เบาหวานกับโควิด คุมน้ำตาลลดความเสี่ยง

เบาหวานกับโควิด

เบาหวานกับโควิด คุมน้ำตาลลดความเสี่ยง

ในระลอกที่โควิด-19 ระบาดยาวนานและทำสถิติยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน “ผู้ป่วยเบาหวาน” นับเป็นหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อติดเชื้อ เชื้ออาจลงปอดและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนไม่เป็นเบาหวาน 3-4 เท่า

โรงพยาบาลนวเวช จึงจัดสัมมนากลุ่มย่อยเรื่อง “เบาหวานกับโควิด ชีวิตไปทางไหน” โดยมี นพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล อายุรแพทย์ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลนวเวช มาให้ความรู้กับคนไข้ และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเบาหวานและโควิด

นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้คนเป็นเบาหวานที่ติดเชื้อโควิดมีอาการรุนแรงก็เพราะคนที่เป็นเบาหวานมีภูมิต้านทานต่ำกว่าคนปกติ เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นจะทำให้เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคอ่อนแอลง และเมื่อติดเชื้ออักเสบลุกลาม ร่างกายก็เกิดความเครียดที่จะต้องต่อสู้กับเชื้อโรค จึงหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ซึ่งฮอร์โมนนี้ก็เป็นตัวสำคัญในการสร้างน้ำตาลให้สูงขึ้นอีก

นพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล อายุรแพทย์ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลนวเวช

นพ.ธวัชชัย อธิบายเพิ่มอีกว่า ในเยื่อบุร่างกายของคนเรามีตัวรับเชื้อโรคที่เรียกว่า AEC2 Receptor อยู่แทบทุกเซลล์ ทั้งหัวใจ หลอดเลือด ตับ ไต ปอด เมื่อเชื้อโรคเข้าไปในร่างกายจะไปจับกับ AEC2 Receptor แล้วแบ่งตัว กระจาย ลุกลาม

Advertisement

  “คนที่เป็นเบาหวานเมื่อติดเชื้อโควิด ถ้ามีภาวะน้ำตาลสูง เชื้อโควิดก็จะแบ่งตัวได้เร็วขึ้น และมีโอกาสกระจายเข้าสู่ปอดได้เร็วขึ้นด้วย” อายุรแพทย์ย้ำ

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเบาหวานคุมน้ำตาลได้ดี ต่อให้ติดโควิดก็ยังเบาใจได้ เพราะโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจะน้อยลง การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะดีกว่าคนที่ไม่คุมน้ำตาลไม่ดี

นพ.ธวัชชัย กล่าวถึงตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่าเราคุมน้ำตาลได้ดีแค่ไหน มีอยู่ 3 ตัว คือ

Advertisement

1.FBS (Fasting Blood Sugar) หรือน้ำตาลก่อนอาหาร ค่าที่ได้ไม่ควรเกิน 130 mg/dL. แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่เข้มงวดคือไม่ควรเกิน 110 mg/dL.

2.HbA1C หรือน้ำตาลเฉลี่ย ค่าปกติอยู่ที่ 4-6% ค่านี้สะท้อนถึงการแกว่งของน้ำตาลในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป้าหมายการรักษาต้องการให้ A1C ไม่เกิน 7% คำนวนเป็นค่าเฉลี่ยน้ำตาลไม่เกิน 154 mg/dL ถ้ารักษาอย่างเข้มงวดไม่เกิน 6.5% คำนวนค่าเฉลี่ยน้ำตาลไม่เกิน 140 mg/dL.

และ3.น้ำตาลหลังอาหาร โดยวัดหลังจากรับประทานอาหาร 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 180 mg/dL.ถ้าต้องการตั้งเป้าหมายที่เข้มงวดต้องคุมไม่ให้เกิน 140 mg/dL.

 “น้ำตาลเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหน้าที่ต่างๆ ระดับเซลล์ ผู้ป่วยเบาหวานถ้าไม่อยากเสียชีวิตจากโควิด ต้องคุมน้ำตาลให้ดี กินอย่างไรก็ได้ที่ไม่ทำให้น้ำตาลสูง ให้แกว่งตัวแคบๆ ในช่วง 70-180 mg/dL. เพื่อให้ค่าเฉลี่ยออกมาน้อยกว่า 7% เราไม่ต้องการให้น้ำตาลแกว่งมาก เช่น 50-300 mg/dL. แม้ว่าค่าเฉลี่ย A1C จะออกมา 7% ก็ไม่ดี

เพราะน้ำตาลต่ำอันตราย น้ำตาลสูงก็อันตราย คนที่เป็นเบาหวานจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการควบคุมน้ำตาลอยู่ 3 วิธี คือ อาหาร ออกกำลังกาย และยา ต้องทำให้ 3 สิ่งนี้สมดุล เพื่อให้น้ำตาลแกว่งอยู่ในช่วง 70-180 mg/dL.” นพ.ธวัชชัยกล่าว

  ควบคุมน้ำตาลลดความเสี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image