ไหว้เจ้าปลอดภัย เปิดเทคนิคล้าง ‘ผลไม้มงคล’ สะอาดก่อนกิน เลี่ยงสารตกค้าง

ไหว้เจ้าปลอดภัย เปิดเทคนิคล้าง ‘ผลไม้มงคล’ สะอาดก่อนกิน เลี่ยงสารตกค้าง

เทศกาลตรุษจีน ปี 2565 หรือปีขาล ปีนี้ ชาวไทยเชื้อสายจีนรวมไปถึงประชาชนคนไทยยังคงต้องฉลองตรุษจีนท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงต้องยกการ์ดป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด ทว่าก็มิอาจละเลยเรื่องสุขภาพด้วย

โดย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นช่วงเวลาการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ มีการเตรียมซื้อวัตถุดิบอาหาร ผัก ผลไม้ ที่มีความหมายเป็นมงคล ซึ่งผลไม้ที่มีความหมายเป็นมงคล เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล สาลี่ และกล้วย เป็นที่นิยมในเทศกาลนี้

แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่อาจตกค้างมากับผลไม้มงคลเหล่านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้เฝ้าระวังเพื่อติดตามสถานการณ์การตกค้างในผลไม้อย่างต่อเนื่องทุกปี

สำหรับข้อมูลการตรวจตัวอย่างผลไม้ 5 ชนิดข้างต้นในปี 2563 – 2564 ซึ่งเก็บจากแหล่งจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 298 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือขั้นสูงด้วยเทคนิค LC-MS/MS และ GC-MS/MS ตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 132 ชนิด ผลการตรวจดังนี้

Advertisement

ส้ม จำนวน 91 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 71 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 78 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, โปรฟีโนฟอส, ไซเพอร์เมทริน และคาร์เบนดาซิม

องุ่น จำนวน 79 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 36 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 46 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ เมทโทมิล, ไพริเมทานิล, คลอร์ฟีนาเพอร์ และเมทาแล็กซิล

แอปเปิ้ล จำนวน 77 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 20 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 26 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, ไซเพอร์เมทริน แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน, ไซฟลูทริน และไพริเมทานิล

Advertisement

สาลี่ จำนวน 37 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน, ไบเฟนทริน, คาร์เบนดาซิม และบูโพรเฟซิน

กล้วย จำนวน 14 ตัวอย่าง พบการตกค้างจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 21 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส

จากการตรวจพบสารสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สื่อสารข้อมูลการตรวจพบนี้ ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อประกอบการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก่อนรับประทานผลไม้ทุกครั้ง ควรนำมาล้างทำความสะอาด

สำหรับ ผลไม้ที่มีเปลือก เช่น ส้ม สาลี่ ให้แช่น้ำก่อนแล้วล้างด้วยน้ำไหลและใช้มือถูเปลือกไปพร้อมกัน

ส่วน ผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ให้นำไปล้างด้วยน้ำไหลผ่านก่อน แล้วนำไปแช่ในน้ำสะอาดทั้งพวงโดยไม่ต้องเด็ดออกเป็นลูก เนื่องจากอาจจะทำให้สารเคมีที่ละลายอยู่ในน้ำซึมเข้าทางแผลที่ขั้วหรือเปลือกได้

นอกจากนั้นการปอกเปลือกออกก่อนรับประทานจะเป็นการลดปริมาณสารตกค้างได้ เป็นอย่างดีเพราะสารตกค้างส่วนใหญ่จะติดอยู่ที่เปลือกของผลไม้” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

สอดคล้องกับที่ รศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. และอาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผักและผลไม้มงคลมักเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดมากในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นช่วงระยะสั้นๆ ทำให้เกษตรกรอาจเร่งผลผลิต และป้องกันศัตรูพืชด้วยการใช้สารเคมี จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องของสารตกค้าง ซึ่งจากการดำเนินโครงการผักและผลไม้ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ ทั้งการเฝ้าระวังของภาครัฐและเอกชน

มักพบการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้มงคลที่นิยมนำมาไหว้ในเทศกาลตรุษจีน 3 ชนิด คือ ส้ม องุ่น แก้วมังกร ส่วนผักมี 2 ชนิด คือ คะน้า ขึ้นฉ่าย ขณะที่กะหล่ำปลีมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดทำให้ในระยะหลังพบสารตกค้างไม่เกินค่าความปลอดภัยหรือไม่พบเลย

“คำแนะนำก่อนนำมาประกอบอาหาร แนะนำให้ล้างทำความสะอาด จะช่วยลดการตกค้างได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงการประกอบอาหารด้วยการผ่านความร้อน จะทำให้สารกำจัดศัตรูพืชและจุลินทรีย์ถูกทำลาย ความเสี่ยงก็จะลดลงเรื่อยๆ ส่วนผักที่บริโภคสดหรือผักเคียง สามารถลดการปนเปื้อนโดยการล้าง แต่ด้วยผักที่บริโภคสดไม่ผ่านความร้อน ฉะนั้น ต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจได้ เช่น เลือกผักออร์แกนิก หรือผักที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง จะช่วยลดความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง สำหรับผลไม้ ต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจได้เช่นกัน รวมถึงแนะนำให้ล้าง และปอกเปลือกก่อนบริโภค” รศ.ดร.ชนิพรรณ กล่าว

ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , สสส.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image