ไขสารพัดข้อข้องใจ ‘ฮอร์โมนข้ามเพศ’ กับ ‘วัคซีนโควิด’

ไขสารพัดข้อข้องใจ ‘ฮอร์โมนข้ามเพศ’ กับ ‘วัคซีนโควิด’

ปัจจุบันคนไทยกว่าร้อยละ 50 ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 แล้ว และกำลังทยอยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงในเร็วๆ นี้ ท่ามกลางข้อสงสัยการเตรียมตัวก่อน-หลังรับวัคซีน รวมถึงผลข้างเคียงจากวัคซีน มีข้อมูลที่ถูกต้องมากมายให้คนทั่วไปค้นหาและเตรียมตัว

แต่กับคนบางกลุ่มที่มีรายละเอียดเฉพาะ กลับไม่ค่อยมีข้อมูล อย่างคนข้ามเพศที่รับฮอร์โมนอยู่ ต่างสงสัยว่า “สามารถรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ ฉีดแล้วทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือเปล่า วัคซีนตัวไหนปลอดภัยสุด ก่อนฉีดวัคซีนต้องหยุดรับฮอร์โมนก่อนหรือเปล่า รับแล้วอวัยวะเพศจะยังตื่นตัวอยู่ไหม”

แต่ไม่ค่อยมีข้อมูลและคำตอบที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของเสวนาออนไลน์เรื่อง “วัคซีนกับฮอร์โมน” จัดโดย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย

ปิแอร์-นพ.สิระ กอไพศาล อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ภาพรวมวัคซีนปัจจุบันที่มีใช้อยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ พบว่ามีเพียงวัคซีนแอสตร้าฯ ที่มีรายงานว่าฉีดแล้วเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตัน แต่ก็ถือว่าอัตราเกิดน้อยมาก คือ 1 ใน 5-6 แสนคนที่ฉีด

Advertisement

ลงลึกถึงผู้มี ภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ หมอปิแอร์บอกว่า รายงานระบุมีประมาณ 200 คน แบ่งเป็น ผู้หญิงร้อยละ 55 และผู้ชายร้อยละ 45 แม้ช่วงแรกรายงานพบภาวะนี้เกิดมากในผู้หญิงอายุน้อย แต่ระยะหลังก็มีรายงานเข้ามาเรื่อยๆ และพบว่าคนทุกช่วงอายุและทุกเพศก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้พอๆ กัน ขณะเดียวกันใน 200 คนดังกล่าว พบร้อยละ 6 ที่เป็นผู้รับฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศอยู่ ซึ่งก็ถือว่าน้อยมากเช่นกัน

ส่วนข้อสงสัยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วจะส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศลดลงหรือไม่นั้น หมอปิแอร์ยืนยันว่า “ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ระบุถึงเรื่องดังกล่าวเลย”

นพ.สิระ กอไพศาล

ก่อนวิเคราะห์ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศว่า มาจากฮอร์โมนเพศชาย ที่ต้องมีฮอร์โมนเพศหญิงคู่ด้วย ฉะนั้น การฉีดวัคซีนนอกจากไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อฮอร์โมนที่รับอยู่ให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น จึงไม่น่าส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ แต่ก็อยากให้สังเกตร่างกายหลังฉีดวัคซีนจะมีรีแอ๊กชั่น เช่น ปวดเนื้อปวดตัว ป่วยไข้ ซึ่งโดยปกติเวลาร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือเวลาเครียด ก็ไม่อยากมีเซ็กซ์เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากร่างกายมีกลไกธรรมชาติในการลดฮอร์โมนที่ทำให้เกิดเซ็กซ์ เหล่านี้ก็เป็นทฤษฎีที่ผมพยายามโยงให้

