รู้จัก ‘ดิจิทัล ดีท็อกซ์’ ในวันที่โควิดทำสังคมไทยหม่น ชวนพักร้อนจากโลกโซเชียล

รู้จัก ‘ดิจิทัล ดีท็อกซ์’ ในวันที่โควิดทำสังคมไทยหม่น ชวนพักร้อนจากโลกโซเชียล

โควิด-19 นอกจากจะเป็น “โรคระบาดใหม่” ที่แพร่พิษไปทุกหย่อมหญ้าแล้ว การอุบัติขึ้นของไวรัสตัวนี้ยังเป็นเหมือนมาตรวัด “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนคนไทย

ในวันที่ยังมองไม่เห็นว่าจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนานเท่าไหร่ ข่าวสารพลันไหลเข้ามาไม่หยุด เสียงเรียกร้องจากคนที่เข้าไม่ถึงการรักษา เสียงของประชากรอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังขึ้นทุกวันผันตรงกับยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นสร้างสถิติใหม่ซ้ำๆ ภาพเหล่านี้ถูกฉายผ่านสื่อช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะ “สื่อสังคมออนไลน์” หรือ “โซเชียลมีเดีย” (Social Media) ที่หลายคนติดตามข้อมูลจนเกิดภาวะเครียด จิตตก หม่นหมอง และหดหู่ กับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ไปตามๆกัน

เพื่อถนอมจิตใจไว้ต่อสู้กับโควิดต่อไป หนึ่งสิ่งที่ควรทำความรู้จักคือ “ดิจิทัล ดีท็อกซ์” (Digital Detox) การบำบัดอาการเสพติดเทคโนโลยีหรือสื่อสังคมออนไลน์ ลดการพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ระยะหนึ่ง เพื่อพักผ่อน ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

Advertisement

โดยในที่นี้จะกล่าวถึงหน่วยที่ว่าในบางครั้ง “อุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัลทุกประเภท” ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ต ก็เป็นตัวทำลายความสงบในใจ เพราะทำให้นึกถึงงาน เจ้านาย สังคม กระตุ้นให้เกิดความวิตกจากภาวะ Fear Of Missing Out (FOMO) เช่น กลัวตกข่าว ตกเทรนด์ ฉะนั้นการทำดิจิทัล ดีท็อกซ์ จึงช่วยให้เราได้ยินเสียงความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง มีเวลาอยู่กับตัวเอง เรียกความเชื่อมั่นกลับคืน ซึ่งดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ สุขแมกกาซีน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ระบุถึง “ข้อดี” ของการทำ “ดิจิทัล ดีท็อกซ์” ไว้ดังนี้

Advertisement

1.ช่วยฟื้นฟูสัมพันธภาพกับคนใกล้ชิดเพราะการใช้อุปกรณ์สื่อสารระหว่างทำงาน หรือระหว่างอยู่กับเพื่อนฝูง ครอบครัว ล้วนเป็นตัวทำลายบรรยากาศของการสนทนาทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

2.ช่วยลดความเครียดได้ เพราะการเปิดรับข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่างๆ ที่มากเกินไป อาจเป็นบ่อเกิดแห่งความเครียดได้ ดังนั้นวิธีจัดการแก้ปัญหาที่ง่ายและตรงประเด็นที่สุดก็คือ การหยุดพักการเปิดรับสื่อในโลกออนไลน์นั่นเอง

3.มีเวลาให้กับตัวเองได้มากขึ้น เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อื่นๆ กับร่างกายและจิตใจ เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี

4.ปลุกความคิดสร้างสรรค์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

5.นอนหลับได้เต็มอิ่ม และเป็นการนอนที่มีคุณภาพ โดยไม่มีสิ่งใดรบกวน

6.ช่วยฟื้นฟูสุขภาพกาย แม้การพักร้อนจากโลกออนไลน์จะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื้อรังต่างๆ อาทิ ปวดหลัง ปวดคอ ปวดศีรษะ หรือ อาการเกี่ยวกับดวงตาต่างๆ ได้อย่างถาวร แต่ก็เป็นการบรรเทาได้

7.ช่วยฟื้นฟูสุขภาพใจ การหยุดตนเองจากการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว แล้วหันไปสนใจกับการสื่อสารกับคนรอบข้าง ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้

8.เพิ่มสมาธิ ในการจดจ่อหรือให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากขึ้น และ9.เพิ่มทักษะคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา เนื่องจากการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป มีแนวโน้มทำให้เราเลือกที่จะไม่ดึงศักยภาพของสมองและความขบคิดวิเคราะห์ของตนมาใช้

สำหรับวิธีการทำ “ดิจิทัล ดีท็อกซ์” สามารถทำได้หลายวิธีและเลือกปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตได้ โดยเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

1.กำหนดเวลาที่จะไม่ยุ่งกับอุปกรณ์ดิจิทัล และเพื่อไม่ให้เสียงาน ควรแบ่งเวลาการทำงานกับการพักผ่อนออกจากกัน โดยเปลี่ยนการพักผ่อนด้วยการเข้าโซเชียลมีเดียไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน แนะนำให้ทำก่อนนอนอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพื่อลดการรับแสงสีฟ้าที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว

2.หากไม่สามารถหักดิบได้ ให้กำหนดหรือจำกัดเวลาการใช้งาน เริ่มจากการจำกัดเป็นชั่วโมงในการใช้งานโซเชียลมีเดีย ไม่ให้เวลาถูกใช้ไปกับการไถมือถือไปเรื่อยๆ

3.วางอุปกรณ์ดิจิทัลไว้ไกลๆ มือหรือปิดเครื่องในเวลานอน เพื่อไม่ให้เห็นอยู่ในสายตาจนต้องหยิบขึ้นมาใช้งาน

ทั้งนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อ้างถึง ลีไว เฟลิกส์ ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ดิจิทัล ดีท็อกซ์ ชาวอเมริกา ถึงโปรแกรมการทำดิจิทัล ดีท็อกซ์ ว่านอกจากจะกำหนดเวลางดใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างเคร่งครัดแล้ว

ควรเริ่มต้นด้วย “การทำสมาธิ” เป็นการปรับสมดุลในจิตใจโดยเน้นไปที่การกำหนดลมหายใจและการรับรู้ถึงสภาวะจิต จากนั้นก็เพิ่มระดับการสร้างสมดุลทางกายต่อเนื่องด้วยกิจกรรมโยคะหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รู้สึกถึงพลังใหม่ๆ จากภายใน

จากนั้นอาจจะทำกิจกรรมการเขียน และทำงานศิลปะด้วยมือ ปลดปล่อยตัวคุณจากความสะเพร่า ความรีบร้อน ในแบบที่ไม่สามารถกด Undo ย้อนกลับได้ ทำให้หลายคนค้นพบว่าการกลับมานั่งเขียนถึงสิ่งต่างๆ ด้วยลายมือนั้นสามารถจะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อจิตใจได้แค่ไหน รู้สึกสนุกที่ได้ย้อนเวลากลับไปในวัยเด็ก วัยที่เคยเขียนจดหมายหาเพื่อน หาครอบครัว หรือหาคนที่แอบชอบ หรือจะเป็นกิจกรรมดีไอวาย ทำสร้อยข้อมือ เย็บปักถักร้อย ตลอดจนทำเมนูเพื่อสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก

สร้างสมดุลใหม่ให้กับชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image