ไขข้อสงสัย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่

ไขข้อสงสัย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่

“ผลข้างเคียง” ของการฉีดวัคซีนโควิด เป็นประเด็นที่หลายคนกังวลใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังอย่าง “โรคหลอดเลือดหัวใจ” ซึ่ง นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า คนที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรังหากติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคที่รุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว

นพ.ชาติทนง แนะนำว่าให้เตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนี้ 1.ตรวจสอบอาการของโรคที่เป็นอยู่ว่ามีอาการที่เป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ เช่น มีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเฉียบพลันจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขณะออกแรงหรือออกกำลังกายบริเวณกลางหน้าอกหรือร้าวไปแขนซ้าย และโรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดเฉียบพลันร่วมด้วย เช่น เหนื่อย นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหมอนสูง หรือมีภาวะน้ำท่วมปอดร่วมด้วย

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

2.ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรง ถ้าความดันโลหิตตัวบนสูงมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท จำเป็นจะต้องควบคุมความดันโลหิตตัวบนให้ต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท ก่อนในวันก่อนมารับวัคซีน

 3.กรณีที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิด Warfarin ถ้าระดับ INR คงที่มาตลอดและ INR ต่ำกว่า 4.0 ภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีผลระดับ INR ก่อนหน้านี้อยูในระดับต่ำกว่า 3.0 มาโดยตลอด (ไม่จําเป็นต้องหยุดหรือปรับขนาดยาและไม่จําเป็นต้องตรวจ INR ก่อนรับวัคซีน) สามารถรับการฉีดวัคซีน COVID-19 ได้โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก 25G หรือ 27G ฉีดที่กล้ามเนื้อต้นแขน แล้วกดตําแหน่งที่ฉีดไว้นานประมาณ 5 นาที จากนั้นอาจประคบเย็นต่อด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น

Advertisement

 4.สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) และยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Aspirin, Clopidogrel, Ticagrelor หรือ Prasugrel สามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องงดยาก่อนฉีด ควรใช้เข็มขนาดเล็ก 25G หรือเล็กกว่า และไม่ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน ควรกดตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนนานอย่างน้อย 5 นาทีและแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ

หากมีการนัดเพื่อทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจหรือผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจในกรณีที่โรคค่อนข้างสงบหรือไม่ได้แสดงอาการควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเพื่อประเมินโดยละเอียดว่าโอกาสที่จะติดเชื้อสูงหรือไม่ หากประเมินแล้วผลดีของการฉีดวัคซีนมีมากกว่า ควรฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย

หรือในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น กำลังจะต้องทำบอลลูนหรือใส่ขดลวด รักษาด้วยการผ่าตัดทำ Bypass เส้นเลือดหัวใจที่ยังแสดงอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ ควรรักษาก่อนที่จะได้รับการฉีดวัคซีน

Advertisement
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่

สำหรับการเกิด “ลิ่มเลือด” ในหลอดเลือดมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ในกลุ่มผู้สูงอายุอาจพบเพียงแค่ 1 ในล้านโดสเท่านั้น และพบได้น้อยลงโดยเฉพาะในคนที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาต้านเกล็ดเลือด

อายุรแพทย์หัวใจ แนะนำทิ้งท้ายว่า ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการสังเกตอาการ 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน เพื่อสามารถดูแลได้ทันหากมีภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะไม่พึงประสงค์

ทั้งนี้ในระยะแรกหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 30 นาที ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ และอาการไม่รุนแรง เช่น เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ เหนื่อยหอบ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณข้อ หรือคลื่นไส้ ระหว่างที่สังเกตอาการ หากพบความผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อประเมินอาการทัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image