รักษาโรคอ้วน แบบองค์รวม คุมน้ำหนักอย่างถาวร

รักษาโรคอ้วน แบบองค์รวม คุมน้ำหนักอย่างถาวร

เป็นคำถามที่มักจะพบบ่อยๆ ว่าทำไมมีความตั้งใจและไฟแรงมากพอที่จะเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการ “ลดน้ำหนัก” ทว่ากลับไม่เคยประสบความสำเร็จสักที แม้จะลองมาหลายวิธีแล้วก็ตาม จะดีกว่าไหมหากเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ “วิธีรักษาโรคอ้วน” ตามหลักสหสาขาวิชาชีพเสียก่อน

พญ.กัลยาณี พรโกเมธกุล แพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า

ภาวะน้ำหนักเกิน” ที่พบได้บ่อยมักเกิดจากความเคยชิน กับรสชาติของอาหารที่รับประทานในแต่ละวันที่มีทั้งรสหวาน มัน เค็ม อาหารที่ผ่านการทอด อบ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงและเบเกอร์รี่ประเภทต่าง ๆ โดยวิถีชีวิตประจำวันการใช้พลังงานไม่สมดุลกับการกิน

ซึ่งมีหนึ่งวิธีรักษาโรคอ้วน ที่เรียกว่า “การรักษาแบบองค์รวม” โดยทีมสหสาขา ประกอบไปด้วย แพทย์อายุรกรรมที่รักษาผู้ป่วยที่มีโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง, นักโภชนาการ คอยให้คำแนะนำและจัดตารางอาหาร, แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ, ทีมเวชศาสตร์การกีฬา แนะการออกกำลังกายเพื่อให้เกิดการเผาผลาญอย่างมีประสิทธิภาพ และจิตแพทย์ ช่วยดูแลจิตใจเกี่ยวกับสาเหตุและปัญหาของโรคอ้วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ตลอดจนพยาบาลที่ช่วยติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขให้ตรงจุดเป็นรายบุคคล นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสุขภาพที่ดี ควบคุมน้ำหนักได้อย่างถาวร

Advertisement

อย่างไรก็ตาม พญ.กัลยาณี ก็มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักให้ได้สัปดาห์ละ 0.5-1 กิโลกรัมว่า ควรเริ่มจากการลดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มให้น้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายต้องการประมาณ 500-600 กิโลแคลอรี/วัน ร่วมกับการทำกิจกรรมที่ต่อเนื่อง หรือออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 200-300 นาทีต่อสัปดาห์

ส่วนการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมปริมาณแคลอรี่ ควรบาลานซ์ให้ปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ไปในแต่ละวัน เริ่มง่ายๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง จะช่วยลดน้ำหนักได้มากกว่าการทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำหรือมีไขมันต่ำได้ 2-3 เท่า และอาหารที่มีโปรตีนสูง จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญ พลังงานได้ถึง 80-100 กิโลแคลอรี/วัน เลือกทานผัก ผลไม้ เมื่อรู้สึกหิว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก ควบคู่ไปกับการดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้มากขึ้น

Advertisement

พญ.กัลยาณี กล่าวทิ้งท้ายว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การควบคุมหรือลดน้ำหนักไม่ได้ผล ส่วนใหญ่มาจากการขาดความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว การใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการปรับพฤติกรรม รวมทั้งการอดนอนจะขัดขวางการหลั่งฮอร์โมน ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันออกไปได้ ช่วงเวลาระหว่าง 22.00-02.00 น. เป็นช่วงที่โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ทำงาน ร่างกายมีการเผาผลาญ

การลดน้ำหนักที่ได้ผล ต้องลดให้ได้อย่างน้อย 5-10% ของน้ำหนักตัวที่เป็นทุนเดิมภายใน 3-6 เดือน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร่วมอันเนื่องมาจากโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าทำไม่ได้ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาร่วมกันให้ได้ผล

พญ.กัลยาณี พรโกเมธกุล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image