5 โรคที่มากับน้ำท่วม แพทย์แนะวิธีป้องกัน และรักษา 

5 โรคที่มากับน้ำท่วม แพทย์แนะวิธีป้องกัน และรักษา 

เป็นอีกปีที่คนไทยหลายภูมิภาคประสบกับภาวะน้ำท่วมสูง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องเผชิญอีกเป็นแรมเดือน จากมรสุมที่จ่อพัดเข้ามา ฉะนั้นต้องปรับตัวใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและปลอดโรค

โดยเฉพาะโรคที่มากับน้ำท่วม โดย รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า น้ำท่วมในระยะแรกอาจยังไม่มีเชื้อโรคมาก แต่เมื่อกลายเป็นน้ำขังก็จะสกปรกและมีเชื้อโรคมากขึ้น

น้ำจึงเป็นที่มาของเชื้อโรคชนิดต่างๆ และหากต้องเดินย่ำน้ำแต่ละวันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมมากขึ้น โดยโรคที่อาจมากับน้ำท่วม 5 โรค มีดังนี้

1.โรคน้ำกัดเท้าหรือ ฮ่องกงฟุต มีอาการคันบริเวณซอกนิ้วเท้า ผิวลอกเป็นขุย และเป็นผื่นที่เท้า สาเหตุจากเท้าเปียกชื้นอยู่บ่อยๆ แล้วไม่รักษาความสะอาดให้ดี ทำให้เกิดเชื้อรา โดยการรักษาคือ ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาดและไม่เปียกชื้น ใช้ครีมรักษาเชื้อราทา และสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ หากถ้าจำเป็นจะต้องเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท

Advertisement

2.โรคอุจจาระร่วง มีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย จากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลที่มาจากน้ำท่วม หรือจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาดชำระล้างภาชนะใส่อาหาร รวมถึงการไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมหรือปรุงอาหาร สามารถป้องกันโดยรักษาความสะอาด ตั้งแต่อาหารสดใหม่ไม่มีแมลงวันตอม น้ำดื่มสะอาดจากขวดหรือต้มสุกแล้ว ก่อนรับประทานอาหารล้างมือ ล้างภาชนะให้สะอาด ที่สำคัญไม่ควรกินยาหยุดถ่ายเองควรปรึกษาแพทย์

3.โรคตาแดง มีอาการเคืองตา ขี้ตามาก น้ำตาไหล ประมาณ 10 วัน ถือเป็นโรคติดต่อที่ระบาดได้ง่ายมาก เกิดจากเชื้อไวรัส โรคนี้จะไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่ถ้าไม่รีบรักษาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ สาเหตุจากใช้มือสกปรกที่อาจมีเชื้อโรคขยี้ตา อาบน้ำในคลองสกปรก หรือที่มีตาแดงระบาด สามารถป้องกันโดยไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง ล้างหน้าและมือให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรเอามือขยี้ตา หากเป็นแล้วต้องพักสายตาบ่อยๆ ประคบตาด้วยผ้าเย็น และเช็ดตาด้วยสำลีชุบน้ำอุ่น

4.โรคฉี่หนู หลังจากรับเชื้อจะมีอาการปวดศีรษะทันที มักจะปวดบริเวณหน้าผาก หรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง อีกทั้งมีไข้สูงร่วมกับหนาวสั่น อาการต่างๆ อาจอยู่ได้ 4-7 วัน เป็นโรคที่เชื้อมาจากฉี่ของหนูปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำ สามารถเข้าทางผิวหนังของผู้ป่วยที่มีบาดแผล หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุ ที่ตา ปาก จมูก สามารถป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะของสัตว์นำโรค ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท เมื่อขึ้นจากน้ำควรทำความสะอาดร่างกายทันที เมื่อติดเชื้อแล้วห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต)

5.โรคเครียด โรคนี้เกิดขึ้นได้แม้ร่างกายไม่ได้ลุยน้ำ หากมีอาการเครียดมากจน ทำให้การทำกิจวัตรประจำวันเสียไป นอนไม่หลับ ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ และแพทย์อาจให้ยาคลายเครียดช่วย ในรายที่มีอาการมาก จนรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน และในรายที่อาการมาก อาจต้องพบจิตแพทย์

ป้องกัน 5 โรคพร้อมตั้งการ์ดโควิด-19 ไม่ตก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image