คนป่วย อดนอน หิว หรืออยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน แสงแดด ความเครียด ความวิตกกังวล ยืนเป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หน้าซีด เหงื่อแตก ความดันโลหิตลดต่ำลงและเป็นลมหมดสติได้ โดยภาวะดังกล่าวสามารถหายได้เอง หากได้พักผ่อน อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี และไม่มีความจำเป็นต้องได้ยารักษา

ในกรณีที่ผู้มาฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีผลข้างเคียงหรือแพ้เล็กน้อยแบบไม่รุนแรง สามารถรับวัคซีนเข็มที่สองได้ตามกำหนด ไม่มีข้อห้ามในการรับฉีดวัคซีนเข็มต่อไป

แต่สำหรับ กรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีนเข็มที่สอง เพื่อหาสาเหตุว่าอาการแพ้ชนิดรุนแรงเกิดจากอะไร และปรับการฉีดวัคซีนเข็มที่สองเป็นอีกยี่ห้อที่มีส่วนผสมที่ต่างจากวัคซีนเข็มแรก

ซึ่งสาเหตุที่แพ้วัคซีนชนิดรุนแรงมักเกิดจากส่วนประกอบที่มีอยู่ในวัคซีน ที่พบบ่อยคือ Polyehtylene glycon (PEG) ซึ่งวัคซีน/ยาที่มีส่วนประกอบของ PEG ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA vaccine (Pfizer หรือ Moderna) ยาฉีด methylprednisolone ยาคุมชนิดฉีด (Depo-Provera) ยาระบาย miralax หากมีประวัติแพ้รุนแรงต่อกลุ่มนี้ อาจให้วัคซีนกลุ่มอื่น เช่น Sinovac vaccine เพราะไม่มีส่วนผสมเหล่านี้อยู่

อีกส่วนประกอบอื่นในวัคซีนที่อาจแพ้ คือ polysorbate ซึ่งมีรูปร่างคล้าย PEG ทำให้อาจพบการแพ้ร่วมกันได้ (cross-reactivity) ซึ่งวัคซีนที่มีส่วนประกอบของ polysorbate ได้แก่ ตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดบวม วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca, Sputnik-V, Johnson & Johnson

หากพบว่ามีอาการรุนแรงหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรรีบพบแพทย์ทันที

นพ.อชิรวินทร์ และทีมบุคลากรทางการแพทย์ รพ.บำรุงราษฎร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image