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจว่าหลังรับฮอร์โมนใหม่ๆ ร่างกายจะอ่อนแอลง จึงเกรงว่าหากไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วจะป่วยตายหรือไม่ หมอปิแอร์ยืนยันว่า การรับฮอร์โมนไม่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ร่างกายยังคงแข็งแรงเหมือนเดิม ตราบใดที่ผู้รับมีการตรวจติดตามระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงจนส่งผลข้างเคียง

แต่ในส่วนหญิงข้ามเพศที่มีความคิดนี้ เพราะก่อนรับฮอร์โมนพวกเธอมีฮอร์โมนเพศชายสูง ซึ่งฮอร์โมนเพศชายเป็นฮอร์โมนที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและร่างกาย ทำให้สามารถออกกำลังกายได้นานขึ้น พอรับฮอร์โมนเพศหญิงแล้วทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง ความแข็งแกร่งตามฮอร์โมนเพศชายจึงหายไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ผู้รับจึงอาจรู้สึกว่าร่างกายอ่อนแอลง แต่จริงๆ คือพวกเธอไม่ได้ป่วย

“โดยรวมไม่อยากให้คนที่รับฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศอยู่มีความกังวลกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากวัคซีน เช่นเดียวกับผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เช่นกัน โดยไม่ต้องหยุดรับฮอร์โมนแต่อย่างใด เพราะการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลอะไร หากยิ่งอายุเยอะต้องรีบฉีด เพราะหากต้องติดโควิดอันนั้นน่ากลัวกว่า”

แต่สิ่งที่หมอปิแอร์อยากให้คนที่รับฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศกังวลคือ การรับฮอร์โมนที่ถูกต้องและปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย เพราะปัจจุบันหลายคนรับฮอร์โมนไม่ถูกต้องและปริมาณไม่เหมาะสมกับร่างกาย อย่างที่หมอเคยเจอคือใช้หลายแบบพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ประเภทกิน ทา ฉีด ซึ่งเสริมฤทธิ์ให้มากขึ้น เช่นเดียวกับผลข้างเคียงที่มากขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น แนะนำให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ จริงอยู่ว่าการรับฮอร์โมนในปริมาณมากจะทำให้สวย หรือหล่อเร็ว แต่ผู้รับก็ต้องยอมรับถึงความเสี่ยงที่มากขึ้นเช่นกัน เช่น โรคลิ่มเลือดดำอุดตัน คอเลสเตอรอลไม่ดีเยอะขึ้นในหญิงข้ามเพศ, โรคเลือดข้นในชายข้ามเพศ เป็นต้น

ปัจจุบันฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆ คือ ทา หรือแผ่นแปะ แม้จะทำให้ระดับฮอร์โมนขึ้นไปอย่างช้าๆ แต่มีความปลอดภัยสูงในระยะยาว, กิน สามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนได้เร็วขึ้น แต่ก็เสี่ยงเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าวิธีอื่นๆ โดยเฉพาะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่เสี่ยงกว่ายากินฮอร์โมนทั่วไป และ ฉีด สามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนได้อย่างรวดเร็ว จนอาจมีระดับฮอร์โมนสูงเกินไป จึงต้องตรวจติดตามควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

หมอปิแอร์แนะนำว่า วิธีรับฮอร์โมนที่ดี คือ ต้องประเมินผู้รับถึงโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างผู้รับที่ยังอายุไม่มาก ไม่มีโรคประตำตัว รับฮอร์โมนประเภทไหนก็ได้ แต่หากผู้รับอายุเริ่มเยอะ มีโรคประจำตัว มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ เบาหวาน ความดัน ก็แนะนำฮอร์โมนประเภททา

ทั้งนี้ การรับๆ หยุดๆ ฮอร์โมนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้เร็ว ยิ่งหากตัดอัณฑะและรังไข่ไปแล้วทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ตามธรรมชาติ หากไม่เติมฮอร์โมนของใหม่เข้าไปจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นทวีคูณ

รู้จริงก่อนเติมอะไรเข้าไปในร่างกาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image